TISCO รายงานผลประกอบการครึ่งปีแรกปี 2568 กำไรสุทธิ 3,287 ล้านบาท ลดลง 5.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนแรงกดดันจากภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้าและอุปสงค์ในประเทศที่อ่อนแรง แม้รายได้จากธุรกิจสินเชื่อบางกลุ่มเริ่มฟื้นตัว โดยเฉพาะกลุ่มรถยนต์นั่งส่วนบุคคล พร้อมเดินหน้าช่วยเหลือลูกค้าภายใต้โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ควบคู่กับการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ และยึดแนวทาง “ธุรกิจยั่งยืน” เพื่อเสริมความแข็งแกร่งในระยะยาว ท่ามกลางสภาพแวดล้อมเศรษฐกิจที่ยังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน
นายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ (Mr. Sakchai Peechapat, Group Chief Executive, TISCO Financial Group Public Company Limited) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ยังคงเผชิญกับความไม่แน่นอน แม้จะได้รับแรงสนับสนุนจากการส่งออกที่เร่งตัวขึ้นก่อนมาตรการภาษีศุลกากรสหรัฐฯ จะมีผลบังคับใช้ แต่อุปสงค์ภายในประเทศกลับอ่อนแรงลงอย่างชัดเจน โดยมีสาเหตุหลักจากการชะลอการลงทุนของภาคเอกชน และความระมัดระวังในการใช้จ่ายของครัวเรือน อันเนื่องมาจากความกังวลเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตและปัญหาหนี้สิน ขณะเดียวกันภาคการท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัวตามที่คาดการณ์ไว้ ส่งผลให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยรวมยังไม่เต็มประสิทธิภาพ
สำหรับผลประกอบการครึ่งปีแรก กลุ่มทิสโก้มีกำไรสุทธิ 3,287 ล้านบาท ลดลง 5.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุจากรายได้ธุรกิจหลักปรับตัวลดลง โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิลดลงสืบเนื่องจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย และการลดดอกเบี้ยเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ภายใต้โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ขณะที่ธุรกิจสินเชื่อยังคงขยายตัวที่ 1.4% จากปีก่อน จากกลุ่มสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่เป็นหลัก ส่วนสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ใหม่เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวในกลุ่มรถยนต์นั่งส่วนบุคคล จากการร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจที่แข็งแกร่งในกลุ่มแบรนด์รถยนต์เป้าหมาย พร้อมคัดสรรการเติบโตไปในกลุ่มลูกค้าที่มีคุณภาพดี ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยผลักดันให้สามารถเพิ่มอัตราการเข้าถึง (Penetration Rate) ในกลุ่มรถยนต์ใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมียอดสินเชื่อปล่อยใหม่เติบโตขึ้นถึง 17% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
และสำหรับกำไรสุทธิของบริษัทงวดครึ่งปีแรกของปี 2568 มีจำนวน 3,287 ล้านบาท ลดลง 5.7% เมื่อเทียบกับงวดครึ่งปีแรกของปี 2567 เป็นผลมาจากรายได้ที่ชะลอตัวลง 1.7% ทั้งรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่ลดลงจากการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และการช่วยเหลือลูกหนี้ในโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” รวมทั้ง รายได้ค่าธรรมเนียมธุรกิจหลักทรัพย์ยังคงอ่อนแอ
อย่างไรก็ดี รายได้ค่าธรรมเนียมธนาคารพาณิชย์ฟื้นตัวจากธุรกิจนายหน้าประกันภัยและรายได้ที่เกี่ยวกับสินเชื่ออื่นๆ รวมถึงรายได้ค่าธรรมเนียมธุรกิจจัดการกองทุนขยายตัว จากการเติบโตของธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและกองทุนรวม ในส่วนของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลดลง 4.0% จากการควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ
ขณะที่ค่าใช้จ่ายสำรองผลขาดทุนด้านเครดิต (ECL) อยู่ที่ 0.8% ของสินเชื่อเฉลี่ย