“ไพบูลย์ นลินทรางกูร” ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) ได้เขียนอธิบายเรื่อง การลดลงของ Bond Yield 10 ปีของสหรัฐฯ และหลายประเทศทั่วโลกอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 120 ปี เนื่องมาจากสาเหตุอะไร และจะมีความเกี่ยวข้องกับการออก QE ของหลายประเทศก่อนหน้านี้ รวมทั้งการใช้นโยบายดอกเบี้ยติดลบของบางประเทศจะใช่สาเหตหรือไม่ และจะมีผลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยหรือไม่ คำตอบอยู่ในการวิเคราะห์ของบทความนี้แล้ว ซึ่งทาง StockRadars.News เห็นว่ามีประโยชน์ และได้ขออนุญาตจากผู้เขียนอย่างเป็นทางการแล้ว
ใครที่ลงทุนในตลาดตราสารหนี้จะทราบดีว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล หรือ Bond Yield ของเกือบทุกประเทศในเวลานี้ อยู่ในระดับต่ำที่สุดแทบจะเป็นประวัติการณ์
Bond Yield 10 ปีของสหรัฐฯ เมื่อวันจันทร์อยู่ที่ 1.7% ลดลงเกือบครึ่งจาก 3.2% เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว และลดลงกว่าสามในสี่ ถ้าเทียบกับ 6% เมื่อ 15 ปีก่อน Bond Yield 10 ปีของไทยก็ลดลงเกือบครึ่งในรอบ 12 เดือน มาอยู่ที่ 1.5% และน่าจะเป็นระดับต่ำที่สุดตลอดกาล แม้กระทั่งอิตาลี ที่เศรษฐกิจย่ำแย่และกำลังเผชิญกับวิกฤตหนี้สาธารณะ Bond Yield 10 ปี ยังลดลงเหลือแค่ 1 %
สำนักวิจัยธนาคารต่างชาติแห่งหนึ่งระบุว่า Bond Yield ทั่วโลกในปัจจุบัน อยู่ในระดับต่ำที่สุดในรอบ 120 ปี โดยคำนวณจากข้อมูลย้อนหลังของ อังกฤษ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น สวิตเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และ สหรัฐฯ
ผมเชื่อว่า สาเหตุหลักที่ทำให้ Bond Yield ทั่วโลกต่ำเป็นประวัติการณ์ เกิดจากการใช้มาตราการ QE ของสหรัฐฯ ยุโรป อังกฤษ และญี่ปุ่น ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดเม็ดเงินใหม่จำนวนมากในระบบการเงินโลก ในช่วงเศรษฐกิจขาขึ้น ทุกอย่างไม่มีปัญหา แต่เมื่อเศรษฐกิจโลกเริ่มชะลอตัว และภาคธุรกิจเริ่มลดการลงทุน สภาพคล่องจึงล้นระบบ ทำให้เม็ดเงินส่วนเกินจำนวนมากไหลกลับเข้าสู่ตลาดพันธบัตรรัฐบาล
นอกจากนั้น ปีนี้ยังเป็นปีที่ธนาคารกลางกว่า 40 แห่งทั่วโลกพร้อมใจกันลดดอกเบี้ยถึงเกือบ 100 ครั้ง ซึ่งยิ่งกดดันให้ Bond Yield ปรับลดลงไปอีก
ที่น่าสนใจคือ นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่ Bond Yield ของประเทศพัฒนาแล้วถึง 12 ประเทศอยู่ในแดนติดลบพร้อมๆ กัน แปลง่ายๆ ว่ารัฐบาลของประเทศเหล่านี้ ซึ่งทั้งหมดอยู่ในยุโรป ยกเว้นญี่ปุ่น เช่น สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมัน เดนมาร์ก สามารถกู้เงินโดยไม่ต้องเสียดอกเบี้ยแม้แต่ยูโรเดียว แถมยังได้ลดเงินต้นอีก แม้แต่ประเทศที่ฐานะทางการเงินไม่ได้แข็งแกร่งมากอย่าง สเปน โปรตุเกส ก็มี Bond Yield ที่ติดลบ
การที่ Bond Yield ติดลบในยุโรปและญี่ปุ่น นอกจากการทำ QE แล้ว ยังมีต้นเหตุมาจากการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยติดลบของทั้งสองธนาคารกลาง วัตถุประสงค์หลักของการใช้นโยบายนี้ คือการลดแรงจูงใจในการออม เพื่อทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย และการขยายตัวของสินเชื่อ แต่แนวโน้มเศรษฐกิจที่ไม่ดีขึ้น ทำให้เม็ดเงินยังคงไหลเข้าสู่ตลาดพันธบัตรถึงแม้จะให้ผลตอบแทนติดลบ
ที่น่าเป็นกังวลมากกว่าคือ นักลงทุนยอมลงทุนในพันธบัตรที่ให้ผลตอบแทนติดลบสูงถึง 15 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นราว 25% ของจำนวนพันธบัตรที่มีในตลาด ซึ่งสะท้อนถึงภาวะตลาดการเงินที่ไม่ปกติอย่างมาก เพราะในช่วงปกติ ไม่น่าจะมีใครยอมปล่อยกู้โดยต้องจ่ายดอกเบี้ยให้ผู้กู้
ถ้า Bond Yield ในยุโรปและญี่ปุ่นยังคงติดลบไปเรื่อยๆ จะยิ่งทำให้เศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ฟื้นตัวได้ยากขึ้น เพราะกำลังซื้อโดยรวมจะลดลงจากการที่คนต้องออมเงินมากขึ้นเพื่อให้ได้รายได้เท่าเดิม การระดมทุนก็จะทำได้ยากขึ้นเรื่อยๆ เพราะธรรมชาติของนักลงทุนย่อมต้องการลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนที่ดี
ผมเชื่อว่าความเป็นไปได้ที่ Bond Yield ติดลบจะเริ่มขยายวงกว้างขึ้นน่าจะยังมีไม่มาก เพราะดอกเบี้ยนโยบายของประเทศส่วนใหญ่ยังอยู่ในระดับที่ไม่ต่ำมาก แปลง่ายๆ ว่ายังเหลือช่องว่างให้ดอกเบี้ยปรับลดลงได้อีกพอสมควร เช่น สหรัฐฯ ยังสามารถลดดอกเบี้ยได้อีก 1.75% หรือ 7 ครั้งจนกว่าจะเหลือ 0% เป็นต้น ตราบใดที่ดอกเบี้ยนโยบาย หรือดอกเบี้ยระยะสั้นยังไม่ติดลบ โอกาสที่ Bond Yield จะติดลบไม่น่าจะมีมาก
โดยสรุป ผมมองว่า Bond Yield ที่ติดลบในยุโรปและญี่ปุ่น น่าจะเกิดจากการดำเนินนโยบายการเงินที่ไม่ถูกทาง หรือไม่ได้ประสิทธิภาพ มากกว่าจะเป็นสัญญานเตือนภัยว่าเศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย แต่ตราบใดที่สหรัฐฯและจีน ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงระยะยาว แนวโน้มเศรษฐกิจโลกยังมีความเสี่ยงที่จะชะลอตัวต่อเนื่อง
ในภาวะแบบนี้ รัฐบาลไทยจำเป็นต้องเร่งสร้างความมั่นใจ และกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการบริโภคและการลงทุนอย่างเต็มที่ เพื่อประคองไม่ให้เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากการส่งออกที่หดตัวมากเกินไป แบงก์ชาติก็อาจต้องเริ่มใช้มาตรการใหม่ๆ เพื่อลดการแข็งค่าของเงินบาท และเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจควบคู่กันไป