StockRadars.news ได้ขออนุญาตนำบทความของ “ไพบูลย์ นลินทรางกูร” ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) ที่ได้เขียนถึงสถานการณ์ดัชนีหุ้นทั่วโลกปี 2562 ขึ้นกันทั่วหน้า และมีแค่เพียง 4 ประเทศเท่านั้นที่ไม่ขึ้น ทั้งๆ ที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ส่วนดัชนีหุ้นไทยปีนี้ขึ้นแค่ 2 % และที่สำคัญยังถือว่า Underperform อยู่ แต่จะเพราะอะไรนั้นสามารถอ่านรายละเอียดได้ดังนี้
ปีนี้ตลาดหุ้นที่โดดเด่นที่สุดคือ สหรัฐฯ ที่ปรับขึ้นถึง 25% และทำสถิติสูงสุดใหม่หลายครั้ง โดยเฉพาะตลาดหุ้น NASDAQ ซึ่งเป็นที่รวมของหุ้นเทคโนโลยี เช่น Apple Facebook Google ปรับขึ้นถึง 29%
ตลาดหุ้นในยุโรป แม้ไม่ได้ทำสถิติสูงสุดใหม่ แต่ก็ปรับขึ้นกันเกือบทุกตลาด เช่น เยอรมัน (+25%) ฝรั่งเศส (+25%) สวีเดน (+24%) ที่เด่นที่สุดคือ กรีซ ที่ปรับขึ้นถึง 45% แม้เศรษฐกิจจะเพิ่งพ้นภาวะวิกฤตมาได้ไม่นาน อิตาลี ซึ่งกำลังเผชิญกับวิกฤตหนี้สาธารณะ ก็ปรับขึ้นถึง 28%
ในเอเชีย หลายคนอาจคาดไม่ถึงว่าตลาดหุ้นที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดคือ จีน ที่ปรับขึ้น 17% ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจากการทำสงครามการค้ากับสหรัฐฯ รองลงมาคือ ญี่ปุ่น ที่ขึ้น 16% ทั้งที่ส่งออกติดลบ และเศรษฐกิจเริ่มได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีบริโภค
สรุปง่ายๆ ปีนี้ถือเป็นปีทองของตลาดหุ้นโลก เพราะมีแค่ 4 ประเทศเท่านั้นที่ตลาดหุ้นไม่ขึ้น จากทั้งหมด 47 ประเทศในกลุ่มตลาดพัฒนาแล้ว และตลาดเกิดใหม่
หลายคนอาจสงสัยว่าเป็นไปได้อย่างไร ในเมื่อเศรษฐกิจโลกก็ชะลอตัว หลายประเทศก็ออกอาการใกล้เข้าภาวะถดถอย เช่น เยอรมัน อังกฤษ ญี่ปุ่น บางประเทศก็เข้าสู่ภาวะถดถอยไปแล้ว เช่น อิตาลี ฮ่องกง ข้อตกลงระหว่างสหรัฐฯกับจีนก็ยังไม่คืบหน้า อังกฤษ กับ EU ก็ยังตกลงกันไม่ได้เรื่อง Brexit
ไม่เพียงแค่นั้น ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนก็แทบไม่ขยายตัวในปีนี้ ล่าสุดในไตรมาสที่ 2 กำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนในญี่ปุ่นลดลงถึง 23% ยุโรปลดลง 5% ตลาดเกิดใหม่ลดลง 3% มีเพียงสหรัฐฯ ที่ยังขยายตัว แต่ก็เพิ่มขึ้นแค่ 3%
แล้วทำไมตลาดหุ้นทั่วโลกถึงร้อนแรงได้ขนาดนี้?
- เหตุผลหลักน่าจะเกิดจากการผ่อนนโยบายการเงินของธนาคารกลางกว่า 40 ประเทศพร้อมๆ กัน ทำให้สภาพคล่องยิ่งล้นระบบ เม็ดเงินหล่านี้จำเป็นต้องหาที่ไป เงินส่วนหนึ่งเข้าไปหลบภัยในตลาดตราสารหนี้ จนทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรในหลายประเทศติดลบ จึงเป็นแรงกดดันให้เงินอีกส่วนหนึ่งต้องไหลเข้าตลาดหุ้นเพื่อสร้างผลตอบแทน
- อีกปัจจัยคือ นักลงทุนเริ่มเชื่อว่าสหรัฐฯ และจีนจะสามารถบรรลุข้อตกลงกันได้ และที่เชื่ออย่างนั้น เป็นเพราะหลังจากมีการแบ่งข้อตกลงออกเป็นเฟสๆ ทำให้แนวโน้มการเจรจาดูดีขึ้น เพราะอะไรที่เป็นประเด็นร้อน เชื่อว่าจะถูกผลักไปอยู่ในเฟสท้ายๆ ทำให้การเจรจาในเฟสแรกๆ ไม่น่ามีอุปสรรคมากมาย
- ปัจจัยสุดท้าย น่าจะเป็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่เริ่มมีให้เห็นบ้างแล้ว เช่น ดัชนี Global PMI ที่เพิ่มติดต่อกัน 3 เดือน ทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่เชื่อว่าเศรษฐกิจโลก รวมทั้งผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนจะดีขึ้นในปีหน้า
แล้วทำไมหุ้นไทยถึง Underperform?
ปีนี้เป็นปีที่น่าผิดหวังสำหรับนักลงทุนไทย เพราะ SET Index ปรับขึ้นแค่ 2% หลายคนบอกว่าสาเหตุน่าจะมาจากภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอ ส่งออกที่ติดลบ และผลประกอบการที่ย่ำแย่ แต่ประเทศส่วนใหญ่ที่หุ้นขึ้นมากๆ ก็ประสบปัญหาคล้ายๆ กัน
“ผมเชื่อว่าที่นักลงทุนยังไม่ซื้อหุ้นไทย เพราะขาดความเชื่อมั่น กลัวว่าเมื่อเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว ไทยจะไม่ฟื้นตาม หลายคนมองว่าปีหน้าเศรษฐกิจไทยจะแย่กว่าปีนี้ เพราะเศรษฐกิจฐานรากยังดูอ่อนแอ และ SME จำนวนมากมีแนวโน้มไปไม่รอด”
ผมไม่ได้มองเศรฐกิจดีมาก แต่ไม่ได้มองเลวร้ายขนาดนั้น และเชื่อว่าเรากำลังอยู่ในจุดต่ำสุดของเศรษฐกิจในรอบนี้ ตราบใดที่เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว และธุรกิจขนาดกลางและใหญ่ รวมทั้งสถาบันการเงินของประเทศยังแข็งแรง โอกาสที่จะเห็นเศรษฐกิจไทยตกต่ำไปกว่านี้เป็นไปได้น้อย
นอกจากนั้น ในปีหน้าเราจะได้อานิสงส์จากเม็ดเงินงบประมาณที่เข้าสู่ระบบ รวมทั้งการผ่อนคลายนโยบายการเงินและการคลังที่ทำกันในช่วงนี้ บวกกับนโยบายประกันราคาพืชผล ก็จะเริ่มส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจในปีหน้า
ผมเชื่อว่าตลาดหุ้นไทยยังอยู่ในขาขึ้น และโอกาสที่จะเห็นเงินต่างชาติไหลกลับเข้าตลาดหุ้นไทยมีมาก ในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยไป 75,000 ล้านบาท การที่ตลาดหุ้นไทย Underperform อย่างมากในปีนี้ เชื่อว่าจะทำให้ต่างชาติหันกลับมาสนใจเรามากขึ้น
ไพบูลย์ นลินทรางกูร
19 พฤศจิกายน 2562