HomeUncategorizedCEO เชื่อว่าผลลัพธ์ทุกอย่างเกิดการจากดีไซน์ได้

CEO เชื่อว่าผลลัพธ์ทุกอย่างเกิดการจากดีไซน์ได้

ถือเป็นผู้บริหารหญิงคนหนึ่งที่เป็นถูกจับตาจากผู้ลงทุนอยู่เสมอมาตลอด 10 ปี ที่นำ บริษัท ยูบิลลี่ เอ็นเตอร์ไพรส์ (JUBILE) ธุรกิจค้าปลีกเพชรหนึ่งเดียวเข้าระดมทุนและจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (mai) จากวันนั้น  “อัญรัตน์ พรประกฤต” ที่เป็นหัวเรือหลักในการผลักดันให้บริษัทเข้าตลาดหุ้นแล้ว เธอยังทำหน้าที่งานการตลาดและประธานเจ้าหน้าที่ทางการเงิน (CFO) จวบจนวันนี้เธอขึ้นแท่นเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) แทนคุณพ่อแล้ว 

ลองดูแนวคิดและมุมมองที่ผลักดันทำให้เธอถือเป็นขวัญใจนักลงทุนคนหนึ่ง รวมทั้งเป็น Yong Rising Star CEO เมื่อปี 2018 จาก SET Awards พร้อมกับการรับมือสิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงขึ้นในอนาคตกับยูบิลลี่ยุคต่อไปที่ไม่ได้เน้นการเติบโตจากการขยายสาขาเหมือนเดิม

ทายาทร้านเพชรที่เป็นมิติอึดถึกทนมากกว่าการเป็นคุณหนู

เธอย้อนเล่าเมื่อครั้งเป็นเด็กและเติบโตมาที่หลายคนต้องลบภาพว่าเป็นคุณหนูร้านเพชรที่ต้องมีชีวิตที่เติบโตสบายแน่นอน เธอบอกลบภาพเล่านั้นทิ้งไปเลยเพราะเธอเป็นทายาทร้านเพชรอีกมิติหนึ่งที่ต้องอึดถึกทนเหมือนเพชรที่เป็นอัญมณีที่แข็งที่สุดมากกว่า 

โดยเริ่มช่วยงานที่ร้านตั้งแต่เรียนระดับประถม ที่หากทำการบ้านเสร็จจะมาช่วยหน้าร้าน เริ่มตั้งแต่การเสิร์ฟน้ำชา ไปนำเครื่องประดับของลูกค้ามาล้างเป่าทำความสะอาด เช็ดกระจก เปิดประตู ต้อนรับ และกลายเป็นทุกปิดเทอมมาอยู่หน้าร้าน โตขึ้นมาเริ่มช่วยจัดร้าน ยกถาดมาจัดจากที่เก็บซึ่งอยู่หลังร้านมาหน้าร้าน ซึ่งต่างจากปัจจุบันที่เป็นวินโดว์ดิสเพลย์ และยืนมุมขวาเสมือนเป็นผู้ช่วยแม่หยิบของลูกค้าและเริ่มจดรายละเอียดสินค้าหรือวาดรูปเครื่องประดับเอง เพราะเมื่อก่อนไม่มีระบบคอมพิวเตอร์เหมือนสมัยนี้ที่งถ่ายรูปไว้แล้วบันทึกไปในคอมพิวเตอร์

“ที่บ้านไม่เคยบอกว่าต้องมารับหน้าที่ต่อการทำธุรกิจเพชร แต่การที่เห็นจากสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ทำตั้งแต่เด็กที่ร้านแรกยูบิลลี่อยู่ที่สะพานเหล็ก ชั้นล่างคือพื้นที่ร้าน ชั้น 2-4 เป็นบ้าน ทำให้เห็นตลอดว่าคุณพ่อคุณแม่ทำงานหนักตลอดเวลา หยุดเพียงวันเดียวคือวันอาทิตย์ เลยทำให้รู้สึกว่าต้องทำตัวให้ดี หน้าที่เราแค่เรียนหนังสืออย่างเดียวเองก็ควรทำให้ดี และไม่อยากเป็นภาระให้พ่อแม่ต้องเป็นห่วง” 

