ใกล้จะถึงฝั่งที่ฝันกันแล้วสำหรับ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ (EA) ที่ขับเคลื่อนนโยบายการสร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้าที่ทันสมัย ภายใต้เครื่องหมายการค้า “EA Anywhere” มาตั้งแต่ปี 2560 เพื่อรองรับการการพัฒนารถยนต์พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ ถึงสิ้นปี 2562 น่าจะถึงเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ว่าจะมีทั้งหมด 1,000 สถานี จากปัจจุบันที่มีทั้งหมด 500 สถานี
- เพราะวันนี้ (8 ก.ค.) EA ได้ชวนอีก 4 พันธมิตรยักษ์ใหญ่มาร่วมพัฒนาสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้ากันภายใต้การดำเนินงานของบริษัทย่อยของ EA คือ บริษัท พลังงานมหานคร บริษัท เชฟรอน (ไทย) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการปั๊มน้ำมันคาลเท็กซ์ บริษัท ซีพี ออลล์ (CPALL) บริษัท บริดจสโตน เอ.ซี.ที (ประเทศไทย) ผู้ให้บริการการบำรุงรักษารถยนต์ภายใต้แบรนด์ A.C.T. และ COCKPIT และ บริษัท โรบินสัน (ROBINS)
“อมร ทรัพย์ทวีกุล” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร EA กล่าวว่า การที่ได้พันธมิตรหลายแห่งเพราะมีแนวคิดร่วมกันที่จะทำให้ไทยมีการใช้รถยนต์ไฟฟ้าเกิดขึ้นได้นั้น ต้องทำให้เห็นก่อนว่ามีสถานที่สำหรับการชาร์จไฟฟ้าเกิดขึ้นต่อการใช้ในชีวิตประจำวันเขาได้ จากปัจจุบันมีทั้งหมด 500 สถานี การมี 4 พันธมิตรรายใหญ่เข้ามาเพิ่มเติม ทำให้คาดว่าภายในสิ้นปี2562 จะมีสถานีชาร์จไฟได้ถึง 1,000 แห่ง แบ่งเป็น 700 จุด ในกรุงเทพและปริมณฑล ส่วน 300 จุดที่ต่างจังหวัด เพื่อรองรับยานยนต์ไฟฟ้าปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) และ ยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ (BEV) โดยใช้เงินลงทุนรวม 700-800 ล้านบาท
“ทั้งหมดนี้ EA จะสร้างเองคนเดียวไม่ได้ ได้รับความร่วมมือจากพันธมิตรที่จะทำให้สามารถตั้งสถานีชาร์จได้ทั่วประเทศได้ ถือว่าที่ผ่านมาได้ร่วมกับกับทุกภาคส่วนธุรกิจครอบคลุม ตั้งแต่กลุ่มของคุณเจริญ สิริวัฒนภักดี จากปั๊มซัสโก้ สยามพารากอน กลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์ กลุ่มเซ็นทรัล กลุ่มบริษัทชั้นนำต่างประเทศอย่างเชฟรอน หรือกลุ่มบริดจสโตนที่เป็นผู้บริการบำรุงรักษารถยนต์”
- การรับรู้รายได้จากสถานีชาร์จไฟฟ้า แม้จะยังไม่ได้เห็นผลในปีนี้ แต่ถือว่าจะทำให้เกิดการทำให้มีต้นทุนจากการดำเนินงานที่ถูกมากขึ้นจากการที่มีสถานีที่เพิ่มขึ้นและครอบคลุมไปทั่วประเทศ โดยคาดว่าจะเริ่มรับรู้รายได้ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป เช่นเดียวกับธุรกิจการผลิตและจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า
- ธุรกิจผลิตและจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า ปัจจุบันมียอดจองเข้ามาครบทั้งหมด 4,500 คันแล้ว คาดว่าจะสามารถส่งมอบได้ภายในปี 2563 น่าจะรับรู้รายได้ประมาณ 5,000 ล้านบาท และอาจเห็นรายได้ EA แตะที่ 20,000 ล้านบาทได้ จากเป้าหมายปีนี้อยู่ 15,000 ล้านบาท ส่วนโรงงานประกอบรถยนต์ไฟฟ้าที่ จ.ฉะเชิงเทรา คาดว่าจะดำเนินการการก่อสร้างแล้วเสร็จได้ภายในปลายปีนี้ จะสามารถรองรับการผลิตได้ราว 10,000 คัน/ปี โดยหากพบมีความต้องการมากกว่า 10,000 คัน บริษัทก็มีแผนจะขยายพื้นที่โรงงานดังกล่าวเพิ่มเติมได้
- ROBINS มีสาขาทั้งหมด 49 แห่ง แต่น่าจะมีการตั้งเป็นสถานีชาร์จได้เพียง 22 แห่ง ซึ่งเป็นสาขาแบบไลฟ์สไตล์หรือเป็นร้านสแตนอโลนของโรบินสันเอง และภายใต้เดือน พ.ย. จะมีการเปิดสาขาสแตนอโลนอีก 1 รวมเป็นสถานีชาร์จทั้งหมด 23 แห่ง โดยแต่ละสถานีจะมีประมาณ 2-3 หัวจ่าย
- CPALL เริ่มมีการติดตั้งไปแล้ว 1 แห่งที่สาขาธาราพัทยา และคาดว่าน่าจะมีสถานีชาร์จได้อีก 20 แห่ง ปัจจุบันเซเว่นอีเลฟเว่นมีสาขาทั้งหมด 11,547 สาขา หรือมีผู้ใช้บริการร้านหมุนเวียน 13 ล้านคนต่อวัน ซึ่งโมเดลนี้จะทำให้เซเว่นฯ จากที่เคยเป็น Convenience Store หรือร้านค้าสะดวกซื้อ กลายเป็น Convenience Charging แทน
- เชฟรอนที่เป็นผู้ให้บริหารสถานีปั๊มน้ำมันคาลเท็กซ์ “ชุตินธร ปักเข็ม” รองผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายผลิตภัณฑ์ประเทศไทย บริษัท เชฟรอน (ไทย) บอกว่า ปัจจุบันมีปั๊มคาลเท็กซ์ทั้งหมด 366 แห่งทั่วประเทศ ปีนี้บริษัทตั้งเป้าจะขยายปั๊มใหม่อีก 50 แห่ง ซึ่งคาดว่าน่าจะมีสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าได้ทั้งหมด 30 แห่ง เพราะการทำสถานีชาร์จฯ นี้ ก็ถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่ของการเพิ่มธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมันตามเป้าหมายบริษัทเช่นกัน
- บริดจสโตน ยังอยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียดด้วย เพราะบางสาขาของศูนย์บริการ A.C.T. ไม่ได้มีพื้นที่เพียงพอต่อการตั้งสถานีได้ แต่เบื้องต้นคาดว่าจะทำเป็นสถานีได้ประมาณ 20 แห่ง จากที่มีจำนวนสาขาทั่วประเทศทั้งหมด
ทั้งหมดมีจุดมุ่งหมายอย่างเดียวกันเพื่อให้ทำให้สภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรกับสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จากการทำให้เกิดการใช้รถยนต์ไฟฟ้าได้จริง เพราะถ้าไม่มีสถานีชาร์จที่เพียงพอ ก็จะเกิดแรงจูงใจในการใช้รถยนต์ประเภทนี้อย่างจริงจังได้ยาก ซึ่งในอีกมุมก็ทำให้เกิดคอมมูนิตี้ เกิดการใช้พื้นที่ เกิดทางเลือกในการให้การบริการที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น ถือว่าทุกฝ่ายวินวินทั้งคู่
You must be logged in to post a comment.