ในรอบสัปดาห์นี้ การเมืองสหรัฐกำลังอยู่ในช่วงมาคุ จากการที่สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐเปิดฉากสอบสวนเพื่อถอดถอนประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ออกจากตำแหน่ง หรือ Impeachment เมื่อวันที่ 24 ก.ย.ที่ผ่านมา หลังพบหลักฐานว่าทรัมป์ใช้อำนาจข่มขู่ หรือ เสนอผลประโยชน์ให้ ประธานาธิบดี โวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน สอบสวนกรณีทุจริตที่เกี่ยวโยงกับ นายโจ ไบเดน คู่แข่งตัวเต็งของทรัมป์ในการชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีปีหน้า ซึ่งการกระทำของทรัมป์ถูกมองว่าเป็นการเปิดทางให้ต่างชาติเข้ามาแทรกแซงการเลือกตั้งของสหรัฐและอาจเสี่ยงละเมิดรัฐธรรมนูญของประเทศ
ความกังวลว่าทรัมป์อาจถูกถอดถอนฉุดให้ตลาดหุ้นทั่วโลกร่วงหนักเมื่อวานนี้ (24 ก.ย.ตามเวลาสหรัฐ) โดย 3 ตลาดหุ้นสหรัฐ ได้แก่ ดัชนี Dow Jones, S&P500 และ Nasdaq ปิดปรับตัวลง 0.53%, 0.84% และ 1.46% โดยความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นสหรัฐได้ดึงให้ตลาดหุ้นเอเชียต่างปรับตัวในแดนลบด้วย
ก่อนหน้านี้ ทรัมป์เคยเผชิญกระแสเรียกร้องให้ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ จากกรณีต้องสงสัยสมคบคิดรัสเซียแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2016 แต่จากผลการสอบสวนในเวลาต่อมาของอัยการพิเศษไม่พบหลักฐานยืนยันความผิดทางอาญา การผลักดันให้เกิดกระบวนการถอดถอนจึงตกไปโดยปริยาย
จากเหตุการณ์ครั้งนั้น ทรัมป์จึงกล่าววลีเด็ดออกมาว่า
“ถ้าผมถูกถอดถอน ตลาดหุ้นพังแน่”
วาทะของทรัมป์จึงก่อให้เกิดคำถามว่า แล้วกระบวนการถอดถอนประธานาธิบดีในอดีต สร้างความปั่นป่วนต่อตลาดหุ้นจริงหรือไม่
1974: ริชาร์ด นิกสัน
เมื่อวันที่ 6 ก.พ.1974 สภาผู้แทนฯของสหรัฐอนุมัติให้มีการดำเนินกระบวนการถอดถอนนิกสัน จากกรณี “วอเตอร์เกต” (Watergate) อันอื้อฉาว ตลาดหุ้นสหรัฐกลับเมินข่าวดังกล่าว โดยดัชนี Dow Jones และ S&P500 ปรับตัวขึ้น 0.5% และ 0.3% หลังร่วงลง 2.8% และ 2.4% เมื่อสองวันก่อนหน้านี้
ประเด็นการถอดถอนนิกสันนั้นเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องจากกรณีวอเตอร์เกต ซึ่งเป็นการโจรกรรมข้อมูลจากสำนักงานใหญ่ของคณะกรรมการแห่งชาติพรรคเดโมแครตที่โรงแรมวอเตอร์เกต เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.1972 และยืดเยื้อยาวนานมาถึงปี 1974 จนถึงช่วงที่นิกสันชิงลาออกในวันที่ 9 ส.ค. ก่อนสภาจะดำเนินกระบวนการถอดถอน
คงกล่าวได้ว่ากรณีวอเตอร์เกตเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อตลาดหุ้น โดยนับตั้งแต่นิกสันดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ในปี 1973 จนถึงวันที่ลาออก ดัชนี Dow Jones และ S&P500 ร่วงลงมา 25% และ 32% หลังจากที่นิกสันลาออกจนถึงสิ้นปี 1974 ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐทั้งสองดัชนียังปรับตัวลงต่ออีก 20.7% และ 15%
อย่างไรก็ดี กรณีวอเตอร์เกตก็ไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่กดดันตลาด เพราะช่วงปี 1973-1974 ตลาดกำลังวิตกเกี่ยวกับวิกฤตน้ำมันปี 1973 ที่โอเปกงดส่งออกน้ำมันมาสหรัฐ จนทำให้น้ำมันพุ่งเกือบ 400% จนถึงช่วงวิกฤตสิ้นสุดในปี 1974 และการล่มสลายของระบบการเงินแบบ Bretton Woods ที่ผูกค่าเงินดอลลาร์ไว้กับทองคำ
