นักลงทุนที่อยู่ในตลาดหุ้นไทยมานาน คงไม่มีใครไม่เคยเจอตลาดร่วงหนัก แต่ถ้ามาย้อนดูประวัติ จะเห็นว่าทุกครั้งที่เกิดวิกฤต ตลาดหุ้นไทยสามารถกลับมาที่จุดเดิมได้เสมอ วันนี้ Radars Man เลยอยากชวนเพื่อน ๆ มาย้อนดูกันว่าวิกฤตใหญ่ ๆ ในตลาดหุ้นไทย ใช้เวลานานแค่ไหนกว่าจะฟื้นกลับมาจุดเดิม
วิกฤตต้มยำกุ้ง (1997)
เกิดจากการเก็งกำไรค่าเงินบาท และการก่อหนี้เกินตัวของหลายบริษัท เมื่อรัฐบาลประกาศลอยตัวค่าเงินบาทในวันที่ 2 กรกฎาคม 1997 ทำให้ค่าเงินดิ่งลงอย่างรวดเร็วกว่า 50% ภายในเวลาอันสั้น ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ธนาคารและบริษัทขนาดใหญ่หลายแห่งล้มละลาย
ดัชนี SET ร่วงจากประมาณ 870 จุด ลงไปเหลือแค่ 200 จุด ในปี 1998 ต้องใช้เวลาถึง 7 ปี กว่าจะกลับขึ้นมายืนเหนือ 800 จุดได้อีกครั้ง
วิกฤตซัพไพรม์ (2008)
วิกฤตการเงินโลก หรือที่รู้จักกันดีในชื่อวิกฤตซับไพรม์ จุดเริ่มต้นมาจากการปล่อยกู้ที่มีความเสี่ยงสูงในตลาดอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯ เมื่อผู้กู้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่อย่าง Lehman Brothers ก็ล้มละลาย เกิดเป็นวิกฤตใหญ่ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก
ดัชนี SET ร่วงจากประมาณ 800 จุด เหลือ 400 จุด ในเวลาไม่กี่เดือน โดยครั้งนี้ใช้เวลาประมาณ 3 ปี เพื่อกลับมายังจุดเดิม
วิกฤต COVID-19 (2020)
จากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้เกิดการล็อกดาวน์ทั่วโลก เศรษฐกิจหยุดชะงัก นักลงทุนทั่วโลกเทขายหุ้นเพื่อลดความเสี่ยง ส่งผลให้หุ้นทั่วโลกเข้าสู่ภาวะวิกฤตอีกครั้ง
ดัชนี SET ร่วงจากประมาณ 1,600 จุด เหลือเพียง 970 จุด ในไม่กี่สัปดาห์ แต่ครั้งนี้ใช้เวลาเพียงปีกว่าก็กลับมายืนที่ 1,600 จุดได้อีกครั้ง ซึ่งนับเป็นการฟื้นตัวที่เร็วที่สุดในวิกฤตทั้งหมด
แม้วิกฤตจะรุนแรงแค่ไหน ตลาดหุ้นไทยก็ฟื้นตัวกลับมาได้ทุกครั้ง สิ่งที่เราทำได้ คือ การเตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลง เพราะวิกฤตไม่เคยมีสัญญาณเตือน แต่ก็มักซ่อนโอกาสเอาไว้เสมอ นักลงทุนที่มีแผนที่ดี มีวินัย และไม่หวั่นไหวกับความผันผวน จะเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสได้เสมอครับ
#StockRadars #ทำเรื่องหุ้นเป็นเรื่องง่าย