หลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อัดมาตรการพร้อมเสริมสภาพคล่องตลาดตราสารหนี้แล้ว ลองมาดูมุมมองนักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์กันดูว่ามีความเห็นต่อ 3 มาตรการนี้ออกมาอย่างไรบ้าง
เข้าใจมาตรการง่ายๆ กับ ดร.วิน
“ดร.วิน พรหมแพทย์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) พรินซิเพิล อธิบายการแถลงมาตรการดังกล่าวให้เข้าใจง่ายว่า สิ่งที่ ธปท. แถลงวันนี้คือ “สรุปมาตรการเสริมสภาพคล่องให้กองทุนรวมตราสารหนี้”
เพราะปัญหาที่พบตอนนี้ คือ สภาพคล่อง (Liquidity) กองทุนตราสารหนี้ส่วนใหญ่ลงทุนในตราสารภาครัฐและเอกชนคุณภาพดี ถ้าเราลงทุนแล้วอยู่เฉยๆ เมื่อครบกำหนด เราก็ได้เงินต้นคืนพร้อมดอกเบี้ย แต่ตลาดตราสารหนี้มีสภาพคล่องน้อยกว่าตลาดหุ้น ถ้าทุกคนพร้อมใจขายเวลาเดียวกัน จะถูกกดราคา และอาจต้องขายขาดทุน ธปท. พร้อมด้วยหน่วยงานภาครัฐ จึงออกมาตรการ 3 ข้อ ดังนี้
1. มาตรการเสริมสภาพคล่อง คือ ถ้ากองทุนไหนถูกคำสั่งขายคืนเยอะๆ ธนาคารพาณิชย์สามารถเข้าไปช่วยซื้อหน่วยลงทุน แล้วเอาหน่วยที่ซื้อไปขายให้ ธปท. พร้อมทำสัญญาว่าจะซื้อคืนในอนาคต (การทำธุรกรรมขายพร้อมกับสัญญาว่าจะซื้อคืน เรียกว่า Repurchase Agreement หรือ Repo) เพราะฉะนั้น กองทุนไหนที่มีคนมาขายหน่วยเยอะๆ ก็จะมีธนาคารมาช่วยรับซื้อหน่วย เอาไปฝากไว้ที่แบงค์ชาติอีกที ผลลัพธ์คือช่วยลดความปั่นป่วนในตลาดตราสารหนี้ และสร้างความมั่นใจให้นักลงทุน
2. ตั้งกองทุนลงทุนในหุ้นกู้เอกชน วงเงิน 70,000 – 100,000 ล้านบาท เพื่อลงทุนในหุ้นกู้ออกใหม่ของบริษัทที่มีคุณภาพดี แต่ประสบปัญหาตลาดขาดสภาพคล่อง ให้สามารถต่ออายุ (rollover) ตราสารหนี้ที่ครบกำหนดได้ครบทั้งจำนวน
3. ธปท. ตั้งโต๊ะรับซื้อพันธบัตรรัฐบาล (เรียกว่า Open Market Operation หรือ OMO) เพื่อเสริมสภาพคล่อง แปลว่า กองทุนไหนจำเป็นต้องขาย ธปท. ก็ช่วยรับซื้อให้ โดยทำไปแล้วกว่า 100,000 ล้านบาท และจะทำอีกอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ขอให้ผู้ลงทุนไม่ควรกังวล หรือตื่นตระหนก ขอย้ำอีกครั้งว่า ปัญหาไม่ใช่เรื่องความเสี่ยงด้านเครดิต แต่เป็นเรื่องสภาพคล่อง มาตรการที่ออกมาครั้งนี้ จึงเป็นการ “เสริมสภาพคล่อง” ให้ตลาดตราสารหนี้ทำงานต่อไปได้ตามปกติ
มาตรการยิงกระสุนครั้งเดียวได้นก 2 ตัว
“ดร.อมรเทพ จาวะลา” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย วิเคราะห์ถึงมาตรการดังกล่าวดังนี้
1. อัตราผลตอบแทนพันธบัตรน่าจะลดความผันผวนได้บ้างในสัปดาห์นี้และน่าจะลดความเสียหายสำหรับนักลงทุนที่เทขายหรือลดความตกใจไม่ให้คนแห่ขายเพราะกลัวขาดทุน