รวมถึงการเดินทางที่เรียกว่าได้เธอเป็นคนหนึ่งที่ใช้ระบบขนส่งมวลชนในเมืองหลวงมาแล้วอย่างครบครัน เพราะต้องเดินทางไปโรงเรียนจนจบมหาวิทยาลัย มิได้มีคนขับรถรับส่ง แต่เป็นเพราะโรงรียนตอนสมัยประถมและมัธยมอยู่ใกล้บ้านทำให้เดินทางเองสะดวก แต่สิ่งที่ทำให้รู้สึกว่าต้องอึดชีวิตต้องสู้เมื่อต้องไปเรียนมหาวิทยาลับอัสสัมชัญ (เอแบค) ที่หัวหมาก

“วันแรกที่ไปเรียนจำได้ว่าต้องมานั่งรถแดงเพื่อไปรอรถเมล์หน้าซอยหัวหมาก 24 แล้วมายืนตรงข้ามบิ๊กซีเพื่อรอรถเมล์สาย ปอ.1 แน่น และยืนมาตลอดนานมากเพราะต้องไปวนสุขุมวิท กว่าถึงบ้านยืนทั้งหมด 3 ชั่วโมงทำให้รู้ว่าเอแบคไกลมาก ซึ่งความจริงไม่ต้องขึ้นแค่สายนั้นก็ได้ วันหลังก็เดินทางด้วยรถตู้แล้วมาต่อเยาวราช หรือบางครั้งรถติดก็นั่งเรือไปลงท่าเรือแถวบ้าน จนวันหนึ่งที่ต้องไปแคมปัสของมหาวิทยาลัยต้องนั่งพี่วินมอเตอร์ไซต์ไป และเห็นเรื่องที่ตลกมาก พอกลับบ้านมาคุณพ่อถามว่าทำไมวันนี้นั่งวินมอเตอร์ไซต์ เพราะเพื่อนคุณพ่อไปเห็นเราพอดี หรือตอนปี 4 ต้องไปเรียนบางนาก็ต้องนั่งรถตู้หลายต่อ หลายคนถามทำไมไม่ขับ ที่บ้านบอกเลยว่าถ้ายังเรียนไม่จบปริญญาตรีอย่าหวังว่าจะมีรถขับเด็ดขาด” 

จากไม่มี Passion สานต่อธุรกิจ จนมาเจอทางที่ใช่

ต้องถือว่าคุณพ่อคุณแม่หัวสมัยใหม่มากที่ไม่เคยมีการกดดันให้เธอและน้องๆ ต้องมาช่วยกันทำธุรกิจ ตั้งแต่เด็กใครอยากเรียนอะไร โตขึ้นมาอยากทำอาชีพอะไร การที่ลงมาช่วยที่บ้านต้อนรับลูกค้าเพราะคิดว่าแค่ลงมาช่วย โตขึ้นไม่ได้ต้องมาทำแน่นอน และเพราะความที่ไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไรกันแน่ แต่สุดท้ายก็ได้มาทำโดยไม่ทันตั้งตัวและก็รู้สึกว่าเจอทางที่ตัวเองชอบแล้ว

“เรียนมัธยมต้นแค่รู้ว่าไม่ชอบเรียนวิทยาศาสตร์ เพราะไม่มีความเข้าใจอะไรเลยเวลาสอบสมองดำน้ำมาก ไม่น่าจะใช่ทาง มีญาติเรียนที่โรงเรียนอัสสัมพาณิชยการ (ACC) คุณแม่บอกไปทางนี้ไหม จนกลายเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตที่ได้มาเจอสายการค้าธุรกิจแล้วชอบ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ต้องถือว่าเป็นคนหัวหัวสมัยใหม่มากไม่บังคับเลยว่าเรากับน้องจะเรียนอะไร เพราะเขามองว่าอาชีพสามารถทำได้หลากหลาย แค่เรียนแล้วรับผิดชอบให้ดี อย่าเป็นเด็กเกเร เรียนได้เกรดอะไรก็ไม่ว่า”  

พอเข้าระดับมหาวิทยาลัยเห็นญาตเรียนการตลาดที่เอแบคแล้วกลับบ้านดึก เลยเลือกเรียนบัญชีดีกว่าน่าจะได้กลับบ้านเร็วดี ซึ่งพอเวลาเรียนสามารถกำหนดลงวิชาเรียนเอง ซึ่งปกติเป็นคนที่ชอบตื่นเช้าพอเรียนเอแบคอัดเรียน 3 คาบติดเพื่อที่จะได้กลับบ้านเร็ว 

