ตั้งแต่มีประวัติศาสตร์โลกมา 10,000 ปี ก็มีหลักฐานโรคระบาดเกิดขึ้นอยู่มากมาย แต่โรคระบาดที่รุนแรงที่สุด คงต้องยกให้ “กาฬโรค”
โรคระบาดที่คร่าชีวิตมนุษย์โลกไปกว่า 100 ล้านคน
กาฬมรณะ หรือ Black Death
เป็นโรคระบาดทั่วโลก ครั้งที่ก่อความเสียหายมากที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษย์ ทวีความรุนแรงมากที่สุด ในทวีปยุโรประหว่างปี ค.ศ. 1348–50
ไม่น่าเชื่อว่าด้วยการคมนาคมสมัยก่อน ที่ไม่รวดเร็วทันใจเหมือนสมัยนี้ การระบาดยังเป็นได้ขนาดนี้
และกาฬโรคก็เคยเป็นโรคระบาดที่ต้องรายงานต่อองค์การอนามัยโลก (WHO)
โดยสามารถแพร่ได้ในอากาศ ผ่านการสัมผัสโดยตรง หรือผ่านวัสดุที่ปนเปื้อน
อาการของผู้ป่วยตอนนั้นคือ มีฝีที่บริเวณผิว แพร่กระจายทั่วร่างกาย และเป็นสีดำ เนื่องจากเลือดออกใต้ชั้นหนังกำพร้า
ทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นประชากรของทวีปยุโรป กว่า 30-60%
นั่นคือการระบาดรุนแรง การสูญเสียที่เกิดจากสงครามโลก 2 ครั้งรวมกันซะอีก
แล้วสถานการณ์ตอนนั้นเป็นอย่างไร?
1. จากประวัติศาสตร์คาดว่ากาฬโรคเริ่มต้นขึ้นในจีนหรือเอเชียกลาง
2. การแพร่ระบาดจากจีนไปยุโรป ไปตามเส้นทางเส้นทางสายไหม
3. สาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรีย Yersinia pestis ซึ่งแพร่ระบาดอยู่ในสัตว์จำพวกหนู และหมัดเป็นตัวแพร่สู่มนุษย์
4. กาฬโรคมีผลต่อเส้นทางประวัติศาสตร์ยุโรป ก่อให้เกิดทั้งกลียุคทางศาสนา สังคมและเศรษฐกิจ
5. จากการสูญเสียประชากรยุโรปเยอะมาก ทำให้กว่าจะกลับคืนจำนวนได้ ต้องใช้เวลาประมาณ 150 ปี
6. ผู้รอดชีวิตส่วนมาก จะพากันอพยพเข้าตัวเมืองที่ใหญ่กว่า แล้วทิ้งหมู่บ้านไป จนกลายเป็นหมู่บ้านร้าง
7. กาฬโรคเกิดขึ้นซ้ำเป็นครั้งคราวในทวีปยุโรป จนกระทั่งคริสต์ศตวรรษที่ 19 หรือกว่า 500 ปีต่อมา
ซึ่งการแพร่ระบาดในยุโรปนั้น คาดว่าเริ่มต้นจาก กองเรือสินค้าที่อพยพมาจากเมือง เคฟฟา (Caffa) มาที่ท่าเรือ เมซซิน่า (Messina) ประเทศอิตาลี
ในเวลาที่เรือเทียบท่า ลูกเรือทุกคนติดเชื้อหรือเสียชีวิตแล้ว จึงสัณนิษฐานได้ว่า เรือได้นำเอาหนูติดเชื้อที่เป็นพาหะนำโรคมาด้วย
ซึ่งเรือบางลำที่ยังไม่เทียบท่า กลายเป็นเรือร้างลอยลำอยู่กลางน้ำ เพราะว่าทุกคนบนเรือเสียชีวิตหมด พวกโจรสลัดที่เข้าไปปล้นเรือ ก็ได้ช่วยให้กาฬโรคแพร่ระบาดอีกทางหนึ่ง
นั่นคือการระบาดได้กระจายจาก จีนัว (Genoa) และ เวนิช (Venice) ในช่วงปี ค.ศ. 1347-1348
จากประเทศอิตาลี แพร่ระบาดไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ข้ามยุโรป ไปฝรั่งเศส สเปน โปรตุเกส และอังกฤษ ในเดือนพฤษภาคมปี ค.ศ. 1348
หลังจากนั้น ก็แพร่ไปกระจายไปทางทิศตะวันออกไปยังประเทศเยอรมนี และแถบสแกนดิเนเวีย
นั่นคือ ในช่วงปี ค.ศ. 1348-1350 พบว่ามีการระบาดไปทั่ว ไม่ว่าจะที่นอร์เวย์ รัสเซีย โปแลนด์ เบลเยี่ยม หรือแม้กระทั่งเนเธอร์แลนด์
และนอกจากการแพร่ระบาดในยุโรปแล้ว ยังมีบันทึกประวัติศาสตร์การแพร่ระบาดในเอเชียด้วย
โดยกาฬโรคเริ่มระบาดในแถบหูเป่ย ในปี ค.ศ. 1334 จากบันทึกเก่าแก่ของจีน บันทึกไว้ว่า การแพร่ระบาดได้กระจายไปใน 8 พื้นที่ของจีน ได้แก่ หูเป่ย เจียงซี ซานซี หูหนาน กวางตุง กวางซี เหอหนาน และซุยยวน
แต่ว่าข้อมูลนี้ได้มาจากผู้ที่รอดชีวิตจากยุคนั้น และยังไม่มีการศึกษาเพิ่มเติมในเบื้องลึก ซึ่งคาดว่ากองคาราวานพ่อค้าชาวมองโกล จะเป็นผู้นำเอากาฬโรคที่ระบาดที่เอเชียตอนกลางไปยังยุโรป
แล้วโรคระบาดกระทบเศรษฐกิจหนักแค่ไหน?
