8 มี.ค. เป็นวันสตรีสากล ถือว่ายุคนี้ผู้หญิงมีบทบาทและขึ้นมาเป็นผู้นำองค์กรขนาดใหญ่หลายแห่งกว่าเมื่อก่อน ลองมาดูกันว่าปัจจุบันบริษัทที่มีมูลค่าสูงสุดในตลาดหลักทรัพย์ 50 อันดับแรก (SET50) มี CEO ที่เป็นแม่ทัพหญิงคนสำคัญ ทั้งหมดถึง 10 คน ซึ่งเป็นใครกันบ้างลองมาดูกัน โดยจัดอันดับตามขนาดมาร์เก็ตแคปที่มากสุด (ณ 5 มี.ค. 2563)
อันดับ 1 “นฤมล น้อยอ่ำ” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (รักษาการ) และกรรมการ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (ฺBDMS) ถือเป็นนักบริหารที่มีหัวใจด้านการเงินมาตั้งแต่เรียนปริญญาตรี เศรษฐศาสตร์บันฑิต (เกียรตินิยม) การเงินและการคลัง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจ (สาขาการเงินการธนาคาร) มหาวิทยาลัยนอร์ทเท็กซัสสเตท สหรัฐ ผ่านการเป็นผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวาณิชธนกิจ ธนาคารทหารไทย และ ฝ่ายการเงิน บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มาก่อน
และก่อนที่จะมารักษาการตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ของ โรงพยาบาลในเครือกรุงเทพทั้งหมด คุณนฤมลเป็นประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน (CFO) ที่คอยตกผลึกว่าจะใช้เครื่องมือทางการเงินหรือตราสารทุนอะไร สำหรับการใช้ซื้อกิจการหรือขยายการลงทุนของกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพและในเครือ เรียกได้ว่าไม่ให้สภาพคล่องต้องมาสะดุดหรือเป็นอุปสรรคต่อการขยายงานกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพกันเลยทีเดียว
อันดับ 2 “ขัตติยา อินทรวิชัย” กรรมการผู้จัดการ กำลังจะขึ้นเป็น ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ถือเป็นก้นหมอของ KBANK เพราะเป็นนักเรียนทุนของกสิกรไทยไปต่อระดับ M.B.A Finance and Investment University of Texas at Austin, U.S.A และเข้าทำงานที่นี่มาตลอดกว่า 32 ปี และในการประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปีที่จะเกิดขึ้นในเดือน เม.ย.นี้ คุณขัตติยาจะมีการขยับจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารที่มารับช่วงต่อจาก “บัณฑูร ล่ำซำ” อย่างเป็นทางการ และยังถือเป็น ซีอีโอหญิงคนแรกของแบงก์นี้อีกด้วย
อันดับ 3 “วัลลภา ไตรโสรัส” กรรมการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป (AWC) ลูกสาวของ “เจริญ” และ “คุณหญิงวรรณา” สิริวัฒนภักดี ที่งานนี้รอเวลาการจัดและปรับโครงสร้างธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ทั้งหมดของในกลุ่ม และกลายเป็นที่ฮือฮาในทุกย่างก้าวของธุรกิจเครือนี้ เนื่องจากเป็นหุ้นตัวแรกเลยของกลุ่มสิริวัฒนภักดีมีการเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) หลังจากที่ก่อนหน้าเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ด้วยการซื้อกิจการและเข้า SET ทางอ้อมมาโดยตลอด พร้อมกับมาด้วยการทำลายสถิติหุ้นไอพีโอที่มีมาร์เก็ตแคปสูงสุดตั้งแต่มีตลาดหุ้น และเป็นฟาสแทร็กที่ทำให้ SET 50 ทันที
อันดับ 4 “พเยาว์ มริตตนะพร” กรรมการผู้จัดการ และกรรมการ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ร่วมกับ “ดร.สมบัติ กิจจาลักษณ์” ซึ่งตำแหน่งเดิมของคุณพเยาว์คือ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ (BECL) เพราะมีมติการควบรวมกับบริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ (BMCL) เมื่อปี 2558 ซึ่งถือเป็นบริษัทลูกของเครือบริษัท ช.การช่าง (CK) ด้วยกันทั้งคู่ก่อนที่จะกลายเป็น BEM อย่างปัจจุบันนี้
