หากมองสภาพเศรษฐกิจไทยปัจจุบัน อาจจะยังมองอนาคตไม่ออก เพราะทั้งปัจจัยทั้งต่างประเทศและในประเทศดูเหมือนจะมีแต่ปัจจัยลบมากกว่าไปในทิศทางที่บวก
ตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 แย่กว่าที่คาด
ภาพยิ่งชัดเจนขึ้น เมื่อสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ได้แถลงผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ไทยไตรมาส 3 ออกมา ปรากฎว่าต่ำออกมากว่าที่ตลาดคาดการณ์หรืออยู่ที่ 2.4 % ซึ่งส่วนใหญ่คาดการณ์กันที่ 2.6-2.7 % สาเหตุหลักแน่นอนมาจากการส่งออกที่หดตัวอย่างต่อเนื่อง จาก 2 เหตุผลหลักคือ ผลจากการเกิดสงครามทางการค้า (Trade War) และค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น
ขณะที่ตัวเลขการส่งออกประจำเดือน ต.ค.ที่ประกาศโดยสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ก็ออกมาแย่กว่าที่หลายฝ่ายได้คาดการณ์ไว้ เพราะมีการหดตัว -4.54 % เมื่อเทียบกับ ต.ค. 2561 ส่วนการนำเข้าก็มีการหดตัวเช่นเดียวกันถึง -7.57 % ซึ่งหากเทียบกับช่วง 10 เดือนของปีนี้ (ม.ค.-ต.ค.) การส่งออกของไทยหดตัวถึง -2.35% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การนำเข้าก็ยังหดตัวถึง -4.09%
กำไร บจ.ไตรมาส 3 หดตัว
เป็นที่แน่นอนอยู่แล้วว่าเมื่อเศรษฐกิจภาพใหญ่ออกมาไม่ดี ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ก็อาจจะดูไม่ห่างจากภาพรวมมากนัก อย่าง บล.เอเซียพลัส (ASP) ได้ประเมินผลประกอบการ บจ. กำไรสุทธิ ไตรมาส 3 จำนวน 585 บริษัท คิดเป็น 92% ของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) ซึ่งไม่รวมงบรายปี ของ บริษัท การท่าอากาศยานไทย (AOT) ที่จะประกาศวันที่ 29 พ.ย. คาดว่าจะมีกำไรสุทธิรวมกัน 2.13 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.7% จากไตรมาสมาส 2/2562 แต่ลดลงถึง 17.3% หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่งวด 9 เดือน ได้ประเมินว่ากำไร บจ.อยู่ที่ 6.96 แสนล้านล้านบาท ซึ่งลดลงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนกว่า 15 % ที่ทำได้ 8.21 แสนล้านบาท
เช่นเดียวกัน บล.หยวนต้า มองว่า กำไรสุทธิ บจ.ไตรมาส3 (ไม่รวม AOT) เท่ากับ 2.12 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย 0.3% จากไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากฐานกำไรไตรมาส 2 ที่ผ่านมาไม่ได้อยู่ในระดับที่สูงมากนัก เพราะ บจ. ส่วนใหญ่มีการตั้งสำรองผลประโยชน์พนักงานจากกฎเกณฑ์ใหม่ แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน กลับพบว่า กำไรลดลงมากถึง 18.6% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพราะกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี ที่ได้รับผลกระทบจากการขาดทุนสต๊อกและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ลดลง ส่วนกำไรสุทธิรวมใน 9 เดือน (ไม่รวม AOT) หดตัวแรงราว 13.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ทั้งนี้ ประเมินว่าสัปดาห์นี้ ตลาดหลักทรัพย์จะมีการสรุปและประกาศผลประกอบการบจ.ทั้งในตลาดหลักทรัพย์ (SET) และ ตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (mai) ออกมา
