แม้เจอแรงกดดันจากหลายฝ่ายมาอย่างต่อเนื่อง จนล่าสุดพันธมิตรที่เคยคุยกันเอาไว้ก่อนหน้านี้ ประกาศถอนตัวออกไปแล้ว 7 ราย แต่ฝั่ง Facebook ยังคงเดินหน้าโปรเจ็ค Libra สกุลเงินดิจิทัลตัวแรกต่อตามที่ตั้งเป้าว่าจะเปิดใช้งานในปีหน้า
เมื่อวานนี้ Libra Association องค์กรที่ทำหน้าที่ดูแล Libra จัดการประชุมกันเป็นครั้งแรก และเปิดเผยรายชื่อสมาชิกร่วมก่อตั้ง 21 ราย ลดลงจาก 28 รายที่ประกาศเมื่อเดือน มิ.ย. ตอนเปิดตัว Libra
ไม่เพียงเท่านั้น Libra Association เปิดเผยว่ามีหน่วยงานรวมแล้วกว่า 1,500 ราย ที่สนใจเข้าร่วมโปรเจ็ค Libra และมีหน่วยงาน 180 รายที่ผ่านเกณฑ์ขั้นต้นในการเข้าร่วมเป็นสมาชิก ซึ่งมากกว่าที่คาดไว้ตอนแรกที่ 100 ราย
ใครยังอยู่บ้าง
- บริการรับชำระเงิน: PayU
- เทคโนโลยีและคลังสินค้าออนไลน์ (marketplace): Facebook/Calibra, Farfetch, Lyft, Spotify AB, Uber Technologies, Inc.
- โทรคมนาคม: Iliad, Vodafone Group
- บล็อกเชน: Anchorage, Bison Trails, Coinbase, Inc., Xapo Holdings Limited
- บริษัทร่วมลงทุน (Venture Capital): Andreessen Horowitz, Breakthrough Initiatives, Ribbit Capital, Thrive Capital, Union Square Ventures
- องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร องค์กรข้ามชาติ และสถาบันวิชาการ: Creative Destruction Lab, Kiva, Mercy Corps, Women’s World Banking
- บริษัทที่ถอนตัวแล้ว: Visa, Mastercard, PayPal, Stripe, Booking Holdings, eBay, Mercado Pago
7 บริษัทที่จากไปสำคัญอย่างไร
แม้มีองค์กรใหม่อีกหลายแห่งสนใจเข้าร่วมโปรเจ็ค Libra แต่การเสียอดีต 7 พันธมิตรไปก็เป็นสัญญาณที่ไม่ดีนักต่ออนาคตของ Libra
เพราะพันธมิตร 5 รายที่ถอนตัวออกไปนับเป็นผู้เล่นสำคัญในธุรกิจบริการทางการเงิน
Visa และ Mastercard
บริษัทบัตรเครดิตรายใหญ่ของโลก มีฐานผู้ใช้มหาศาลทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ โดยปัจจุบัน จำนวนบัตร Visa และ Mastercard ที่มีการใช้งานอยู่ทั่วโลก มีจำนวน 3,350 ล้านใบ และ 2,500 ล้านใบ ส่วนเมื่อไตรมาสที่ผ่านมา การทำธุรกรรมผ่าน Visa และ Mastercard อยู่ที่ 2.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 1.55 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
PayPal และ Stripe
ตัวกลางรับเงินจากลูกค้าผ่านบัตรเครดิตสำหรับการซื้อขายสินค้าและบริการบนโลกออนไลน์ โดย PayPal มีฐานผู้ใช้งานรวมกัน 277 ล้านบัญชีทั่วโลก ส่วน Stripe นั้นล่าสุดมีจำนวนการทำธุรกรรมรวม 600,000 รายการ/ปี
Mercado Pago
ตัวกลางรับเงินเวลาซื้อสินค้าออนไลน์เช่นกัน ซึ่งเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดลาตินอเมริกา และกำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดปริมาณการทำธุรกกรรมผ่านแพลตฟอร์มเติบโตขึ้นถึง 112.5% เมื่อเทียบรายปี
