ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจและดัชนีหุ้นไทยยังคงได้รับผลกระทบจากความผันผวนจากหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง โดยน้ำหนักส่วนใหญ่มาจากปัจจัยต่างประเทศจากการชะลอเศรษฐกิจโลกที่เป็นผลจากสงครามทางการค้า แต่นักวิเคราะห์ต่างยังมองมุมบวกว่าแม้ตอนนี้หุ้นอาจจะเป็นจังหวะย่อตัว แต่ไตรมาส4 มีโอกาสไปได้ต่อ
ไตรมาส 4 หุ้นไปต่อจากปัจจัยในประเทศ
“เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม” ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ และหัวหน้าฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส มองว่า หุ้นไทยไตรมาส 4 มีโอกาสแกว่งขึ้นได้ ซึ่งปัจจัยบวกมาจากปัจจัยในประเทศมากกว่าต่างประเทศ จากที่คาดว่า เดือน พ.ย. คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะประกาศลดดอกเบี้ยลง 0.25 % เพราะจะเป็นตัวผลักดันให้ Earning Yield Gap ระหว่างพันธบัตรรัฐบาลอายุ 1 ปี กับ SETIndex กรอบกว้างขึ้น และมีโอกาสสูงมากที่จะทำให้เห็นเม็ดเงินจากตลาดสินทรัพย์ที่ปลอดภัยอย่างตลาดพันธบัตรย้ายเข้ามาตลาดหุ้นแทน
อีกทั้งคาดว่าผลประกอบการไตรมาส 3 จะออกมาดีกว่าไตรมาส 2 ซึ่งมองว่าเป็นจุดต่ำสุดของปีไปแล้ว และประเทศไทยน่าจะได้รับการปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือจากสถาบันจัดอันดับเครดิตจาก Lower Medium Grade เป็น Upper Medium Grade หลังจากไม่ได้ปรับมานานกว่า 16 ปี ขณะที่จะได้มีการพิจารณางบประมาณปี 2563 วาระแรกวันที่ 17 ต.ค. นี้
“วิวัฒน์ เตชะพูลผล” รองกรรมการผู้จัดการและหัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์ทางเทคนิค บล.ทิสโก้ มองว่า จนถึงสิ้นปี 2562 ดัชนีหุ้นไทยจะค่อยๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจนไปถึงเป้าหมายปลายปีที่ 1,680 จุดได้ เนื่องจากความเสี่ยงขาลงของตลาดหุ้นเริ่มมีจำกัด หลังจากที่ผ่านมาดัชนีหุ้นไทยปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง 3 เดือนติดกัน ขณะที่ไตรมาส 4 จะเริ่มมีสภาพคล่องจากการกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารกลางสำคัญๆ ไหลเข้าสู่ระบบ รวมถึงยังเป็นช่วงที่จะมีเม็ดเงินไหลเข้ามาลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) โดยคาดว่าเม็ดเงินเข้าประมาณ 3-4 หมื่นล้านบาท ซึ่งน้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 5.3 หมื่นล้านบาท และไตรมาส 4 ปี2560 5.2 หมื่นล้านบาท เพราะนักลงทุนเป็นกังวลเรื่องการเติบโตของเศรษฐกิจในระยาว ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อผลตอบแทนระหว่างการลงทุนในช่วง 7 ปีปฏิทินของกองทุน LTF และ RMF ได้ และหันไปใช้วิธีอื่นในการช่วยลดหย่อนภาษีแทน
“ไตรมาสที่ 4 ยังมีข่าวดีรออยู่มาก โดยเฉพาะสภาพคล่องที่จะมีเพิ่มขึ้นในระบบ ทั้งจากการหยุดลดขนาดงบดุลของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ตั้งแต่เดือน ส.ค.ที่ผ่านมา และนักลงทุนยังคาดว่า FED จะลดดอกเบี้ยลงอีก 2 ครั้งในปีนี้ อีกทั้ง ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ยังกลับมาทำมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) เดือนละ 2 หมื่นล้านยูโรแบบยังไม่กำหนดวันสิ้นสุดตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน เป็นต้นไป”
ปัจจัยลบ