ขณะที่สามีคุณพเยาว์ คือ “ประเสริฐ มริตตนะพร” ปัจจุบันเป็นกรรมการและถือเป็นมือ CFO ที่อยู่กับ CK ทั้งช่วงขาขึ้นและขาลงมาตลอด โดยลูกสาวคนโต “ปิยนุช มริตตนะพร” ก็ทำหน้าที่เป็น CFO บริษัท ซีเค พาวเวอร์ (CKP) ก่อนที่ตามรอยคุณพ่อที่เป็น CFO ช.การช่างในปัจจุบัน จึงถือว่าเป็นครอบครัวนักการเงินกันทั้งบ้าน
อันดับ 5 “วรรณิภา ภักดีบุตร” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โอสถสภา (OSP) จากเศรษฐศาสตร์บัณฑิต และMBA San Diego State University สหรัฐ เธอผู้นี้มีประสบการณ์การทำงานกลุ่มยูนิลีเวอร์มากว่า 30 ปี และในห้วงเวลาที่นั้นถึง 14 ปีที่ทำหน้าที่ดูแลเรื่องการบริหารแบรนด์ของกลุ่ม ก่อนที่จะคุณเพชร โอสถานุเคราะห์ ได้เชิญให้มาร่วมทำงานด้วยกันตั้งแต่กลางปี 2559 เพื่อเป็นหนึ่งในแม่ทัพช่วยขับเคลื่อนองค์กรจากธุรกิจครอบครัวจนปัจจุบันเข้าสู่ปี 129 เป็นบริษัทมหาชนเข้าตลาดหุ้นปี 2561 โดยตั้งหลักเป็นบริษัทที่มีสินค้าอุปโภคบริโภคสู่การเป็นผู้นำในตลาดอาเซียน
อันดับ 6 “ปรียนาถ สุนทรวาทะ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) จากนิสิตพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มทำงานการเงินกับไทยสมุทรประกันภัย ก่อนย้ายมาที่ดีธแฮมธ์ จนได้นำประสบการณ์ที่ทำงานธุรกิจครอบครัวและอินเตอร์มาเป็นระบบแฟมิลี่ที่อินเตอร์ที่บี.กริม จากคำชวนของคุณฮาราลด์ ลิงค์ ประธานใหญ่
จนวันหนึ่งที่ได้รับมอบหมายให้รุกธุรกิจโรงไฟฟ้า ด้านหนึ่งก็ต้องการให้เกิดกลยุทธ์เพื่อให้มีกำไรในอนาคต แต่ขณะเดียวบริษัทก็กำลังมีการปรับโครงสร้างหนี้ช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ซึ่งเธอเชื่อเสมอว่า ความเป็นผู้หญิงของการเป็นผู้บริหารสร้างความแตกต่างที่ผู้ชายไม่มี เช่น ทำให้ทุกอย่างดูซอฟท์ในการเจรจาหนี้ มีความยืดหยุ่น และลงรายละเอียดได้ดีกว่าผู้ชาย จนถึงวันนี้เธอทำงานที่นี่กว่า 30 ปี ที่ยังผลักดันให้ BGRIM เข้าตลาดหุ้น พร้อมเป็นบริษัทด้านพลังงานระดับอาเซียน แม้ปัจจุบันใกล้กำหนดเกษียณ แต่ยังคงช่วยกับบริษัทนี้ต่อไป เพียงขอไปทำในบทบาทที่ปรึกษาแทน
อันดับ 7 “ภญ.อาทิรัตน์ จารุกิจพิพัฒน์” ผู้อำนวยการด้านบริหาร บริษัท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ (BH) เริ่มต้นจากปริญญาตรีเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโท การบริหารจัดการเชิงกลยุทธ์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ และต่อด้วยการการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ จากสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์
เธอมีประสบการณ์การทำงานบริหารจัดการโรงพยาบาลทั่วไทยกว่า 25 ปี โดยเป็นผู้บริหารระดับสูงอยู่กับ BH ต่อเนื่องมา 8 ปี ก่อนที่จะได้รับหน้าที่เป็น CEO แทน รศ. นพ. สมศักดิ์ เชาว์วิศิษฐ์เสรี ที่มีความประสงค์ขอเกษียณอายุการทำงาน ตั้งแต่เดือน ม.ค. ปี 2562 และถือว่าเธอเป็นผู้บริหารคนหนึ่งที่มีบทบาทเพราะทำให้ รพ.มีการสื่อสารและเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น