“การเรียนบัญชีเหมือนเรามีต้นทางจาก ACC แต่วิชาที่ไม่สนุกเลยคือการตรวจสอบบัญชี (Audit) อาจเพราะไม่เคยลงสนาม เนื่องจากเป็นเด็กเรียนขยันอ่านท่องหนังสือไป และจบ 3 ปีครึ่งก็ได้ทำงานที่ไพร้ซวอเทอร์เฮ้าส์คูเปอร์ส (PWC) เป็นผู้ช่วยตรวจสอบบัญชี”

แต่ตัดสินใจทำเพียง 2 ปี เพราะเริ่มรู้สึกว่าไม่ชอบและมองว่าไม่น่าจะมาทางบัญชีแน่นอน จึงตัดสินใจจะไปเรียนต่อเมืองนอก ทำให้ต้องเรียนติวเพื่อไปสอบโทเฟลและ GMAT แต่ตอนนั้นที่บริษัทยูบิลลี่มีตำแหน่งงานว่างกำลังหาคนอยู่ คือ เจ้าหน้าที่ฝ่ายต้นทุน หน้าที่คือ คีย์ข้อมูลเข้าระบบและติดป้ายสินค้า เรียนติวและทำงานแล้วยังมีเวลาเหลือ คุณพ่อเลยถามว่าลองเรียนวิธีการดูเพชรเพิ่ม และเริ่มขยับไปดูเรื่องฝ่ายจัดซื้อ จนรู้สึกอินมากขึ้นจึงตัดสินใจเรียนต่อโครงการระดับปริญญาโททางการตลาดหลักสูตรนานาชาติ (MIM) ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แทน 

“ตอนกลางวันทำงานและตอนค่ำเรียนโทไปด้วย คุณพ่อบอกว่า ไม่มีข้ออ้างใดๆ ที่จะทำให้มาทำงานสายได้ และ MIM ก็ทำให้เจอทางที่ใช่สำหรับตัวเองมากขึ้นว่าชอบเรื่องการตลาดเพราะเป็นสิ่งที่เราสามารถบริหารจัดการได้และชอบคิดอะไรที่นอกกรอบ ไม่เหมือนกับบัญชีที่ต้องขึ้นกับมาตรฐานบัญชีอย่างเดียว”

จนคุณพ่อให้โปรเจ็กต์งานเพชรเม็ดกะรัตมาทำที่มีทีมงานเรากับคนทำกราฟฟิกหนึ่งคน จนทำยอดขายใน 1 ปี ดีมากและทำให้รู้สึกมั่นใจและอินกับการทำธุรกิจมากขึ้น พอใกล้เรียนจบก็ไปแข่งขันการทำแผนธุรกิจซึ่งเป็นถือว่าเป็นการซ้อมมือที่โหดมากตลอด 9 เดือน ซึ่งเป็นจังหวะพอดีที่คุณพ่ออยากนำบริษัทเข้าตลาดหุ้น

เตรียมตัวเข้าตลาดและสร้างวัฒนธรรมใหม่ให้องค์กร

สิ่งที่คุณแม่พูดไว้กับเธอตั้งแต่ที่เริ่มมาทำงานที่ยูบิลลี่อย่างจริงจัง นั่นคือ “จำไว้เลยนะ อย่าให้พนักงงานเขารู้สึกว่าหรือว่าได้ เจ้าของมาทำงาน” และทำให้เธอมีความจริงจังกับงานมาก ซึ่งแม้จะมีโปรเจ็กต์ที่ต้องเข้า mai ทำให้เธอเริ่มสร้างแพทเทิร์นของการทำงานที่นี่ใหม่ โดยยึดหลัก “Goal-Oriented” เป็นคนที่มุ่งสู่เป้าหมายที่ชัดเจน และนี่คือสิ่งที่ได้จาก MIM ที่บอกว่า “Whatever it takes” คุณต้องไปทำมันให้ได้ โดยไม่สนใจเวลาหรือรูปแบบ เพราะสิ่งที่สนใจคือ ผลลัพธ์ของมัน 

