“ดัชนี RSI เดือนพฤศจิกายน 2563 ชี้แนวโน้มความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคที่ฟื้นตัวต่อเนื่องในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมของภาคใต้ อย่างไรก็ดี ความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของ กทม. และปริมณฑลยังค่อนข้างทรงตัว”
นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง และนายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค เปิดเผยรายงานดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนพฤศจิกายน 2563 ที่เป็นการประมวลผลข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจรายจังหวัด จากสำนักงานคลังจังหวัด 76 จังหวัดทั่วประเทศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค พบว่า “ดัชนี RSI เดือนพฤศจิกายน 2563 ชี้แนวโน้มความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคที่ฟื้นตัวต่อเนื่องในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมของภาคใต้ อย่างไรก็ดี ความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของ กทม. และปริมณฑลยังค่อนข้างทรงตัว”
ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคใต้อยู่ที่ระดับ 70.5 แสดงถึงการคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นของดัชนีต่อเนื่องกันเป็นเดือนที่ 7 จากปัจจัยสนับสนุนของภาคอุตสาหกรรมและ ภาคเกษตรกรรม โดยในภาคอุตสาหกรรมคาดว่าภาวะเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวทั้งในและต่างประเทศประกอบกับมาตรการภาครัฐที่ยังคงสนับสนุนเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง สำหรับภาคเกษตรกรรมคาดว่าจะมีการเก็บเกี่ยวปาล์มเพิ่มขึ้นประกอบกับมีแนวโน้มความต้องการยางพาราในการผลิตถุงมือแพทย์และผลิตภัณฑ์ยางต่างๆ มากขึ้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อีกทั้งยังมีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐ เช่น การใช้น้ำมันปาล์มเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า และการส่งเสริมไบโอดีเซล เป็นต้น
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ที่ระดับ 69.7 ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 เช่นกัน สะท้อนถึงความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นโดยมีภาคเกษตรและภาคการจ้างงานเป็นปัจจัยสนับสนุน เนื่องจากผลผลิตสินค้าเกษตรโดยรวม อาทิ ข้าว ยางพารา และ สับปะรด มีทิศทางปรับตัวดีขึ้นจากปริมาณน้ำฝนที่เพียงพอ ประกอบกับมีการส่งเสริมการจ้างงานของภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ อีกทั้งยังเป็นช่วงเข้าสู่ฤดูกาลเพาะปลูกรอบใหม่และเป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว ทำให้มีการจ้างงานในภาคเกษตรกรรมและภาคบริการเพิ่มขึ้น สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันตกอยู่ที่ 65.9 ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน แสดงถึงความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในอนาคตที่ดีขึ้น โดยมีภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรเป็นปัจจัยสนับสนุนหลัก เนื่องจากคาดว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จะดีขึ้นเป็นลำดับส่งผลให้มีคำสั่งซื้อสินค้าทั้งในภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมมากขึ้นจากทั้งความต้องการสินค้าในประเทศและต่างประเทศ อีกทั้งภาครัฐยังมีนโยบายสนับสนุนภาคเกษตรกรรมอย่างต่อเนื่อง สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของภาคเหนืออยู่ที่ระดับ 62.9 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าโดยเฉพาะในภาคบริการและภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว ประกอบกับภาครัฐมีมาตรการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวมจะปรับตัวดีขึ้น ทำให้มีความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น และรัฐบาลยังมีมาตรการช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมด้านเงินทุนและการพัฒนาด้านการผลิตซึ่งช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าให้ดียิ่งขึ้น
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของภาคตะวันออกอยู่ที่ระดับ 62.4 ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากภาคเกษตรกรรมกำลังเข้าสู่ฤดูกาลเก็บเกี่ยวและมีนโยบายจากภาครัฐในการขับเคลื่อนและสนับสนุนภาคเกษตรอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งภาคอุตสาหกรรมยังได้แรงสนับสนุนจากการลงทุนภาครัฐ และการขยายตัวของธุรกิจค้าปลีกออนไลน์และโลจิสติกส์ สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของภาคกลางอยู่ที่ 56.7 โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากภาคบริการและภาคการเกษตร เนื่องจากคาดว่ารัฐบาลจะทยอยเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น ส่วนในภาคเกษตรกรรมคาดว่าสภาพอากาศจะเอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของ กทม. และปริมณฑล อยู่ที่ระดับ 50.5 แสดงถึงความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในอนาคตที่ยังค่อนข้างทรงตัว แม้จะมีภาคอุตสาหกรรมเป็นปัจจัยสนับสนุน แต่การลงทุนยังมีแนวโน้มชะลอตัว
[เพิ่มเติม] ⭐️ เปิดบัญชีเทรดผ่าน StockRadars กับหลักทรัพย์ กรุงศรี วันนี้ไม่มีค่าใช้จ่าย ไม่มีขั้นต่ำ ง่าย อนุมัติเร็ว และ ยังได้ใช้ StockRadars “ฟรีทุกฟีเจอร์ !!”
สมัครเลยที่ 👉🏻 https://bit.ly/33AyotD