วันนี้ (27 ตุลาคม 2563) กรมสรรพากรได้ร่วมมือกับสถาบันการเงิน 11 ธนาคาร ในการนำนวัตกรรมมาใช้ ภายใต้ชื่อ “นวัตกรรมระบบภาษีหัก ณ ที่จ่ายอิเล็กทรอนิกส์ (e-Withholding Transformation)” เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการธุรกิจขนาดใหญ่ กลาง เล็ก และผู้เสียภาษี ซึ่งสามารถใช้บริการได้ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2563 เป็นต้นไป
โดย ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า “นวัตกรรมระบบภาษีหัก ณ ที่จ่ายอิเล็กทรอนิกส์ (e-Withholding Tax) เป็นหนึ่งในระบบภาษีที่กรมสรรพากรได้พัฒนาขึ้นในการเปลี่ยนแปลงการทำงานสู่ดิจิทัล (Digital Transformation) ซึ่งระบบดังกล่าว จะให้ผู้เสียภาษีเป็นศูนย์กลาง เพื่อให้การจัดการภาษีเป็นเรื่องง่ายมากขึ้นกว่าเดิม เพราะแต่เดิมนั้น ผู้ที่จ่ายเงินจะต้องยื่นแบบแสดงรายการและนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่าย ให้กรมสรรพากร และจัดทำเอกสารหลักฐานหนังสือรับรองให้ผู้รับเงินเอง และเปลี่ยนมาเป็นการให้สถาบันการเงินหรือธนาคารเป็นตัวกลางดำเนินการหักภาษี ณ ที่จ่ายแทน ซึ่งวิธีนี้จะช่วยลดขั้นตอน ลดต้นทุน ลดภาษี มีมาตรฐานความปลอดภัยในระดับสากล สามารถจำกัดสิทธิการเข้าถึงและเปิดเผยข้อมูลได้ โดยได้เปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 – 31 ธันวาคม 2564”
โดยระบบ e-Withholding Tax จะประกอบด้วยผู้เกี่ยวข้อง 4 ฝ่ายด้วยกัน คือ ผู้จ่ายเงิน, ธนาคารผู้ให้บริการระบบ, ผู้รับเงินซึ่งเป็นผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย และกรมสรรพากร, ผู้รับเงิน
(โดยผู้จ่ายเงินจะจ่ายเงินผ่านธนาคารพร้อมแจ้งข้อมูล ที่กำหนด เมื่อธนาคารได้รับเงินแล้วจะออกหลักฐานเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่ผู้จ่ายเงิน)
และมีขั้นตอนการจ่ายเงิน ดังนี้
1) ผู้จ่ายเงินจะจ่ายเงินผ่านธนาคารพร้อมแจ้งข้อมูลที่กำหนด
2) เมื่อธนาคารได้รับเงินแล้วจะออกหลักฐานเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่ผู้จ่ายเงินและผู้รับเงิน พร้อมทั้งจ่ายเงินหลังหักภาษีให้แก่ผู้รับเงิน
3) จากนั้นจะนำส่งข้อมูลและภาษีที่หักไว้ไปยังกรมสรรพากรภายในเวลาไม่เกิน 4 วันทำการ ถัดจากวันที่ธนาคารได้รับเงิน
4) และกรมสรรพากรจะออกใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่ผู้จ่ายเงิน
(โดยในกรณีนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่ายขาดไป ผู้จ่ายเงินสามารถนำส่งภาษีเพิ่มเติมผ่านระบบนี้ได้เช่นเดียวกัน)
ซึ่งธนาคารที่เปิดให้บริการ e-Withholding Tax ในขณะนี้มีจำนวน 11 ธนาคาร
โดยนายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า “ภาคธุรกิจการเงินได้ร่วมเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญต่อการขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment) เพื่อผลักดันระบบการชำระเงินของประเทศเข้าสู่ดิจิทัลทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงบุคคลทั่วไป โดยพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงิน (Payment Infrastructure Development) ส่งเสริมการเข้าถึง e-Payment ผ่านพร้อมเพย์เพื่อลดการใช้เงินสดและเช็ค พัฒนาระบบรับชำระทั้งขารับและขาจ่าย ส่งเสริมการใช้บัตรเดบิตและเครดิตอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับการพัฒนาระบบการชำระภาษีของกรมสรรพากร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการคืนภาษีผ่านระบบพร้อมเพย์ที่ขยายจากบุคคลธรรมดามาสู่นิติบุคคล ช่วยให้การคืนภาษีรวดเร็ว ถูกต้อง และมีประสิทธิภาพ”
สรุปประโยชน์การใช้บริการ e-Withholding Tax ได้ดังนี้
1) ลดขั้นตอน เนื่องจากไม่ต้องจัดทำและยื่นแบบรายการหัก ณ ที่จ่าย และไม่ต้องจัดเก็บเอกสารหลักฐานที่เป็นกระดาษ
2) ลดต้นทุน เพราะไม่ต้องจัดทำหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย
3) ลดภาษี เนื่องจากการลดภาษีหัก ณ ที่จ่าย จาก 3% เป็น 2%
4) ตรวจสอบได้ โดยสามารถตรวจสอบข้อมูลการหักภาษี ณ ที่จ่ายได้ที่ www.rd.go.th ตลอดเวลา
ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าการดำเนินการจ่ายภาษีแต่เดิมนั้นมีขั้นตอนและใช้ระยะเวลามากกว่า โดยบริการ e-Withholding Tax นี้ จะใช้เทคโนโลยีสารสนเทศพัฒนาระบบงานและผสานเข้ากับเทคโนโลยีทางการเงินต่างๆ ซึ่งช่วยเพิ่มความง่าย ความสะดวก ลดขั้นตอน เพื่อให้เป็นที่ถูกใจแก่ผู้เกี่ยวข้องในทุกระดับ และจะช่วยลดภาระในการจัดทำ และยื่นแบบรายการหักภาษี ณ ที่จ่ายไปยังกรมสรรพากร รวมถึงการจัดเก็บเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสามารถใช้บริการได้ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2563 เป็นต้นไป
[เพิ่มเติม] ⭐️ เปิดบัญชีเทรดผ่าน StockRadars กับหลักทรัพย์ กรุงศรี วันนี้ไม่มีค่าใช้จ่าย ไม่มีขั้นต่ำ ง่าย อนุมัติเร็ว และ ยังได้ใช้ StockRadars “ฟรีทุกฟีเจอร์ !!”
สมัครเลยที่ 👉🏻 https://bit.ly/33AyotD
You must be logged in to post a comment.