เธอย้อนเล่าให้ฟังว่าตอนที่เตรียมเข้าตลาดหุ้นบอกพี่ทีมบัญชีว่าขอประชุมเวลา 18.00 น. ซึ่งเป็นเวลาหลังเลิกงานเพราะไม่อยากให้กระทบกับงานหลัก เพียงแต่เรื่องเข้าตลาดหุ้นเป็นอีกโปรเจ็กต์พิเศษ หรือการที่มีงานที่ต้องกระจายสินค้าช่วงปีใหม่ที่ร้านค้าทั่วประเทศไม่ได้หยุดเพราะอยู่ในห้าง และมีพนักงานบอกว่าสงสัยเราจะติดป้ายสินค้าเพื่อส่งไปกระจายของไม่น่าจะเสร็จตามเวลาที่กำหนดไว้ สิ่งที่บอกเขากลับไปคือ 

“ไม่เป็นไรเรายังมีเวลากันถึง  6 โมงเช้า รีบทำและอยู่ด้วยกัน ช่วยกันทำจนจบ จากงาน 1 สัปดาห์ที่คิดว่าจะไม่จบ กลายเป็นคืนนั้นคืนเดียวงานเสร็จ และจากนั้นกลายเป็นเริ่มเปลี่ยนวัฒนธรรมในการทำงานไปอีก เพราะตั้งแต่แรกที่เริ่มเข้ามาที่บริษัท จะทำงานเยอะกว่าเพราะเราไม่เคยรู้สึกว่ามีแต้มต่อ และถ้าเราได้รับมอบหมายให้ทำตำแหน่งไหนก็มีหน้าที่เทียบเท่ากับตำแหน่งนั้น เราจะมีวิธีคิดแบบนี้เสมอ คือ การทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด

จนวันที่ต้องนำบริษัทเข้าตลาดหุ้นให้พี่ๆ มาทำ ให้เขารู้ว่า เราเต็มที่มาก และจากนั้นพี่ๆ เขาก็จะเต็มที่กับเรา อันไหนที่พี่เขาไม่ถนัด เราบอกไม่เป็นไรเดี๋ยวเราทำเอง จนถึงทุกวันนี้ เราทำด้วย เราอยู่กับเขาด้วยเสมอ ซึ่งสิ่งนี้ได้มาตอนเป็นทำงานที่ PWC ที่แม้ใครเสร็จก่อนก็ยังไม่กลับบ้าน ต้องออกพพร้อมกัน จะไม่ให้รู้สึกว่าเป็นงานใครงานมัน ต้องเป็นทีมเวิร์ก เพราะบริษัทต้องการผลลัพธ์เดียว”

เมื่อ 12 ปีก่อนเรื่องตลาดทุนเป็นเรื่องใหม่มากกับธุรกิจครอบครัว การที่มีกองทุนร่วมลงทุน (Venture Capital หรือ VC) เขามาถือว่าสามารถเป็นพี่เลี้ยงเราได้ดี เพราะทำให้เรามีทางเลือกและวิธีการได้หลายมิติ ซึ่งเขาก็สามารถเป็นที่ปรึกษาและเพิ่มองค์ความรู้ให้เราได้หลายเรื่อง และ VC ก็อยู่กับเราหลายปีกว่าที่จะเริ่มทยอยขายหุ้นออก และถือว่า VC แฮปปี้มาก และมีกำไรจากที่เข้ามาลงทุนกับยูบิลลี่มากทีเดียว

ธุรกิจค้าปลีกเพชรแห่งเดียวที่เข้าตลาดหุ้น 

เริ่มจากโครงสร้างเป็นธุรกิจค้าปลีกตั้งแต่ก่อนเข้าตลาดหุ้น ดังนั้นการบริหารธุรกิจจะมีหลายมิติมาก เริ่มแรกก็มีการคิดต่างที่จะมีการปรับปรุงแบรนด์ให้ดูทันสมัยและใหม่ขึ้น ด้วยการจะเปลี่ยนเคาน์เตอร์เพชรให้เป็นสีดำซึ่งถือเป็นเรื่องที่ยากมากเพราะความเชื่อของคนจีนจะไม่ชอบสีดำ โดยเคาน์เตอร์เพชรเดิมเราเป็นสีน้ำเงินและเงิน จึงเริ่มไปทำวิจัยอย่างจริงจังและเตรียมแผนนำเสนอกับคุณพ่อ เพราะคุณพ่อจะไม่มีการคุยกันแบบพ่อลูก ต้องมีการเตรียมแบบแผนให้ชัดเจนเพราะการจะเปลี่ยนเคาน์เตอร์ก็ถือเป็นการลงทุนที่มีต้นทุนสูงอยู่ ซึ่งตอนนั้นมี 60-70 สาขา และก็ใช้เวลารีแบรนด์ดิ้งใหม่ภายใน 1 ปี และตัวเลขยอดขายก็พุ่งด้วยทั้งจากการปรับแรนด์และได้โลเกชั่นในการขยายสาขาใหม่ เพราะกลายเป็นว่าทำให้การรับรู้เรื่องแบรนด์ของลูกค้ากับสินค้ากับแบรนด์ก็ดีขึ้น