ระยะยาวยังเป็นผลมาจากสงครามการค้าสหรัฐกับจีนเป็นหลัก (Trade War) รวมถึงการที่อังกฤษออกจากสหภาพยุโรป ( No Deal) ที่ยังไม่มีข้อสรุปชัดเจน ซึ่งยังเป็นตัวกดดันตลาดหุ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้
ขณะที่ปัจจัยในประเทศคือ การที่ยังไม่ได้พิจารณางบประมาณปี 2563 ทำให้มีผลเชิงลบกับดัชนีเดือน ต.ค. เพราะไม่มีเงินจากการลงทุนใหม่เข้าระบบเศรษฐกิจ หรือเงินหายไปจากระบบเศรษฐกิจไปประมาณ 8 หมื่นล้านบาท ซึ่งมีผลต่อการผลิตภัณฑ์มวลรวมเศรษฐกิจของประเทศ (จีดีพี) ปีนี้ประมาณ 0.5%
ลงทุนอย่างไรยุคดอกเบี้ยต่ำ
บล.กสิกรไทย แนะนำให้เลือกสะสม REITs และกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเป็นหลัก เพราะจะได้รับเงินปันผล แต่ก็ต้องเลือก REITs ที่เน้นไปเป็นสินทรัพย์ด้านอาคารสำนักงานเป็นหลัก และมีที่ตั้งในทำเลที่ดีย่านทำเลออฟฟิศทำเลทอง และราคากองยังมี Valuation ราคายังไม่เต็มมูลค่า เช่น ทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์บัวหลวง ออฟฟิศ (B-WORK) ปีนี้ให้อัตราการจ่ายเงินปันผล 5.8% ขณะที่ปีหน้า 6.1% ทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ อาคารสำนักงาน จีแลนด์ (GLANDRT) ปีนี้ให้อัตราการจ่ายเงินปันผล 5.5% ขณะที่ปีหน้า 5.8% ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าไทยแลนด์ ไพร์ม พร็อพเพอร์ตี้ (TPRIME) ปีนี้ให้อัตราการจ่ายเงินปันผล 3.2% ขณะที่ปีหน้า 3.6% ทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์โกลเด้นเวนเจอร์ (GVREIT) ปีนี้ให้อัตราการจ่ายเงินปันผล 5.1% ขณะที่ปีหน้า 5.4%
รวมทั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานที่จะมีการสินทรัพย์เข้ากองทุนเข้ามาเพิ่มอย่าง กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFFIF) กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิน (JASIF)
บล.เอเซียพลัส แนะหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง จ่ายปันผลสูงเป็นหลัก PTTEP, LH, SPALI หรือหุ้นที่ BBL หลังประกาศงบไตรมาส 3 ออกมา
บล.ทิสโก้ แนะนำไปจนถึงสิ้นปี 2562 แบ่งออกเป็น 3 ธีม ได้แก่ 1.หุ้นพื้นฐานดี แต่ในรอบ 2-4 ปีราคาปรับลงมาต่ำสุด ได้แก่ BBL, KBANK, SCB และ SPALI 2.หุ้นรับมาตรการรัฐกระตุ้นเศรษฐกิจ ได้แก่ AOT, CPALL, BJC, AMATA, WHA และ ROJNA 3.หุ้นกำไรดีไตรมาส BEM, ERW, SEAFCO, TRUE และ TU
ตุนทองคำลดความเสี่ยงเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ บล.ทิสโก้ ยังมองว่าความเสี่ยงสถานการณ์เศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนสูง และมีแนวโน้มที่จะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปี 2563 จึงแนะนำให้ทยอยเข้าซื้อทองคำ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงเศรษฐกิจขาลง แต่ควรรอจังหวะราคาทองย่อตัว ซึ่งคาดว่าจะเกิดช่วงเดือน พ.ย. นี้ ที่ 1,440 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ เพราะเป็นช่วงที่สภาพคล่องทั่วโลกเพิ่มขึ้น และรอขายในปี 2563 ที่คาดว่าราคาทองคำจะปรับขึ้นไปอยู่ที่ 1,650-1,700 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์
หากเป็นราคาทองคำไทยแนะนำซื้อเมื่อย่อตัวที่ 21,400 บาท และคาดว่าปี 2563 ราคาทองคำในประเทศจะปรับตัวขึ้นไปอยู่ที่บาทละ 23,200-24,000 บาท โดยได้รับแรงหนุนจากเงินบาทเริ่มกลับมาอ่อนค่า และราคาทองคำโลกปรับเพิ่มขึ้น
You must be logged in to post a comment.