“ธาดา พฤติธากา” กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่า ปีนี้มูลค่าการออกตราสารหนี้ภาคเอกชน (หุ้นกู้) แตะระดับ 1 ล้านล้านบาท หลังจากครึ่งปีแรกมีมูลค่าการออกกว่า 5 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 34% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผู้ออกรายใหญ่ 10 อันดับแรกมีมูลค่าการออกคิดเป็นสัดส่วนกว่า 50%ของมูลค่าการออกในครึ่งแรก
- ครึ่งปีแรก ตลาดตราสารหนี้ไทยโดยรวมเติบโตสูงกว่า 5.45% มีมูลค่าคงค้างรวมเพิ่มขึ้นเป็น 13.49 ล้านล้านบาท จาก 12.79 ล้านล้านบาท เมื่อสิ้นปีที่ผ่านมา โดยตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาวมีการออกเพิ่มขึ้น 34% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
- ตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะสั้น มีมูลค่าการออกลดลงจากช่วงเดียวกันปีที่แล้วกว่า 68% โดยเป็นการลดลงของการออกตัวสัญญาใช้เงิน (ตั๋ว PN) ในกลุ่มธุรกิจเดียวกัน
- การออกตราสารหนี้ระยะยาว ในครึ่งปีหลังนี้จะมีการออกอย่างต่อเนื่อง จากปัจจุบันมีตราสารหนี้ที่จะครบกำหนด (Rollover) ในครึ่งปีหลังมูลค่าราว 2.73 แสนล้านบาท โดยคิดเป็น 65% หรือ 1.85 แสนล้านบาท ที่จะมีการ Rollover และที่มีการยื่นไฟลิ่งเข้ามาแล้วอีก 1.02 แสนล้านบาท รวมถึงจะมีการออกเพื่อใช้ในการเข้าซื้อกิจการ (M&A) อีก 5 หมื่นล้านบาท และการออก Basel 3 ราว 5.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะส่งผลทำให้ในปีนี้จะมีมูลค่าการออกตราสารหนี้ระยะยาวแตะ 1 ล้านล้านบาท จากเดิมที่คาดการณ์ว่าจะมีการออกตราสารหนี้ระยะยาว 7.5-8 หมื่นล้านบาท
“มองทิศทางเม็ดเงินต่างชาติในตลาดตราสารหนี้ครึ่งปีหลัง น่าจะเห็นเงินทุนไหลเข้าตราสารหนี้ระยะยาวอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็น Index fund flow ที่นักลงทุน Passive Fund ทั่วโลกใช้ ขณะที่ตราสารหนี้ระยะสั้นน่าจะผันผวนน้อยลง หรือน่าจะไม่เห็นเงินทุนไหลเข้ามาแล้ว หลังจากที่ล่าสุดธนาคารกลางแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีการส่งสัญญาณว่าหากมีความจำเป็นก็พร้อมที่จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย”
- ครึ่งปีแรกมียอดการซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติ เท่ากับ 3,213 ล้านบาท เป็นการขายออกในตราสารหนี้ภาครัฐระยะสั้น และเข้าซื้อในตราสารหนี้ภาครัฐระยะยาว มูลค่าการลงทุนสะสมสุทธิของต่างชาติในตราสารหนี้ไทยครึ่งปีแรก 989,206 ล้านบาท หรือคิดเป็น 7.3% ของมูลค่ารวมตลาดตราสารหนี้ไทย
- ทิศทางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลครึ่งปีหลัง มองว่า จากค่าเงินบาทที่แข็งค่าและอัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง จะเป็นแรงกดดันให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า โดยผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นอาจขยับลง จากการปรับลดวงเงินการประมูลพันธบัตรระยะสั้นที่แบงก์ชาติเริ่มประกาศใช้มาตั้งแต่เดือนก.ค.นี้ ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวน่าจะปรับตัวลงในกรอบจำกัด จากปัจจัยเงินเฟ้อและการลงทุนภาครัฐและเอกชนที่ยังคงทรงตัว เพื่อรอความชัดเจนของนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่