ก่อนเข้าตลาดหุ้นปี 2007-2008 บริษัทมีรายได้ 400-500 ล้านบาท ซึ่งเป็นช่วงที่กำลังเกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ซึ่งคุณพ่อก็ยังยืนยันว่าจะไม่ถอยการเข้าตลาดหุ้นแน่นอน โดยกำหนดราคาที่เสนอขายให้ประชาชนเป็นครั้งแรก (ไอพีโอ) ที่ 2.80 บาท และสิ่งที่เธอต้องเร่งทำเป็นลำดับแรกๆ คือ การสื่อสารให้ผู้ลงทุนเข้าใจในการทำธุรกิจค้าปลีกเพชร 

“ตอนที่เข้าตลาดใหม่ๆ คนส่วนใหญ่จะไม่เข้าใจว่าแล้วจะมีความต้องการซื้อ (ดีมานด์) ขนาดไหน จะมีการซื้อซ้ำเหรอ เพราะปกติคนจะเข้าใจว่าซื้อเพชรแค่ตอนทำแหวนแต่งงานเท่านั้น ช่วงแรกจึงพยายามอธิบายรูปแบบการทำธุรกิจ และเมื่อก่อนนักลงทุนส่วนใหญ่เป็นผู้ชายเยอะ ไม่ได้เป็นฐานนักลงทุนที่กว้างเหมือนปัจจุบัน ซึ่งผู้ชายกับเพชรยิ่งเป็นเรื่องที่ไกลกันมาก ทุกรอบที่ไปผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนพบผู้ลงทุน (ออฟเดย์) จะ อธิบายเรื่องเดียวหลายรอบมากว่า มีความต้องการจากลูกค้าจริงๆ เหรอ แต่สิ่งที่ได้คือการรับรู้แบรนด์มากขึ้น และมีการเปลี่ยนการทำการตลาดต่างๆ สร้างคอลเล็กชั่น เพิ่มจุดจำหน่ายเพิ่มเติมจนผลประกอบการโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง”

สิ่งที่พยายามอธิบายก็สะท้อนไปยังราคาหุ้นทำราคาสูงสุดในรอบแรก 12.70 หรือเกือบ 13 บาท ซึ่งเธอยอมรับว่าช่วงนั้นเป็นสิ่งที่ผู้ลงทุนให้ความสำคัญและสอบถามเรื่องการบริหารจัดการสินค้าคงคลัง (Inventory) เป็นหลักเพราะเป็นหัวใจที่สำคัญอย่างหนึ่งในการบริหารจัดการ เนื่องจากเพชรถือเป็นสินค้าที่นอกจากมีข้อบวกชัดเจนอย่างหนึ่งคือ มีความเป็นอมตะและไม่มีการสูญสลายไป แต่การบริหารจัดการของยูบิลลี่ไม่ได้มองอย่างนั้น เพราะก็มีการจัดการกำหนดช่วงเวลาของสินค้า (Aging Stock) เหมือนธุรกิจค้าปลีกทั่วไป

ขณะที่ความแตกต่างการเป็นธุรกิจค้าปลีกของยูบิลลี่ จะมีความแตกต่างกับค่าปลีกอื่น เพราะเป็นความต้องการซื้อในสินค้าที่แท้จริง (Real Demand) ไม่ใช่เป็นความต้องการของอนาคต (Future Demand)

วิธีการทำงานของยูบิลลี่ 

การที่ยูบิลลี่จะมีตัวเลขทางการเงินที่แข็งแกร่งได้ มีกระแสเงินสดที่ดี มีอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) น้อย ต้องถือว่าเป็นการออกแบบดีไซน์ที่เธอตั้งใจ เพราะไม่ได้เป็นการตั้งเป้าหมายทำ KPI เพื่อให้ได้ตัวเลขทั้งรายได้และกำไรอย่างเดียว เพราะถ้าเราต้องการให้ตัวเลข Inventory เป็นอย่างนี้ D/E เท่านี้ เราต้องมาดูว่ามันมีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้ไปถึงตัวเลขนั้นและให้ตัวเลขมันหมุนได้

