HomeOn RadarsEICชี้ผลกระทบสงครามการค้าเลวร้ายสุดทำส่งออกไทย -3.1%

EICชี้ผลกระทบสงครามการค้าเลวร้ายสุดทำส่งออกไทย -3.1%

“ยรรยง ไทยเจริญ” รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทย (GDP) ปี 2562 ลงเหลือขยายตัว 3.1% จากเดิมคาด 3.3% เพราะการส่งออกหดตัวจากภาวะสงครามการค้าและการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

หลังการประชุม  G20 จีนและสหรัฐพักการขึ้นภาษีลงชั่วคราว แต่ยังมีโอกาสที่จะกลับมาปะทุและทวีความรุนแรงข้างหน้าได้อีก เพราะแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจในหลายประเทศทั่วโลก ทำให้ธนาคารกลางหลายแห่งเริ่มส่งสัญญาณใช้นโยบายการเงินในทิศทางผ่อนคลาย เพียงเพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจเท่านั้น

EIC2

“ลดประมาณอัตราขยายตัวของมูลค่าส่งออกเป็นหดตัว 1.6% จากเดิมคาดขยายตัว 0.6% โดย 5 เดือนที่ผ่านมาการส่งออกไทยหดตัวไปแล้ว 5% แต่มองว่าจะเห็นภาคส่งออกไทยลดลงถึงจุดต่ำสุดในปีนี้ช่วงไตรมาส 3 และค่อยๆ ฟื้นตัวในช่วงไตรมาส 4 แต่กรณีเลวร้ายที่สุดหากสงครามการค้าแย่ลงมากกว่าที่คาดไว้ การส่งออกของไทยมีความเป็นไปได้ที่จะหดตัวมากถึง -3.1% และการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยอาจชะลอลงมาอยู่ที่ 2.7%”

  • ลดจำนวนนักท่องเที่ยว เหลือ 40.1 ล้านคน หรือขยายตัวที่ 4.8% จากเดิมที่คาดว่า 40.7 ล้านคน หลังจากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนชะลอตัว เพราะเศรษฐกิจจีนยังไม่ฟื้นตัวดี และลดประมาณการค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อหัวของนักท่องเที่ยวตามการชะลอของเศรษฐกิจในหลายประเทศและการแข็งค่าของเงินบาท

EIC3

EIC4

  • การใช้จ่ายในประเทศชะลอ ตามอุปสงค์ด้านต่างประเทศเช่นกัน การลงทุนภาคเอกชนก็ชะลอตัวตามการหดตัวของภาคส่งออก การชะลอตัวของโครงการก่อสร้างที่อยู่อาศัยใหม่จากมาตรการ LTV และความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ยังกังวลต่อประสิทธิภาพในการผลักดันและประสานนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลผสมใหม่
  • การลงทุนภาครัฐ คาดว่าการลงทุนด้านการก่อสร้างยังสามารถขยายตัวต่อเนื่องที่ 7% แต่จะถูกฉุดด้วยการลงทุนด้านเครื่องมือเครื่องจักรที่ไตรมาสแรกหดตัวกว่า 11.7% นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงเพิ่มเติมจากการจัดทำงบประมาณปี 2563 ที่มีแนวโน้มล่าช้าออกไปราว 3 เดือน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเบิกจ่ายงบลงทุนในโครงการที่ยังไม่ได้ก่อหนี้ผูกพันและโครงการใหม่ ที่อาจจะต้องถูกเลื่อนออกไปจากไตรมาส 4 เป็นในช่วงไตรมาส 1 ซึ่งทำให้กระทบแผนการลงทุนในช่วงปลายปีนี้
  • การบริโภคภาคเอกชน แม้จะได้รับแรงสนับสนุนจากการจ้างงานที่ขยายตัวและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่มีแนวโน้มชะลอตัวจากปีก่อนที่ 4.6% มาอยู่ที่ 3.9% ตามการชะลอตัวของการใช้จ่ายสินค้าคงทนโดยเฉพาะการซื้อรถยนต์ที่ขยายตัวสูงในช่วงก่อนหน้า ภาระหนี้ครัวเรือนที่สูง มีความเสี่ยงที่การจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมจะได้รับผลกระทบจากการส่งออกที่หดตัวต่อเนื่อง

EIC5

 

  • หลังจัดตั้งรัฐบาล มองว่าเม็ดเงินที่ควรจะอัดฉีดเข้าหลังจากการจัดตั้งรัฐบาลแล้วเสร็จใกล้เคียงกับปีก่อนที่ 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นระดับที่สามารถเข้ามาช่วยผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจไทยได้ รวมไปถึงการผลักดันโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐออกมา เพื่อเรียกความเชี่อมั่นของนักลงทุนและดึงดูดในนักลงทุนไทยและต่างชาติกลับมาลงทุนเพิ่มขึ้น
  • นโยบายการเงินของไทย มองอัตราดอกเบี้ยนโยบายคงที่อยู่ที่ 1.75% ในปี 62 แต่มีโอกาสที่ลดดอกเบี้ยลง 0.25% ในช่วงปลายปีนี้ หากเศรษฐกิจชะลอตัวมากกว่าการคาดการณ์ ที่ขยายตัว 3% และอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าขอบล่างของเป้าหมายนโยบายการเงิน
  • ค่าเงินบาท จะยังได้รับแรงกดดันด้านแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันแข็งค่ามากกว่า 5%  และสูงสุดรอบ 6 ปี ที่ 30.80 บาท/เหรียญสหรัฐฯ มองการเคลื่อนไหวช่วงที่เหลือของปีนี้อยู่ในช่วง 30-31 บาท/เหรียญสหรัฐ

EIC6

ที่มา : ข้อมูลและอินโฟกราฟฟิก จาก Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์