ข้อมูลจากคำเสนอรายการ (ไฟลิ่ง) ที่ยื่นเสนอขายหุ้นไอพีโอกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ของ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป (AWC) ระบุว่า 13 นักลงทุนสถาบันที่เป็นกองทุน Cornerstone Investors ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งตกลงจะซื้อหุ้นไอพีโอนั้น พบว่า GIC Private Limited (GIC) มีจำนวนหุ้นที่ตกลงจะซื้อมากที่สุดคือ 1,530 ล้านหุ้น หรือเกือบ 50 % ของจำนวนกองทุนที่ตกลงจะซื้อไว้ในไฟลิ่งที่มีทั้งหมด 3,454 ล้านหุ้น
โดยนักลงทุนสถาบันจะมีสิทธิ์จองซื้อหุ้น AWC ในวันที่ 1-3 ต.ค. นี้ ส่วนพรุ่งนี้ (27 ก.ย. ) จะเป็นวันสุดท้ายที่นักลงทุนรายบุคคลจองซื้อหุ้น AWC
GIC คือ ?
GIC คือ กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของรัฐบาลสิงคโปร์ หรือ Sovereign Wealth Fund (SWF) ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยงานบริหารกองทุนสำรองระหว่างประเทศ ที่เน้นลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศเป็นหลัก
จากข้อมูลของ Straits Times เปิดเผยว่า GIC เป็นกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติขนาดใหญ่ที่สุดอันดับ 6 ของโลก มีมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) ราว 4.40 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 13 ล้านล้านบาท โดย GIC ลงทุนในสหรัฐมากที่สุดคิดเป็น 34% ของสัดส่วนการลงทุนทั้งหมด ตามด้วยเอเชียที่ไม่รวมญี่ปุ่น 19% ยุโรป (12%) ญี่ปุ่น (12%) และอังกฤษ (6%)
ขณะที่สินทรัพย์ที่ลงทุนมากที่สุดคือ พันธบัตรทั่วไปและเงินสด (35%) ตามด้วย หุ้นในตลาดที่พัฒนาแล้ว (27%) หุ้นในตลาดเกิดใหม่ (17%) ลงทุนหุ้นในบริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหุ้น (9%) อสังหาริมทรัพย์ (7%) และพันธบัตรที่ผลตอบแทนอ้างอิงอัตราเงินเฟ้อ (5%)
อย่างไรก็ดีล่าสุด เมื่อต้นเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา GIC เพิ่งประกาสไปลงทุนในหน่วยธุรกิจของ Vingroup JSC กลุ่มเครือธุรกิจรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม โดยมีมูลค่าลงทุนประมาณ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
มูลค่าพอร์ต GIC ในหุ้นไทยปัจจุบัน
ปัจจุบันมูลค่าพอร์ตการลงทุนของ GIC ที่มีในตลาดหุ้นไทยทั้งหมด คือ 68,132.20 ล้านบาท (ณ วันที่ 25 ก.ย.) โดยลงในหมวดธุรกิจพลังงานและสาธารณูปโภคมากที่สุด รองลงมาคือหมวดธนาคาร และหมวดธุรกิจพาณิชย์ ตามลำดับ ขณะที่หุ้นรายตัวที่ถือมากสุด 3 อันดับแรกคือ บริษัท ปตท. (PTT) บริษัท ซีพีออลล์ (CPALL) และ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF)
2562 GIC ซื้อขายหุ้น ไทย 48 รายการ แล้ว
สำหรับหุ้นที่มีการซืื้อเข้ามากที่สุดคือ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) 170 ล้านหุ้น เมื่อวันที่ 12 ก.ย. ที่ผ่านมา อีกทั้งยังการทยอยเก็บหุ้น บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) และธนาคารกรุงเทพ (BBL) อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี ขณะที่ GIC มีการปรับพอร์ตด้วยการขายหุ้นออกไปมากที่สุดคือ บริษัท แลนด์แอนด์เฮ้าส์ (LH) ทั้งหมด 955 ล้านหุ้น (*ถือเป็นหุ้นในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์เดียวกันกับ AWC ที่ GIC ตกลงจะซื้อหุ้นไอพีโอจำนวนกว่า 1,530 ล้านหุ้น) รวมหุ้นถึงหุ้นของธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB)
You must be logged in to post a comment.