“ผลลัพธ์ทุกอย่างที่ทำมาตรงนี้มันเกิดจากที่เราดีไซน์ขึ้นมาว่าเราต้องการจะเป็นอย่างไร”

เมื่อราคาหุ้นเคยปรับสูงก็ต้องมีวันตกตามผลประกอบการที่ออกมาราคาเหลือ 9 บาท เพราะตอนนั้นผลประกอบการเติบโตทุกไตรมาส แต่ตัวเลขทางการเงินเป็นไปตามน่าพอใจ แต่พอปี 2013 ตลาดโดยรวมให้มูลค่ากับธุรกิจค้าปลีกไปด้วยกันทั้ง ส่วนปี 2014 เป็นอีกปีที่มีการทำการการตลาดรูปแบบใหม่ออกมาเปลี่ยนโฉม  Midyear Sale จนราคาหุ้นได้รับการตอบรับที่ดีเกินไปถึง 42 บาท แต่สำหรับเธอมองว่า ราคานั้นไปไปไกลเกิน ซึ่งหากกลับมาดูปัจัยพื้นฐานที่แท้จริงเธอว่ามันสูงเกินไป 

แต่ 2015-2016 รายได้และกำไรบริษัทยังมีการเติบโตขึ้นเหมือนเดิม แต่จากที่บริษัทเคยขยายสาขาปีละ 20-30 จุดต่อปี จนมาถึงจุดหนึ่งไม่สามารถขยายสาขาได้ไม่เยอะเหมือนในอดีต ซึ่งอาจจะทำให้ผู้ลงทุนมองว่าแล้วยูบิลลี่จะมีการเติบโตอย่างไรต่อในอนาคต

เริ่มนำเรื่อง Data มาใช้เก็บข้อมูล

เทรนด์ดิจิทัลดิสทรัปชั่นต้องมาอยูู่แล้วและเป็นสิ่งที่ไม่สามาถหลีกเลี่ยงได้ แม้อาจจะยังไม่เกิดในธุรกิจยูบิลลี่ในระยะเวลาอันใกล้ แต่การมองว่าทุกอย่างสามารถเกิดขึ้นได้จึงทำให้ ปี 2017 ยูบิลลี่ตัดสินใจวางโครงสร้างพื้นฐานฐานด้วยการจัดเก็บข้อมูล (Data) เพื่อยกการบริหารข้อมูลภายในและใช้ทำกลยุทธ์การตลาดกับลูกค้า แม้จะต้องใช้เวลาในการสะสมจข้อมูลหรือบริหารจัดการสักพักใหญ่ก็ตาม 

“เริ่มวางโครงสร้างพื้นฐานข้อมูล การเปิดตัวการใช้ AI เข้ามาเกี่ยวกับเครื่องประดับเพชรของเรา เพราะเครื่องประดับเพชรเป็นสิ่งที่มีคุณค่าทางจิตใจ แต่เราจะทำอย่างไรให้มันสามารถจับต้องได้ และอยากจะแบรนด์ที่อยู่ในโมเมนต์สำคัญของลูกค้าแต่ละท่าน เราจะเอาดิจิทัลเข้ามาได้ใช้ในธุรกิจได้อย่างไรเมื่อเลี่ยงที่จะเจอสิ่งนี้ไม่ได้ ขณะที่มือถือก็กลายเป็นอวัยวะที่สำคัญงอกออกมาสำหรับทุกคน จนพัฒนานวัตกรรม Jubilee iMOMENT ที่ลูกค้าสามารถบันทึกความทรงจำ ทั้งภาพนิ่งและวีดิโอผ่านแหวนเพชรของยูบิลลี่ได้ ด้วยการดาวน์โหลด แอพแล้วส่องไปที่ก้านแหวนเพชร ภาพความทรงจำต่างๆ ก็จะขึ้นมาเชื่อมกับมือถือได้ตลอดเวลา”

