นับตั้งแต่เหตุประท้วงในฮ่องกงปะทุขึ้นมาในวันที่ 31 มี.ค. จากความไม่พอใจร่างกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนของรัฐบาล สถานการณ์ก็บานปลายขึ้นเรื่อยๆ หลังวัยรุ่นวัย 18 ปีคนหนึ่งถูกยิงด้วยกระสุนจริง ท่ามกลางการปะทะกันอย่างดุเดือดระหว่างตำรวจและผู้ประท้วงเมื่อวันชาติจีนในวันที่ 1 ต.ค. ที่ผ่านมา
ล่าสุดรัฐบาลฮ่องกงประกาศแบนผู้ประท้วงสวมหน้ากาก เพื่อหวังสลายการชุมนุม หลังตำรวจจับผู้ประท้วงไปทั้งหมดกว่า 1,117 คน
ท่ามกลางความปั่นป่วนตลอดฤดูร้อนของฮ่องกง เดือน “สิงหาคม” นับเป็นช่วงที่เศรษฐกิจ การลงทุน และธุรกิจทรุดหนักสุดช่วงหนึ่งเลยก็ว่าได้
เงินไหลออกวูบสุดรอบ 1 ปี
สถาบันการเงินชื่อดัง โกลด์แมน แซคส์ ประเมินว่า ณ ช่วงสิ้นเดือน ส.ค. เงินฝากในสกุลเงินดอลลาร์ฮ่องกง ไหลออกจากฮ่องกงแล้วราว 91,000-1.22 แสนล้านบาท ถือว่าสอดคล้องธนาคารกลางฮ่องกงที่เปิดเผยว่า เงินฝากสกุลเงินดอลลาร์ฮ่องกง ลดลง 1.6% ในเดือนส.ค. จากเดือนก่อนหน้า ซึ่งร่วงลงมากที่สุดในรอบกว่า 1 ปี ไปอยู่ที่ 26 ล้านล้านบาท
แม้ตัวเลขเงินไหลออกถือว่า “ยังน้อย” เมื่อเทียบกับเงินไหลเข้ารวมกันประมาณ 45 ล้านล้านบาท แต่ก็เป็นสัญญาณว่าสถานะศูนย์กลางทางการเงินแห่งเอเชียของฮ่องกงกำลังสั่นคลอน
โกลด์แมน แซคส์ ระบุว่า “สิงคโปร์” ซึ่งถือเป็นคู่แข่งชิงตำแหน่งฮับการเงินกับฮ่องกงมาโดยตลอด คือประเทศที่เงินจากฮ่องกงไหลเข้าไป
ธนาคารกลางสิงคโปร์เปิดเผยว่า ยอดเงินฝากในสกุลเงินต่างประเทศในสิงคโปร์ พุ่งขึ้น 52% ไปอยู่ 2.83 แสนล้านบาท ในเดือน ส.ค. จากเพียง 1.85 แสนล้านบาทเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งแค่ในเดือน ก.ค.-ส.ค.ที่ผ่านมา ยอดเงินเพิ่มขึ้นมา 1.1 แสนล้านบาท
ระดมทุนสะดุด
ไม่เพียงเท่านั้น เดือน ส.ค. ยังเป็นเดือนที่เลวร้ายที่สุดสำหรับการออก IPO ในฮ่องกง เพราะมีบริษัทออก IPO เพียง 1 แห่งเท่านั้น ซึ่งเป็นตัวเลขต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2012 หลังตลาดหุ้นฮ่องกงปรับลงต่อเนื่องนับตั้งแต่เริ่มประท้วง
ตลอดช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ดัชนี Hang Seng ตลาดหุ้นฮ่องกง ดิ่งลงไปถึง 9.33% โดยเดือน ส.ค. ร่วงไป 7.15%
เซาท์ ไชน่า มอนิ่ง โพสต์รายงานว่า เมื่อเดือน ส.ค. ค่า P/E เฉลี่ยของตลาดหุ้นฮ่องกง อยู่ที่ 10.46 เท่า ต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปี และต่ำกว่าตลาดหุ้นหลายแห่งเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกัน เช่น S&P 500 และ Shanghai Composite ที่มีค่า P/E ที่ 21.59 เท่า และ 13.46 เท่า
ธุรกิจสะเทือนหนัก
นอกจากเรื่องการลงทุนแล้ว ภาคธุรกิจของฮ่องกงก็ได้รับผลกระทบไม่แพ้กัน โดยตัวเลขค้าปลีกเดือนส.ค. ดิ่งหนัก 23% เทียบรายปี ร่วงหนักสุดนับตั้งแต่ช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง
ขณะที่ภาคธุรกิจท่องเที่ยวที่เป็นหนึ่งในแหล่งรายได้หลักของฮ่องกงก็เดือดร้อนหนัก เพราะตัวเลขนักท่องเที่ยวในเดือน ส.ค. ร่วง 39.1% เทียบรายปี ไปอยู่ที่ 3.59 ล้านคน ซึ่งหน่วยงานการท่องเที่ยวของฮ่องกงระบุว่า เป็นเดือนที่นักท่องเที่ยวลดลงมากที่สุดตั้งแต่เดือน พ.ค.2003 เมื่อเกิดโรค SARS ระบาด
เดือน ส.ค.ปีนี้ จะเป็นช่วงที่ตัวเลขเศรษฐกิจของฮ่องกงย่ำแย่ที่สุดหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับว่าสถานการณ์ความรุนแรงในฮ่องกงจะคลี่คลายไปได้มากเพียงใด