อันดับ 8 “ธิดา แก้วบุตตา” ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์องค์กร และฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น (SAWAD) เธอกับพี่สาวคุณดวงใจ เป็นทายาทรุ่นที่สองได้เข้ามาช่วยธุรกิจของครอบครัว ที่เริ่มต้นจากเอเย่นต์ขายรถมอเตอร์ไซค์ฮอนด้าจาก จ.เพชรบูรณ์ และขยายมาเป็นการให้บริการสินเชื่อจำนำทะเบียนรถหรือลีสซิ่ง และนำพาเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มาเกือบจะ 6 ปีแล้ว จนปัจจุบันเป็นโฮลดิ้งคอมพานี มีการประกอบธุุรกิจ 5 ประเภทภายใต้เครื่องหมายบริการ ศรีสวัสดิ์ เงินสดทันใจ คือสินเชื่อรายย่อยแบบมีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน บริหารสินทรัพย์ รับจ้างติดตามหนี้ และบริการที่ปรึกษาและให้คำแนะนำเกี่ยวกับการทำธุรกิจสินเชื่อ โดยพี่สาวรับผิดชอบงานบริหารรายวัน ต้นทุน กู้เงิน และออกหุ้นกู้ ส่วนเธอเป็นฝ่ายวางแผนกลยุทธ์ และนักลงทุนสัมพันธ์ที่ต้องทำหน้าที่สื่อสารกับนักวิเคราะห์และผู้ลงทุนทุกประเภท
อันดับ 9 “จรีพร จารุกรสกุล” ประธานคณะกรรมการบริษัท /ประธานคณะกรรมการบริหาร/ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น (WHA) ถือเป็นเจ้าของธุรกิจรุ่นแรกที่ร่วมกันทำธุรกิจขึ้นมาในปี 2546 เพราะแนวคิดว่ากล้าที่จะแตกต่างและมองภาพอนาคตขาด เนื่องจากเป็นผู้เริ่มแนวคิดการสร้างอาคารอุตสาหกรรมแบบ Built-to-Suit ที่เป็นเรื่องใหม่ในยุคนั้น และเพียงไม่ถึง 10 ปีก็สามารถนำบริษัทเข้าตลาดหุ้น และที่เรียกฮือฮามากคือการเข้าซื้อกิจการนิคมอุตสาหกรรมเหมราช โดยสิ่งที่เธอเน้นยำตลอดคือ ทำอะไรต้องมีแผนงานที่ชัดเจน ทำงานให้รวดเร็ว และมองการณ์ไกลเสมอ
จนปัจจุบัน WHA เป็นบริษัทชั้นนำในธุรกิจคลังสินค้าและโลจิสติกส์ของประเทศไทย ที่ประกอบไปด้วย 4 ธุรกิจหลักคือพัฒนาและบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์ พัฒนานิคมอุตสาหกรรม ธุรกิจให้บริการสาธารณูปโภคและพลังงาน และธุรกิจให้บริการด้านดิจิทัล พร้อมตั้งกองทรัสต์เพื่อขายสินทรัพย์เข้ากองไว้เป็นกระแสเงินสดในการพัฒนาโครงการต่างๆ ให้บริษัทในอนาคต รวมทั้งมีข่าวว่าอาลีบาบาพร้อมที่จะเข้ามาใช้พื้นที่ของ WHA ในอีอีซีอีกด้วย และล่าสุดเมื่อปลายปี 2562 ที่ผ่านมาเธอได้รับการแต่งตั้งให้เป็นบอร์ดในธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) อีกด้วย
อันดับ 10 “สมฤดี ชัยมงคล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการ บริษัท บ้านปู (BANPU) เธอผู้นี้จบบัญชี ม.กรุงเทพ แล้วเริ่มทำงานที่บ้านปูมานานรวมกว่า 30 ปี และทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน (CFO) ร่วมเคียงข้างกับคุณชนินทร์ ว่องกุศลกิจ ที่เป็นนาย และเน้นการสร้างและรักษากระแสเงินสดโดยเฉพาะอิบิทดา ให้กับบริษัทเพื่อไว้ขยายงานอย่างต่อเนื่อง ทำให้เห็นราคาหุ้นบ้านปูเคยแตะหลายร้อยบาทและแตกพาร์มา หรือผ่านช่วงที่เฟื่องฟูจนปี 2555 ที่ราคาถ่านหินทรุดหนัก และเธอก็ตัดสินใจออกมาตรการลดค่าใช้จ่ายผู้บริหารอย่างจริงจัง
จนถึงวาระที่ได้รับหน้าที่สานต่อในตำแหน่งซีอีโอจากคุณชนินทร์เมื่อปี 2558 ผ่านมากว่า 5 ปี ต้องถือว่าเป็นบทบาทที่เวิร์กกิ้งวูแมนคนนี้ไม่เคยท้อถอย เพราะเข้ามาในช่วงที่ธุรกิจกำลังเปลี่ยนถ่ายและขยายไปยังธุรกิจพลังงานอย่างอื่น รวมถึงการนำบริษัทลูกอย่าง บริษัท บ้านปู พาวเวอร์ (BPP) ธุรกิจผลิตไฟฟ้า เข้าระดมทุนในตลาดหุ้นปี 2559 และภาระหน้าที่ยิ่งใหญ่ที่ยังต้องทำหน้างานหนักต่อไปคือ การทำให้เห็นและเข้าใจว่าบ้านปูไม่ใช่เพียงแค่ทำธุรกิจถ่านหิน แต่เป็นบริษัทพลังงานที่ครบวงจรและมุ่งเน้นพัฒนาพลังงานสะอาดให้เพิ่มมากขึ้น
You must be logged in to post a comment.