Jubilee iMOMENT เป็นสิ่งที่ซัพพลายเออร์ต่างประเทศชอบมาก และการคิดต่อยอดหรือการเพิ่มมูลค่าให้กับลูกค้าคือวิธีการคิดที่ทำให้ยูบิลลี่อยู่มาจนปีนี้ครบรอบ 90 ปี และเป็น 10 ปีที่เข้าตลาดหุ้น 

DATA มาช่วยสร้าง S Curve ใหม่ให้ยูบิลลี่

เมื่อเรานำ Data นำดิจิทัลเข้ามามีส่วนช่วยในการทำธุรกิจแล้ว นี่คือส่วนหนึ่งที่จะเป็นการช่วยสร้าง S curve ใหม่กับยูบิลลี่ ขณะที่การเติบโตจากการขยายสาขาใหม่เหมือนช่วงแรกๆ นั้นไม่ใชjเส้นทางเดิม โดยเส้นทางใหม่นั่นคือ จากนี้ไปยูบิลลี่จะสร้างการเติบโตยอดขายจากสาขาเดิม เพราะเรามีวางพื้นฐานเพื่อที่จะใช้ Data มาทำให้ยอดสาขาเดิมมีการเติบโตขึ้น ซึ่งขณะเดียวกันหมายความจะทำให้ต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายต่อสาขาลดลงด้วย โดยความเชื่อที่ว่า เคาน์เตอร์เพชรสาขาหนึ่งนั้นจะทำให้ความสามารถในการขายไม่มีข้อจำกัด 

แต่ความท้าทายที่เกิดขึ้นกับภาวะเศรษฐกิจตอนนี้คือสิ่งที่เธอมักจะเจอมาโดยตลอด 10 ปีที่ผ่านมา เพราะเธอมองว่าไม่ว่าภาวะเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร ก็จะรู้สึกว่าตัวเองเจอความม้าทายมาตลอด เนื่องจากเวลาทำงานเธอจะไม่แข่งกับคนอื่น แต่จะแข่งกับตัวเอง

“เราปฏิเสธการชะลอตัวภาวะเศรษฐกิจไม่ได้ แต่การที่เราเริ่มมี Data มาช่วยในการบริหารจัดการในช่วง 1-2 ปี นี้ต้องถือว่า ทำให้การยิงปืนเรายิงแม่นขึ้น ไม่ได้ยิงกระสุนหว่านแบบเมื่อก่อนแล้ว เศรษฐกิจเช่นนี้ทุกธุรกิจต้องทำงานมากขึ้นสมัยก่อนที่หย่อนเมล็ดเดียวก็ขึ้นแล้ว แต่ตอนนี้ต้องหย่อนไปถึง 3 เมล็ด แต่เราไม่ได้มองว่าต้นไม้จะไม่ขึ้น ต้นไม้ขึ้นแน่นอนแต่อาจจะต้องขยันหย่อนเมล็ดและดูแลอย่างดี” 

ขณะเดียวกัน มองว่า ปัจจุบันความท้าทายมากกว่าเรื่องเศรษฐกิจคือ การเข้าใจผู้บริโภคมากกว่า เพราะปัจจุบันพฤติกรรมผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงที่เร็ว การจะเข้าใจเป็นเรื่องที่ยากมาก ต้องเรียนรู้และปรับตัวให้ทัน เพราะการเข้าถึงพฤติกรรมผู้บริโภคตอนนี้มีความกระจัดกระจายมาก แต่ถ้าเราเลือกจะอยู่ในโลกของธุรกิจแล้ว เป็นเรื่องที่เราเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องอัพเดทตลอดเวลา เป็นการเรียนรู้ที่ไม่มีวันจบสิ้น เพียงแต่เราจะนำเอาโลกที่เป็นปัจจุบันนี้มาทำให้ธุรกิจของเราสามารถเดินไปได้” 

วิธีคิดของเรา คือ สิ่งสำคัญที่สุด

เธอออกตัวว่าเป็นคนทุกโมเมนต์เราทำอะไรเราก็จะทำให้ดีที่สุด และโชคดีที่เป็นคนชอบตื่นเช้าอยู่แล้วนั้นจะมีเวลาออกกำลังกายเล่นพีราทิสกับเวทเทรนด์นิ่ง แต่ขณะเดียวกับส่วนตัวเป็คนเอนจอยกับการทำงาน เธอจึงไม่ได้รู้สึกว่าการเปิดคอมพิวเตอร์วันอาทิตย์ไม่ได้เรื่องที่ทุกข์ ทุกวันจะแบ่งเวลาการออกกำลังกายตอนเช้าให้เสร็จจากนั้นค่อยทำงานต่อ

