นายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA เปิดเผยว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานของบริษัทในปีนี้ คาดว่าสัดส่วนรายได้ของธุรกิจจะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงชัดเจนขึ้น หลังจากบริษัทได้ขับเคลื่อนการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และจะเริ่มมีรายได้เข้ามามากขึ้นในปีนี้
ส่งผลให้คาดว่า สัดส่วนรายได้ของบริษัทจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมีรายได้จาก 2 ธุรกิจหลัก คือ ธุรกิจโรงไฟฟ้า อยู่ที่ประมาณ 60% ก็จะลดเหลือประมาณ 50% และธุรกิจไบโอดีเซล (B100) อยู่ที่ประมาณ 40-45% จะลดเหลือ ประมาณ 30-35% แต่ในปีนี้มีรายได้จากธุรกิจ EV เข้ามาประมาณ 10-20%
“ปีนี้ รายได้น่าจะโตราว 20% หลังธุรกิจ EV ที่เราบ่มเพาะมานาน ผลผลิตเริ่มออกมาแล้ว และเป็นตัวผลักดันที่สำคัญ เมื่อโรงงานแบตเตอรี่เสร็จ ทุกอย่างเสร็จในไตรมาส 1 ก็เริ่มผลิตและทยอยส่งมอบ ก็จะมีรายได้เข้ามา”
ทั้งนี้ โรงงานแบตเตอรี่ ระยะแรก ขนาด 1 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) จะแล้วเสร็จในไตรมาส 1 ปีนี้ ซึ่งจะช่วยขยายโอกาสการเติบโตของธุรกิจ โดยจะนำแบตเตอรี่มาใช้ในการผลิตทั้งในส่วนของรถยนต์ไฟฟ้า และเรือไฟฟ้าของบริษัทเอง
ขณะที่ยอดคำสั่งซื้อยานยนต์ไฟฟ้า ประเภทรถที่เกี่ยวกับการขนส่งสาธารณะ ปัจจุบันมีอยู่ในมือแล้วประมาณ 400-500 คัน ซึ่งมีทั้งที่เซ็นสัญญาแล้วและอยู่ระหว่างรอเซ็นสัญญา คาดว่าจะเริ่มทยอยส่งมอบได้ตั้งแต่ปลายไตรมาส 1 และต่อเนื่องในปีนี้
โดยบริษัทเตรียมผลิตและเริ่มส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้าได้ในช่วงต้นปี 64 ขณะที่จะเดินหน้าทำการตลาดและการขายรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มที่ในปีหน้า พร้อมทั้งจะขยายจุดติดตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย
สำหรับการต่อยอดธุรกิจแบตเตอรี่และรถยนต์ไฟฟ้า นับเป็นการขยายการเติบโตจากธุรกิจโรงไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ใหม่ ๆ ที่ยังให้มาร์จิ้นที่ดีเข้ามา หลังจากที่โครงการโรงไฟฟ้าที่มีอยู่ได้จำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) แล้วทั้งหมด
โดยส่วนการผลิตรถเมล์ไฟฟ้า เพื่อป้อนให้กับผู้ที่เข้าร่วมประมูลรถเมล์ไฟฟ้ากับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จำนวน 2,500 คันนั้น ก็ยังอยู่ในความสนใจของบริษัทและอยู่ระหว่างติดตามความคืบหน้าจากฝ่ายนโยบายต่อไป
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ยังต้องชะลอแผนออกไปก่อน เนื่องจากกลุ่มสหกรณ์แท็กซี่ ยังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ไม่สามารถหารายได้จากการให้บริการผู้โดยสารได้
ขณะที่ เรือไฟฟ้า จะส่งมอบให้ครบ 27 ลำภายในปลายเดือนมี.ค.นี้ หลังจากที่ได้เปิดทดลองให้บริการแล้ว 3 ลำโดยไม่มีค่าใช้จ่ายจนถึงวันที่ 14 ก.พ.2564 จากนั้นจะเริ่มเก็บค่าโดยสาร ซึ่งบริษัทก็จะมีรายได้จากตั๋วโดยสารเข้ามา
นายอมร กล่าวอีกว่า การลงทุนสถานีชาร์จไฟฟ้า บริษัท ยังมุ่งมั่นให้ได้ตามแผน 1,000 แห่ง จากปัจจุบันที่มีอยู่ประมาณ 400 แห่ง และจะเน้นการติดตั้งลักษณะของหัวชาร์จที่รองรับการใช้งานเชิงพาณิชย์มากขึ้น จากเดิมจะเป็นลักษณะการชาร์จปกติที่จะใช้เวลานาน (normal charge)
ส่วนธุรกิจไฟฟ้า ยังมองหาโอกาสการลงทุนโครงการทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยในส่วนของในประเทศจะเน้นโครงการขนาดเล็ก ต่ำกว่า 10 เมกะวัตต์ ส่วนในต่างประเทศ ขนาดต้องมากกว่า 100 เมกวัตต์ แต่จะต้องแน่ใจว่าคุ้มค่าต่อการลงทุน เพราะธุรกิจไฟฟ้าในปัจจุบันผลตอบแทนยังไม่จูงใจเหมือนอดีต ซึ่งปัจจุบัน บริษัท มีกำลังผลิตไฟฟ้าที่เดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ (COD) ครบ 6 โครงการ กำลังการผลิตรวม 664 เมกะวัตต์ (MW)
ในด้านธุรกิจไบโอดีเซล ยังไม่มีแผนขยายกำลังการผลิตเนื่องจากตลาดไม่ได้เติบโตมากนัก แต่จะมองเรื่องการต่อยอดไปยังธุรกิจที่มีมาร์จิ้นสูงอย่าง Bio Green Diesel ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องยนต์ และ BioPCM ที่เป็นสารควบคุมความแตกต่างของอุณหภูมิซึ่งจะช่วยในเรื่องการประหยัดพลังงานมากขึ้น
ทั้งนี้ บริษัทอยู่ระหว่างทบทวนเงินลงทุนสำหรับปีนี้ใหม่และคาดว่าจะใช้ไม่เกิน 1 หมื่นล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนต่อเนื่องจากปีก่อน
[เพิ่มเติม] ⭐️ เปิดบัญชีเทรดผ่าน StockRadars กับหลักทรัพย์ กรุงศรี วันนี้ไม่มีค่าใช้จ่าย ไม่มีขั้นต่ำ ง่าย อนุมัติเร็ว และ ยังได้ใช้ StockRadars “ฟรีทุกฟีเจอร์ !!”
สมัครเลยที่ 👉🏻 https://bit.ly/33AyotD
You must be logged in to post a comment.