ขณะนี้ Libra Association ยังไม่ได้วางโครงสร้างชัดเจนว่าจะผลักดันให้ Libra เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจต่างๆ ได้อย่างไร ดังนั้นการมีพันธมิตรด้านบริการทางการเงินที่ทรงพลังจึงมีความสำคัญ โดยฐานผู้ใช้ที่แข็งแกร่งของ Visa และ Mastercard สามารถช่วยให้ Libra ได้รับการยอมรับในฐานะตัวเลือกการชำระเงินทั้งบนโลกออนไลน์และออฟไลน์ได้กว้างขึ้น
ด้าน PayPal และ Stripe สามารถเป็นสะพานเชื่อมผู้ค้าขายออนไลน์ที่ต้องมีตัวกลางรับชำระเงิน และยังมีส่วนช่วยในการสร้างความเชื่อมั่น เพราะก่อนหน้านี้เคยมีข่าวว่า Facebook อาจใช้ PayPal เป็นกระเป๋าเก็บ Libra เพิ่มนอกจากใช้ Calibra
ส่วนอีก 2 รายที่ถอนตัวออกไปคือ eBay อี-คอมเมิร์ซรายใหญ่ที่มีผู้ใช้ปัจจุบันราว 182 ล้านราย และ Bookings Holdings ธุรกิจท่องเที่ยวออนไลน์ บริษัทแม่ของ Agoda, Booking.com, Kayak และ Priceline โดยทั้งสองบริษัทสามารถมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้ Libra เป็นสกุลเงินกลางสำหรับซื้อสินค้าและบริการบนแพลตฟอร์ม
อนาคตของ Libra จึงขึ้นอยู่กับว่าพันธมิตรที่เหลือจะเข้ามาร่วมผลักดันโปรเจ็คได้มากน้อยแค่ไหน และที่สำคัญที่สุดคือ Facebook ต้องหาทางให้หน่วยงานกำกับดูแลเห็นชอบด้วย
Kara Swisher ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์ข่าวเทคโนโลยี Recode แสดงความเห็นไว้อย่างน่าสนใจว่า
“ค่าเงินเป็นเรื่องระดับโลก การร่วมมือกับหลายฝ่ายจึงเป็นสิ่งสำคัญ อะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับกฎระเบียบ ต้องดำเนินการภายใต้ความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ องค์กรต่างๆ และผู้คนทั่วไป”
Swisher มองว่า แม้ Facebook สามารถเดินหน้าโปรเจ็คเงินดิจิทัลต่อได้ในกรณีที่ไม่มีพันธมิตรในธุรกิจบริการทางการเงิน แต่ Libra ก็จะเป็นเพียงสกุลเงินที่ใช้กันแค่ในระบบของ Facebook เท่านั้น ซึ่งจะต่างกับสกุลเงินดิจิทัลที่ใช้งานได้ในวงกว้างกว่า
ย้อนจุดเริ่ม Libra
- ม.ค. 2018
Mark Zuckerberg ผู้ก่อตั้ง Facebook ประกาศว่าตั้งใจศึกษาเงินคริปโต
- พ.ค. 2018
Facebook ตั้งแผนกใหม่เพื่อศึกษาการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน โดยมี David Marcus อดีตประธาน PayPal และหัวหน้าส่วน Facebook Messenger เป็นผู้นำทีม
- มิ.ย. 2019
Facebook ประกาศเปิดตัว Libra เงินดิจิทัลตัวแรก โดยมีพันธมิตรสนับสนุน 27 ราย
- ก.ค. 2019
ธนาคารกลาง หน่วยงานกำกับดูแล และรัฐบาลทั่วโลก โดยเฉพาะสหรัฐและกลุ่ม G7 เริ่มหันมาตรวจสอบโปรเจ็ค Libra โดยอ้างความกังวลเรื่องการนำไปใช้ฟอกเงิน สนับสนุนการก่อการร้าย และบั่นทอนเสถียรภาพของระบบการเงินโลก
- ส.ค. 2019
คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป เปิดสอบ Libra ประเด็นการต่อต้านการผูกขาด โดยมองว่า Libra เสี่ยงบั่นทอนความเท่าเทียมในการแข่งขันของธุรกิจ
- ต.ค. 2019
Libra Association ประชุมบอร์ดบริหารครั้งแรก พร้อมประกาศชื่อ 21 สมาชิกผู้ก่อตั้ง หลัง 7 องค์กรพันธมิตรถอนตัวออก
และวันที่ 23 ต.ค. Mark Zuckerberg จะต้องเข้าไปให้ข้อมูลและตอบคำถามแก่คณะกรรมาธิการด้านการเงินของสหรัฐเกี่ยวกับโปรเจ็ค Libra
You must be logged in to post a comment.