“การใช้ชีวิตมองว่าสิ่งสำคัญสุดคือเรื่อง วิธีคิดและการบริหารจัดการวิธีคิดเป็นสิ่งสำคัญเพราะจะทำให้เราผ่านแก้ปัญหาและสามารถผ่านอุปสรรคไปได้”

“ไม่เคยรู้สึกว่านี่คือเช้าวันจันทร์ ทุกวันที่มาทำงานมีแต่อยากจะทำให้สำเร็จ เหมือนมีเป้าหมายที่เราฝันอยู่ และจะสอนทีมทำงานเสมอ ถ้าวันนี้ใจเราไม่พร้อมทำงานควรจะหยุด เพราะอย่างน้อยเดินทางไป-กลับบ้านกับที่ทำงานอย่างน้อย 3 ชม. อยู่บ้านไปเลย แต่ถ้าใจคุณพร้อม Productivity คุณจะพร้อมมาก เชื่อว่าสมองจะเกี่ยวเนื่องกับการกระทำของเรา บางครั้งทำงานมีอุปสรรค ได้ดั่งใจหรือไม่ได้ดั่งใจบ้าง แต่ต้องคิดว่าทุกปัญหาเดี๋ยวก็มีทางออก ความทุกข์ที่แบกไว้จะต้องเบาลง ทุกคนสามารถจัดการกับอารมณ์ได้ อย่าให้อารมณ์ไปเหนือความคิดเรา ถ้าเป็นเช่นนั้น จะทำให้ผลลัพธ์หรือการแสดงออกมาไม่ดี และเมื่อเราจัดการอารมณ์เราได้ สมองก็จะสั่งการทำให้เกิดแนวคิดใหม่ๆ ออกมาเสมอ”

ความจริงทางออกแบ่งมีอยู่ 2 อย่าง คือ หนึ่งตัวเราเป็นคนคิดหาทางออกได้ กับ สอง เวลาจะเป็นคนบอกทางออกให้เราเอง เวลาเจอปัญหาต้องบอกกับตัวเองว่า เจอปัญหาอีกแล้วนะ แล้วถ้าบอกกับตัวเองว่าเดี๋ยวเราก็เจอทางออก คุณพ่อคุณแม่ก็สอนให้เผชิญปัญหา ไม่เคยปกป้อง ทำให้เรามีภูมิต้านทานและสร้างประสบการณ์ให้เรา วิธีการมองจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะถ้าเรามองว่าเราไม่มีอะไรแล้วเราจะได้อะไรเราจะทุกข์ แต่ให้มองว่าเรามีอะไรอยู่บ้าง เราจะเข้าใจ

“ทุกปัญหามีทางออกเสมอ อย่าไปหนี ต้องเผชิญไปกับมัน และทุกครั้งมันจะกลายเป็นต้นทุนกลับมาที่เรา ในรอบหน้า เมื่อปัญหาใหม่ที่เจอเหมือนอดีต ก็จะมีต้นทุนเดิม ไม่ต้องกังวลมาก เพราะเราเคยสามารถจัดการได้แป๊บเดียวเพราะเราเข้าใจปัญหานั้นแล้ว สิ่งสำคัญคือการบริหารจัดการกับอารมณ์ และไปสร้างวิธีคิดบวก ไม่ต้องดึง Deep Dark เพราะเรื่องเดียวกันแต่ทุกคนสามารถมองคนละมุมได้” เธอทิ้งท้ายวิธีคิดการแก้ปัญหาให้ฟังซึ่งบอกได้เลยว่าสามารถใช้ได้ทั้งการทำงานและการบริหารจัดการชีวิตส่วนตัวด้วย

ถือว่าได้ทั้งเคล็ดลับการบริหารงานและการมุมมองการใช้ชีวิตจากซีอีโอหญิงคนนี้ไปไม่น้อย จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไม JUBILE จึงเป็นหุ้นขวัญใจของนักลงทุนไม่น้อย

คลิปสัมภาษณ์ RadarsTalk EP.1: สัมภาษณ์พิเศษ “อัญรัตน์ พรประกฤต” CEO JUBILE