สัปดาห์ที่แล้ว (31 มกราคม – 4 กุมภาพันธ์ 2565) หุ้นไทยปรับตัวเพิ่มอย่างเห็นได้ชัด โดยในตลอดทั้งสัปดาห์สามารถยืนในแดนบวกได้ช่วงปิดของแต่ละวันอีกด้วย ทั้งนี้ในแต่ละวันในสัปดาห์ หุ้นไทยปิดตลาดและมีมูลค่าซื้อขายสุทธิดังต่อไปนี้
⁃ วันจันทร์ ปิดตลาดที่ 1,648.81 จุด มูลค่าการซื้อขายรวม 68,340.82 ล้านบาท
⁃ วันอังคาร ปิดตลาดที่ 1,661.75 จุด มูลค่าการซื้อขายรวม 59,439.75 ล้านบาท
⁃ วันพุธ ปิดตลาดที่ 1,667.75 จุด มูลค่าการซื้อขายรวม 61,327.23 ล้านบาท
⁃ วันพฤหัสบดี ปิดตลาดที่ 1,669.05 จุด มูลค่าการซื้อขายรวม 68,034.20 ล้านบาท
⁃ วันศุกร์ ปิดตลาดที่ 1,674.22 จุด มูลค่าการซื้อขายรวม 72,549.40 ล้านบาท
ทั้งนี้ หากแบ่งแยกตามประเภทนักลงทุน พบว่านักลงทุนต่างประเทศมีมูลค่าการซื้อขายสุทธิในแดนบวกมากที่สุด ส่วนนักลงทุนทั่วไปภายในประเทศมีมูลค่าการซื้อขายในแดนลบมากที่สุด ในขณะที่กลุ่มอื่นๆ เป็นไปดังต่อไปนี้
⁃ นักลงทุนต่างประเทศ +2,280.23 ล้านบาท
⁃ บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ +1,338.99 ล้านบาท
⁃ สถาบันในประเทศ +1,610.99 ล้านบาท
⁃ นักลงทุนทั่วไปในประเทศ -5,230.22 ล้านบาท
ในส่วนของหุ้นที่มีปริมาณซื้อขายโดดเด่นในแดนบวกตอนปิดตลาดวันศุกร์ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี ได้แก่ PTT, GULF, TOP, PTTEP, EA, GPSC, PTTGC, SPRC, IRPC ตามมาด้วยกลุ่มธนาคารอย่าง KBANK, BBL เป็นต้น
ทั้งนี้ หลายหมวดธุรกิจก็สามารถยืนในแดนบวกได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มธนาคารที่มีแนวโน้มขาขึ้นต่อเนื่อง (+0.23%) และกลุ่มพลังงานมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นแต่ยังไม่ทะลุแนวต้านเดิม (+1.46%)
ส่วนกลุ่มที่มีแนวโน้มการแกว่งตัวขึ้นลง ได้แก่ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม (+0.24%) กลุ่มการเงิน (+0.30%) กลุ่มอุตสาหกรรม (+0.05%) กลุ่มปิโตรเคมี (+0.31%) กลุ่มบริการก่อสร้าง (+1.30%) กลุ่มบันเทิง (+0.80%) กลุ่มบริการเฉพาะกิจ (+0.81%) และกลุ่มเกษตร (+0.14%)
นอกจากนี้ บางกลุ่มยังคงอยู่ในช่วงย่อตัวลง เช่น กลุ่มผลิตภัณฑ์ผู้บริโภค (+0.36%) กลุ่มบรรจุภัณฑ์ (+0.16%) กลุ่มเหล็ก (+0.26%) กลุ่มวัสดุก่อสร้าง (+0.20%) กลุ่มขนส่ง (+0.05%) กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ (+3.84%) และกลุ่มกองทุนอสังหาฯ (+0.28%)
ในขณะที่กลุ่มอื่นๆ อาทิ กลุ่มสื่อสาร (-0.99%) กลุ่มเทคโนโลยี (-0.31%) กลุ่มท่องเที่ยว (-0.36%) กลุ่มสุขภาพ (-0.85%) เป็นต้นย่อตัวลงเล็กน้อยในแดนลบ
โดยในส่วนของสัปดาห์นี้ ต้องติดตามหลายๆ ปัจจัย อาทิ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอีกครั้ง ในขณะที่ดอลลาร์เริ่มมีแรงเทขายเพื่อทำกำไรจากท่าที FED ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ภาวะความตึงตัวของเงินเฟ้อในตลาดยุโรป และแรงซื้อของตลาดหุ้นเอเชียอย่างจีนที่จะกลับมาเป็นเช่นไรหลังจากเทศกาลตรุษจีนผ่านไป