1998: บิล คลินตัน
ในวันที่ 8 ต.ค. 1998 เมื่อสภาผู้แทนฯ ลงมติเริ่มกระบวนการถอดถอนประธานาธิบดี บิล คลินตัน จากกรณีให้การเท็จต่อคณะลูกขุนใหญ่ และขัดขวางกระบวนการยุติธรรมจากเรื่องความสัมพันธ์ชู้สาว ดัชนี S&P500 ร่วง 4.9% ก่อนปิดที่ 1.2% ขณะที่ Dow Jones ปรับลง 3.5% และปิดตลาดลดลง 0.1%
อย่างไรก็ดี หากนับจากวันที่เริ่มกระบวนการถอดถอนคลินตัน จนถึงมีการตัดสินว่าคลินตันไม่มีความผิดในในเดือน ก.พ.1999 ทั้งดัชนี Dow Jones และ S&P500 ปรับตัวขึ้น 20% และ 28% จากการที่เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวแข็งแกร่ง อยู่ที่ราว 4% ต่อปี ตัวเลขการจ้างงานดี โดยการจ้างงานใหม่เพิ่มขึ้นกว่า 18.6 ล้านอัตรา ซึ่งเป็นยุคที่จำนวนตำแหน่งใหม่เพิ่มขึ้นมากที่สุดของสหรัฐ
บริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน LPL Financial เปิดเผยว่า ปฏิกิริยาของตลาดหุ้นเกี่ยวกับกรณีกระบวนการถอดถอนคลินตันกับนิกสันพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ โดยในกรณีคลินตัน S&P500 ให้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้น 39.2% ต่อปี ขณะที่ดิ่งลง 33.4% ต่อปี หลังเริ่มกระบวนการถอดถอนนิกสัน
ที่มา: LPL Financial
2019: โดนัลด์ ทรัมป์
แม้ทรัมป์ถือเป็นประธานาธิบดีคนที่ 3 ที่ถูกดำเนินกระบวนการถอดถอนโดยสภา ตามหลัง แอนดรู จอห์นสัน ประธานาธิบดีคนแรกที่เจอกระบวนการ impeachment และบิล คลินตัน แต่ความวิตกเกี่ยวกับการถอดถอนทรัมป์ส่งผลต่อตลาดแค่ในระยะสั้นๆ เท่านั้น เพราะนักลงทุนต่างกังวลเรื่องนโยบายการค้าของทรัมป์มากกว่า เห็นได้จากตลาดหุ้นสหรัฐปิดพุ่งเมื่อคืนวันที่ 25 ก.ย. หลังทรัมป์บอกว่าสหรัฐใกล้จะได้ดีลการค้ากับจีนแล้ว
สำหรับตอนนี้ยังฟันธงไม่ได้ว่าทรัมป์จะพ้นจากเก้าอี้ผู้นำสหรัฐหรือไม่ แต่ดูทรงแล้วน่าจะเป็นไปได้ยาก เพราะต้องได้รับมติสนับสนุนจากวุฒิสภาอย่างน้อย 2 ใน 3 หรือ 67 เสียงจาก 100 เสียง และตอนนี้พรรครีพับลิกันก็ครองเสียงข้างมากในวุฒิสภาอยู่ที่ 53 เสียง ส่วนเดโมแครตมี 45 เสียง และอีก 2 เสียงเป็นของนักการเมืองอิสระ หมายความว่าเดโมแครตต้องดึงนักการเมืองอิสระและสว.รีพับลิกันอีก 20 คนมาอยู่ฝ่ายเดียวกันให้ได้ ซึ่งนั่นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย
ในกรณีของทรัมป์ กระบวนการถอดถอนเกิดขึ้นท่ามกลางตัวแปรหลายอย่างที่คาดเดาไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นสงครามการค้าจีน-สหรัฐ ความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างสหรัฐ-อิหร่าน และยังมีเรื่องการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐปี 2020 ด้วย
ย้อนดูตลาดหุ้นในยุค 3 ประธานาธิบดี
- ริชาร์ด นิกสัน (ประธานาธิบดีคนที่ 37: ดำรงตำแหน่ง 20 ม.ค.1969-9 ส.ค.1974)
- บิล คลินตัน (ประธานาธิบดีคนที่ 42: ดำรงตำแหน่ง 20 ม.ค.1993-20 ม.ค.2001)
- โดนัลด์ ทรัมป์ (ประธานาธิบดีคนที่ 45: ดำรงตำแหน่ง 20 ม.ค.2017-ปัจจุบัน)
*Dow Jones – DJIA – 100 Year Historical Chart
*S&P 500 Index – 90 Year Historical Chart
*NASDAQ Composite – 45 Year Historical Chart
ที่มากราฟ: macrotrends
You must be logged in to post a comment.