HomeStockRadarsPlatformSCB EIC หั่นคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2025 เหลือโต 1.5% หวั่นสงครามการค้า-เสี่ยงเข้าสู่ Technical Recession กลางปีนี้

SCB EIC หั่นคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2025 เหลือโต 1.5% หวั่นสงครามการค้า-เสี่ยงเข้าสู่ Technical Recession กลางปีนี้

SCB EIC ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2025 เหลือ 1.5% จากเดิม 2.4% หลังประเมินว่า ความเสี่ยงจากสงครามการค้ารอบใหม่ และความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจโลกจะกดดันเศรษฐกิจไทยอย่างมีนัยสำคัญ เสี่ยงเผชิญภาวะ Technical Recession ช่วงกลางปีนี้

SCB EIC ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2025 เหลือ 2.2% (เดิม 2.6%) จากกำแพงภาษีสหรัฐฯ และการโต้กลับ

ในปัจจุบันสหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีนำเข้าขั้นต่ำ (Universal tariff) 10% กับเกือบทุกประเทศทั่วโลกแล้ว และเก็บภาษีเฉพาะรายสินค้า (Specific tariff) หลายรายการ เช่น ยานยนต์ เหล็ก อะลูมิเนียม รวมถึงเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal tariff) สินค้าจีนสูงถึง 125% (หากรวม Specific tariff จะเป็น 145%) สหรัฐฯ มีแนวโน้มจะเริ่มเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้คู่ค้าราว 60 ประเทศที่เกินดุลกับสหรัฐฯ ในช่วงไตรมาส 3 หลังพ้นช่วงเจรจา 90 วัน โดยเอเชียและอาเซียนเป็นกลุ่มประเทศที่อาจได้รับผลกระทบสูง เนื่องจากเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ สูง

SCB EIC ประเมินภาครัฐทั่วโลกใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายมากขึ้น เพื่อพยุงเศรษฐกิจ แต่ความไม่แน่นอนยังสูง

โดยมองว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะลดดอกเบี้ยรวม 75 bps (เดิมมอง 50 bps) เพื่อลดความเสี่ยงที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอย แม้ความเสี่ยงเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะเร่งลดดอกเบี้ยรวม 125 bps (เดิมมอง 100 bps) เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ ขณะที่ความเสี่ยงเงินเฟ้อไม่สูงนัก ธนาคารกลางจีน (PBOC) มีแนวโน้มลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (7-day reverse repo) รวม 50 bps ในปีนี้ (คงมุมมองเดิม) และอาจคงระดับอัตราดอกเบี้ยนี้ไม่ให้ต่ำกว่า 1% เพื่อรักษาพื้นที่ทางนโยบาย สำหรับเหตุการณ์ด้านลบอื่นที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

เศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 ยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องจากปีก่อน อาจขยายตัวได้ราว 3% ตามการขยายตัวของการส่งออกสินค้าที่เร่งตัวก่อนการขึ้นภาษี การบริโภคภาคเอกชน และการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ ขณะที่เหตุแผ่นดินไหวเริ่มส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวชัดเจนขึ้น สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยรวมหลังเกิดเหตุการณ์จนถึงช่วงสงกรานต์ที่ปรับลดลงจากปีที่แล้ว

อย่างไรก็ดี นักท่องเที่ยวบางกลุ่มยังคงเติบโตดี เช่น อินเดีย และรัสเซีย

เศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังเสี่ยงเผชิญ Technical recession จากผลสงครามการค้ารอบใหม่นี้ และความไม่แน่นอนที่กระทบต่อความเชื่อมั่นของภาคเอกชน

โดย SCB EIC ประเมินเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบสูงจากการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ โดยอาจขยายตัวเพียง 1.5% ในปี 2025 (เดิมมอง 2.4%) จากการส่งออกที่จะหดตัวในช่วงครึ่งปีหลัง และการลงทุนภาคเอกชนที่แผนการลงทุนใหม่ ตลอดจนการบริโภคภาคเอกชนอาจชะลอออกไป ตามแนวโน้มสงครามการค้าที่รุนแรงกว่าคาดและความไม่แน่นอนสูงของนโยบายการค้าสหรัฐฯ และภาวะเศรษฐกิจโดยรวม

เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มได้รับผลกระทบสูงจากสงครามการค้า

เนื่องจากไทยพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ มากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา อีกทั้งยังนำเข้าสินค้าจีนมากขึ้นด้วยหลังจากจีนทยอยลดการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ การประเมินผลกระทบทางตรงผ่านสินค้าส่งออกไทยไปสหรัฐฯ มีแนวโน้มได้รับผลกระทบรุนแรง เนื่องจากไทยพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ สูง สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปสหรัฐฯ สัดส่วนกว่า 80% จะโดนเก็บอัตราภาษีตอบโต้สูงกว่าประเทศคู่แข่ง

รวมถึงการประเมินผลกระทบทางอ้อม ผ่านการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าหลัก โดยเฉพาะจีนที่โดนกำแพงภาษีจากสหรัฐฯ สูงมากและตอบโต้กลับในลักษณะเดียวกัน SCB EIC ประเมิน หากสหรัฐฯ เก็บภาษีตอบโต้สินค้าไทย 36% ตามที่ประกาศไว้จริง มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยไปสหรัฐฯ จะลดลงสะสมราว 8.1 แสนล้านบาท หลังภาษีประกาศใช้นาน 5 ปี อย่างไรก็ดี ต้องติดตามผลการเจรจาของภาครัฐ เพื่อประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจริงอย่างต่อเนื่อง

สงครามการค้ารอบใหม่นี้จะส่งผลต่อภาคธุรกิจไทยเป็นวงกว้าง

แต่ธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบสูง ส่วนใหญ่ผลิตสินค้าที่พึ่งตลาดสหรัฐฯ สูงและอาจเสียส่วนแบ่งตลาดให้คู่แข่ง หรือเป็นสินค้าขั้นกลางและขั้นปลายที่พึ่งอุปสงค์จีนสูง หรือเป็นสินค้าที่อาจถูกกระทบจาก Global slowdown หรือ China influx เข้าไทยรุนแรงขึ้น เช่น เซมิคอนดักเตอร์ คอมพิวเตอร์ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์สื่อสาร แผ่นวงจรพิมพ์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์

นอกจากนี้ SCB EIC ยังประเมินว่าลูกจ้างราว 11% ของลูกจ้างทั้งหมดเข้าข่ายที่อาจได้รับผลกระทบสูงตามมา