1. ที่ยุโรปมีการใช้วิธีห้ามการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภค กวาดล้างตลาดมืด ควบคุมราคาธัญพืช และการหาปลาบริเวณกว้างแบบผิดกฎหมาย
2. ส่งผลกระทบประเทศคู่ค้า เช่น อังกฤษไม่สามารถนำเข้าธัญพืชจากฝรั่งเศสได้
3. ผู้ผลิตส่วนมากไม่สามารถเก็บเกี่ยวได้เต็มที่ เพราะว่าขาดแคลนแรงงาน
4. ผลผลิตที่เตรียมส่งออกแต่ถูกระงับ ก็ถูกปล้นสะดมโดยพวกโจรสลัด และหัวขโมยก็เอาไปขายต่อในตลาดมืด
5. ตอนนั้นอังกฤษและสก็อตแลนด์ ตกอยู่ในช่วงภาวะสงคราม และต้องใช้งบประมาณจำนวนมากไปกับการรับมือปัญหาสินค้าราคาสูง
6. เนื่องจากยุโรปได้สูญเสียประชากรอย่างมาก ทำให้เกิดการแข่งขันแย่งชิงแรงงานระหว่างเจ้าของที่ดิน (landlords) โดยการเพิ่มค่าแรง และสวัสดิการแรงงานเพื่อดึงดูดใจแรงงานที่มีอยู่อย่างจำกัด
สุดท้ายกาฬโรคสามารถรักษาหายได้ หลังจากค้นพบแบคทีเรีย “Yersinia pestis” จึงมีการพัฒนาและทดลองใช้วัคซีนต้านเชื้อกาฬโรคในต่อมน้ำเหลืองเป็นครั้งแรก ในปี ค.ศ. 1897 ปัจจุบันกาฬโรคสามารถรักษาหายได้หากตรวจพบเร็ว โดยใช้ยาปฏิชีวนะต่างๆ
และจากบทเรียนกาฬโรคที่เกิดขึ้นเมื่อ 700 ปีก่อน ทำให้เห็นว่าโรคระบาดกระทบทั้งสังคมและเศรษฐกิจอย่างหนัก และด้วยตอนนี้เรากำลังเจอโรคระบาดระดับโลกครั้งใหม่อย่าง โควิด-19 ซึ่งตรงนี้คงไม่มีใครรู้อนาคตว่าโรคระบาดรอบนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป เราคงทำได้ด้วยการ ป้องกันตัวเองอยู่เสมอ และเรียนรู้บทเรียนจากประวัติศาสตร์
เตรียมตัวให้พร้อม
เพราะเมื่อพายุผ่านพ้น คลื่นลมสงบ ขอให้เรือเราพร้อม และเรดาร์หาโซนที่ดีไว้แล้ว วันนั้นอาจมีปลาฝูงใหญ่รอเราอยู่
Reference :
– https://th.m.wikipedia.org/wiki/แบล็กเดท
– https://th.m.wikipedia.org/wiki/กาฬโรค
– https://www.hfocus.org/content/2014/08/7906
เพิ่มเติม:
กาฬโรคระบาดในไทย ในสมัยพระเจ้าอู่ทอง ยุคกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ.1893 เรียกว่า โรคห่า และแพร่กระจายเข้ามาในไทยอีกในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยมีปรากฏในเอกสารเก่า (สำเนาพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ขณะทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ร.ศ. 116 พิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 14 ร.ศ.116) เรื่องห้ามเรือจากซัวเถาเข้ากรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. 2440 ว่า “กาฬโรค (คือโรคห่า) ได้เกิดขึ้นที่เมืองซัวเถานั้น……กำปั่นลำหนึ่งลำใดออกจากเมืองซัวเถาและจะเข้ามาในกรุงนี้ ต้องหยุดทอดสมอที่เกาะไผ่ในกำหนดเก้าวันเต็มแล้ว และถ้าแพทย์ได้ตรวจแจ้งว่ากาฬโรค……ไม่ได้มีและได้เกิดในเรือนั้นแล้ว จึงจะยอมให้กำปั่นลำนั้นเดินต่อไปจนถึงที่จอดในกรุงนี้ได้”
You must be logged in to post a comment.