นอกจากนั้น ตอนนี้ตลาดหุ้นไทยกำลังซื้อขายบนราคาปิดต่อกำไรต่อหุ้น (P/E) ที่ไม่ได้ถูก เนื่องจากปีนี้มีการเสนอขายหุ้นสามัญที่ให้ประชาชนเป็นครั้งแรก (ไอพีโอ) จำนวนมากและยังเข้ามาในระดับที่ P/E สูง ขณะที่จำนวนหุ้นมีปริมาณมากขึ้น แต่อัตราการทำกำไรกลับไม่สามารถสร้างกำไรได้ทัน
ปัจจัยต่างประเทศ
ถือเป็นปัจจัยหลักที่ไม่มีใครรู้ว่าทางออกจะอยู่ตรงไหน เพราะใกล้จะถึงวันกำหนดเดดไลน์ที่สหรัฐได้ยืดการขึ้นอัตราภาษีสินค้ากลุ่มที่ 3 กับจีน ในวันที่ 15 ธ.ค. นี้ แม้ระหว่างนี้จะเหมือนมีสัญญาณดีๆ ให้เห็นกันออกมาบ้าง ทรัมป์ให้บริษัทในสหรัฐทำธุรกรรมกับ Huawei ได้อีก 2 สัปดาห์ ขณะที่จีนก็มีท่าทีอ่อนลงบ้าง แต่พอเกิดกรณีที่สภาคองเกรสสหรัฐได้ผ่านกฎหมายคว่ำบาตรฮ่องกง ซึ่งเหลือระยะะเวลาให้นายโดนัลด์ทรัมป์พิจารณาอีก 6-7 วัน (กำหนดเวลาภายใน 10วัน) ก็ต้องดูว่าทรัมป์จะเซ็นเลยหรือจะเกิดการวีโต้ขึ้นมา
ดังนั้น ช่วงระยะเวลาก่อนวันที่ 15 ธ.ค. นี้ คือเวลาแห่งการติดตามข่าวสารว่า สหรัฐกับจีนตกลงจะมีการเจรจาและเซ็นสัญญาในเฟสแรกเรื่อง Trade War กันหรือไม่ โดยทาง บล.กสิกรไทย แนะนำว่า ถ้าไม่มีการเซ็นสัญญาเกิดขึ้น แนะให้ขายหุ้นทำกำไรไปก่อน โดยไม่มีการถือหุ้นข้ามปี แต่ถ้ามีการเซ็นสัญญากันขึ้นมาจริง หุ้นมีโอกาสจะกลับไปเชิงบวก ที่ระดับ 1,630 จุด
ความหวังอยู่ที่ไหน
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ได้ประเมินว่าเป็นเรื่องยากที่เศรษฐกิจไทยปีนี้จะสามารถขยายตัวได้ที่ระดับ 2.6 % เพราะถ้าจะเป็นเช่นนั้น จีดีพีไตรมาส 4 นี้ ต้องทำให้ได้ถึง 2.8 % เนื่องจากไตรมาส 1 ทำได้ 2.8 % ไตรมาส 2 ทำได้ 2.3 % ซึ่งมองกันว่าเครื่องมือหลักที่รัฐบาลจะเลือกทำคือ การกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นหลัก ด้วยการออกนโยบายที่มาช่วยกระตุ้นการบริโภคและการท่องเที่ยว เพราะปัจจัยต่างประเทศเป็นเรื่องที่เหนือการควบคุมอย่างประเด็นเรื่องสงครามการค้า
ขณะที่การประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา (22 พ.ย.) คณะรัฐมนตรีไม่มีนโยบายใหม่ออกมา เพราะส่วนใหญ่เป็นการรับทราบข้อมูลเศรษฐกิจและอนุมัติกรอบการขับเคลื่อนในประเด็นที่ผลักดันได้ทันทีในปลายปี แต่ยังไม่มีมาตรการใหม่เพิ่มเติมเนื่องจากมาตรการแต่ละด้านได้ออกไปก่อนหน้านี้ ทั้งการประกันราคาสินค้าเกษตรครบชนิด มาตรการด้านการลงทุน การส่งเสริมการท่องเที่ยว แต่หน่วยงานเกี่ยวข้องก็อยู่ระหว่างพิจารณาที่จะมีมาตรการกระตุ้นออกมาในช่วงที่เหลือของปี