แต่ยังต้องรอดูต่อไปว่าตลาดเงินโลกเป็นอย่างไร เพราะแรงขายไม่ได้มีเพียงตลาดไทยเท่านั้น บอนด์ยิลด์ที่เด้งขึ้นจากแรงเทขายมีหลายตลาดรวมทั้งในสหรัฐ นักลงทุนระยะยาวไม่น่าได้รับผลกระทบ แต่นักลงทุนระยะสั้นที่ขาดสภาพคล่องคงต้องทบทวนกันบ้าง แต่อย่างน้อยก็มีกองทุนนี้ดูแล ส่วนความผันผวนในตลาดการเงินที่ไม่ปกติทั่วโลกยังอยู่นะครับ ตราบใดที่ปัญหาโควิด-19ยังกระทบเศรษฐกิจและการเงินโลก
2. การออกมาตรการคล้าย QE ของไทยนับเป็นก้าวใหม่ที่น่าชื่นชมในการดูแลสภาพคล่องและเปิดประตูการใช้นโยบายใหม่ของธปท. ที่มากกว่าดอกเบี้ยนโยบาย
แต่ในอนาคต เราจะมองว่าดอกเบี้ยไทยจะอยู่ในระดับต่ำยาว รวมทั้งน่าจะลดอีกครั้ง 0.25% สู่ระดับ 0.50% ในวันพุธที่ 25 มี.ค. นี้ และอาจต้องเตรียมพร้อมที่ธปท.จะขยายวงเงินมากกว่า 1 ล้านล้านบาทในการดูแลสภาพคล่องในอนาคต และอาจรอดูว่าจะครอบคลุมสินทรัพย์อื่นได้หรือไม่ต่อไป
“ขณะที่คนยังไม่พูดคือเรื่องค่าเงินบาทที่น่าจะอ่อนค่าจากสภาพคล่องที่มากขึ้น ภาพนี้น่าจะเหมือนยิงกระสุนนัดเดียวได้นกสองตัว คือออกมาตรการเสริมสภาพคล่อง นอกจากช่วยแก้ปัญหาความผันผวนในตลาดตราสารหนี้อย่างที่เห็นแล้ว ผมยังมองว่าจะช่วยให้บาทอ่อนค่าได้ด้วย เพราะการทำ QE แบบนี้คงน่าจะลดความน่าสนใจของเงินบาทมากขึ้นไปอีก และในระยะยาวน่าจะนำมาใช้เพื่อสอดรับช่วงบาทแข็งเกินสกุลเงินเพื่อนบ้าน รอดูกันต่อไปครับ ตอนนี้ยังประเมินยากและเชื่อว่า ธปท.คงไม่มีจุดประสงค์นี้โดยตรง”
3. มาตรการตั้งกองทุนนี้จะดูแลกลุ่มตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือดี
แต่กลุ่มตราสารหนี้ที่ไม่มี rating หรือ non-investment grade ที่มีความเสี่ยงสูงอยู่แล้ว จะเป็นเช่นไร ส่วนนี้คงได้รับผลกระทบตามภาวะเศรษฐกิจและผลประกอบการของบริษัท แต่ผลกระทบจะจำกัดกับนักลงทุนผู้รับความเสี่ยงได้สูง แต่สภาพคล่องที่สูงก็น่าลดความเสี่ยงได้บ้าง แต่ไม่อยากให้มองเป็น moral hazard คือเหมือนธปท.หรือหน่วยงานใดจะมาอุ้มไม่ให้นักลงทุนเสียหายจากการลงทุนที่เสี่ยงนะครับ เพราะที่ลงทุนในสินทรัพย์นี้ก็ต้องมีความรู้และรองรับความเสี่ยงได้พอสมควรแล้ว
SET ลงต่อ ยังไร้มาตรการช่วยตลาดทุน
ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส ประเมินว่ามาตรการดังกล่าวที่เตรียมเงินสนับสนุน โดยเน้นไปที่ตลาดตราสารหนี้ ทั้งตลาดรองที่มีแรงขายออกมา และตราสารหนี้ที่ครบกำหนดผ่านเม็ดเงินไว้ซื้อระยะเวลา 270 วัน สะท้อนความกังวลในตลาดการเงิน ส่วนตลาดหุ้นไม่มีมาตรการอะไรออกมา
โดยรวมทำให้คาดดัชนีหุ้นไทยวันพรุ่งนี้ (23 มี.ค. )จะยังถูกกดดันจากประเด็น COVID-19 ลงต่อ หลังจากจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุดสะสมอยู่ที่ 599 ราย
You must be logged in to post a comment.