นอกจากนั้น ยังมีการรับทราบการรายงานของสำนักงานคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ(สคร.) ว่าก่อนสิ้นปีนี้ จะเบิกจ่ายเงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในปลายปีนี้ วงเงิน 115,000 ล้านบาท โดยเป็นเงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจตามปีงบประมาณ 34 แห่ง 15,300 ล้านบาท ของรัฐวิสาหกิจตามปีปฏิทิน 11 แห่ง 44,600 ล้านบาท และเงินลงทุนของกลุ่ม ปตท. 56,600 ล้านบาท
พร้อมกับรายงานปัญหาของโครงการที่มีความล่าช้าเพื่อเร่งรัดแก้ไขให้เบิกจ่ายเร็วที่สุด เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย–จีน รถไฟทางคู่เส้นทางนครปฐม–ชุมพร เส้นทางลพบุรี–ปากน้ำโพธิ์ โครงการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิระยะที่ 2 ที่ยังเบิกจ่ายไม่ได้เต็มที่ ทางพิเศษพระราม3-ดาวคะนอง รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงอ่อน รวมถึงรถไฟฟ้าในเมืองบางเส้นทาง และให้ระวังเรื่องภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า
แล้วจะลงทุนอย่างไร
สงครามการค้า (Trade War) ยังส่งแรงกระเพื่อมต่อเศรษฐกิจโลกอย่างไม่หยุดยั้ง และไม่มีทีท่าจะสามารถเจรจากันได้ทันในเฟสแรกวันที่ 15 ธ.ค. นี้ ดังนั้นการลงทุนในหุ้นควรเลือกเป็นแบบรายตัวเป็นหลัก (Selective Buy) แต่อาจจะเลือกในกลุ่มที่ดีต่อปัจจัยในประเทศ (Domestic Play) มากกว่าปัจจัยแบบระดับสากล (Global Play) ที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปตามการเจรจาของสงครามการค้า
สิ่งที่นักวิเคราะห์ จากเมย์แบงก์ กิมเอ็ง แนะนำในการสังเกตคือ “ถ้าโมเมนตัมของกำไรยังไปได้ต่อ ราคาหุ้นก็จะพออยู่ได้ ที่เหลือมาดู Valuation สูงไปหรือเปล่า แต่คนส่วนใหญ่เลือกมองโมเมนตัมก่อน หรือบางครั้งที่ Valuation สูงแล้วแต่ไปต่อได้ยากกว่า หุ้นที่อยู่ในโซนที่แย่แล้วแล้วพร้อมที่จะดีดกลับ แต่ถ้าหุ้นที่กำไรไม่ดี ตลาดก็จะทำโทษไปเรื่อยๆ จนกว่า Valuation จะมาอยู่ในโซนที่แย่มากจริงๆ มันจะหยุดลงและไม่อยากที่จะรีบาวด์ทางเทคนิค ก็ต้องรอปัจจัยทางพื้นฐานกลับมา ช็อตนี้มีหุ้นที่น่าสนใจอีกเยอะ ยังไม่ต้องงัดหุ้นที่โมเมนตัมกำไรไม่ได้ ขณะที่ใครถ้าไม่มั่นใจ รอใจนิ่งๆ เพื่อรอประเมินสถานการณ์ดีกว่า เพราะต้องยอมรับว่าปีนี้หุ้นไทยลงทุนยากจริงๆ”
ดังนั้น ตอนนี้เมื่อภาพยังไม่ชัดเจน ข้อมูลคือสิ่งสำคัญ การถือเงินสด การเตรียมตัวให้พร้อมก็เป็นสิ่งสำคัญ แม้ในวิกฤตอาจจะมีโอกาส แต่ถ้าหากมีการเตรียมตัวไม่พร้อมอย่างแท้จริงแล้วกระโจนลงไปแบบไม่ทันตั้งตัว คำว่าวิกฤตก็อาจทำให้เกิดหายนะได้เช่นกัน เพราะอีกด้านหนึ่งของภาพการลงทุนที่สวยงาม คือความเสี่ยงด้วยเช่นกัน
You must be logged in to post a comment.