สงครามการค้า (Trade War) กลายเป็นประเด็นใหญ่ที่ส่งแรงกระเพื่อมไปทุกมุมโลก อย่างที่ยังไม่มีใครรู้บทสรุปของเกมนี้จะออกมาเป็นอย่างไร งาน StockRadars Day 2019 จึงเรียนเชิญ Speaker คนที่ 6 ซึ่งมีความรู้และเชี่ยวชาญเรื่องจีน “ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร” ผู้เขียนหนังสือ China 5.0 มาช่วยวิเคราะห์เจาะลึกเรื่องราวที่ซ่อนอยู่มากกว่าศึกสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน และที่สำคัญไปกว่านั้น ดูเหมือนจะเป็นกลศึกระยะยาวที่ ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการธุรกิจหรือนักลงทุน ก็ควรติดตามข่าวอย่างใกล้ชิดเพื่อตั้งคำถามและรับมือแก้ไขให้ทันต่อสถานการณ์ ในหัวข้อ “จีน-อเมริกา : พลิกมุมคิดสู้สงครามการค้า”
ดร.อาร์ม ได้ย้อนให้เห็นว่าภาพก่อนหน้านี้ แม้กระทั่งนักยุทธศาสตร์สำคัญของโลกต่างก็ไม่เคยคิดว่า Trade War จะเกิดขึ้นได้ เนื่องจากเมื่อตอนยุคสมัยของโอบามา ประธานาธิบดีคนก่อนหน้า โดนัลล์ ทรัมป์ มีนโยบายที่ชัดเจนว่า ความสำคัญที่สุดระหว่าง 2 ชาติ คือ ความสัมพันธ์ของสหรัฐกับจีน เราจะไม่ทำสงครามเย็นแบบตอนที่สู้กับสหภาพโซเวียต แต่สิ่งที่เกิดขึ้นพอเปลี่ยนประธานาธิบดี ทรัมป์ไม่ได้คิดเหมือนกัน และตอนนี้ยังเป็นโอกาสเดียวที่จะหยุดจีนได้ สิ่งที่เกิดขึ้นถัดมาคือ ความผันผวนที่เกิดขึ้นทั่วโลก
ความเข้าใจสิ่งที่เป็นมากกว่า Trade War
- เพราะความจริงสงครามการค้าเป็นมากกว่าเรื่องการค้า เปรียบเทียบเป็นหมูสามชั้น
- ชั้นแรก ที่อยู่นอกสุดคือ Trade War เพราะสหรัฐขาดดุลการค้ากับจีน ต้องการให้จีนซื้อถั่วเหลือง เครื่องบินโบอิ้งเพื่อจะลดการขาดดุล และจีนก็พูดทุกวันว่าจะซื้อถั่วเหลืองและเครื่องบิน เทคโนโลยี ชิพ สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงความขัดแย้งแค่ผิวๆ ของหมูสามชั้นเท่านั้น
- ชั้นที่ 2 คือ เทคโนโลยี (Tech War) ไม่ได้ดูเพียงว่า Huawei หรือ Apple จะมาเป็นเจ้าตลาดสมาร์ทโฟน เพราะสิ่งสำคัญที่ซ่อนอยู่คือชั้นที่ 3
- ชั้นที่ 3 คือ เป็นผลต่อเนื่องจากการใช้เทคโนโลยีสมาร์ทโฟนที่มีมิติของคำว่าความปลอดภัยของข้อมูล นั่นคือ “เรื่องของความมั่นคง” เช่น การใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) การพัฒนา 5 G เนื่องจากสิ่งเหล่านี้ต่อไปต้องมีการไปปรับใช้กับการทหารได้ด้วย
2. สงครามครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายที่เป็นแค่เรื่องของการค้าขายกัน แต่ไปถึง Tech War เสมือนเป็นสงครามเย็นอีกครั้งหนึ่ง แต่เป็นสงครามยุคสมัยใหม่ หากเทียบกับสามก๊กก็เหมือนเป็นหนังม้วนยาวที่ไม่ได้จบกันง่ายๆ ยังไม่มีบทสรุปหรือคำว่าจบออกจากปากของใคร มีเพียงแต่คำว่า พักรบ เพราะฉะนั้นสงครามการค้าครั้งนี้เป็นการทำศึกระยะยาว
3. เป็นเรื่องเมกะเทรนด์ใหม่ จาก “โลกาภิวัฒน์” สู่ “โลกสองแกน” ความหมายคือตลอด 20-30 ปี ที่ผ่านมาห่วงโซ่เศรษฐกิจโลก คือ การค้าโลกที่ทุกคนคือ “ห่วงโซ่เดียวกัน” เช่น การผลิตโทรศัพท์เป็นทุนมาจากสหรัฐ แต่ไปผลิตที่จีน ชิ้นส่วนโทรศัพท์มาจากหลายประเทศ ตั้งแต่ เกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน และไทย และต่างก็ส่งออกไปขายทั่วโลก ต่างก็ได้ประโยชน์และคิดว่ารวยไปด้วยกัน แต่จุดเปลี่ยนเริ่มขึ้นเมื่อสหรัฐบอกว่า เพราะเทคโนโลยียุคใหม่มีมิติเรื่องความมั่นคง เพราะสหรัฐก็คงไม่ใช้ 5 G ของ Huawei เพราะถ้าวันใดวันหนึ่งทะเลาะกันขึ้นมา จะมีการรับประกันได้อย่างไรว่า ต่างจะไม่ปิดสัญญาณ หรือที่จะไม่ทำให้อีกฝ่ายได้รับผลกระทบ
“สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ กฎหมายสหรัฐออกมาชัดเจนแล้วว่า ต้องการแยกเรื่องเศรษฐกิจของ 2 ประเทศนี้ ให้ออกจากกันอย่างชัดเจน โดยการห้ามบริษัทสหรัฐค้าขายกับ Huawei ด้าน Huawei เองก็จะไม่ใช่แอพลิเคชั่นของ Google และผลที่เกิดขึ้นคือ โรงงานผลิตพิกเซล (Pixel) ของ Google ก็ย้ายโรงงานการผลิตจากจีนไปที่เวียดนามแทน ขณะที่ Apple ก็ย้ายโรงงานจากจีนกลับไปที่รัฐเท็กซัส”
สิ่งที่ชัดเจนมากขึ้นของ 2 ประเทศ
- 2 ห่วงโซ่เศรษฐกิจ จากเดิมที่ทั่วโลกมีห่วงโซ่เดียวทั้งหมด ทำให้มีการเติบโตทางเศรษฐกิจไปด้วยกัน แต่เมื่อเกิดความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและจีน ซึ่งต่างเป็นประเทศใหญ่ทั้งคู่จะไม่ค้าขายกัน ก็ถือเป็นเรื่องธรรมชาติที่จะทำให้การค้าขายทั่วโลกลดลง รวมทั้งยังทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจโลกก็ต้องลดลงต่อเนื่องเช่นกัน
- 2 อินเตอร์เน็ท เมื่อเกิดกรณีสหรัฐห้ามทำธุรกิจกับ Huawei และ Huawei ก็ต้องแก้เกม อันดับแรกเขาต้องคิดระบบปฏิบัติการใหม่
Harmony OS ซึ่งเป็นที่รับรู้ว่ายอดขายของ Huawei จะต้องลดลงอย่างต่อเนื่อง เพราะคนจะใช้ Google App แต่สิ่งที่เขาต้องทำ คือการนำบริษัท Tech ของจีนมาบุกโลก ไม่ใช้ Google Map แต่เป็น Baitu Map และจากนี้ไปจะเห็นภาพ 2 บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีน ผนึกกำลังกันเป็นพันธมิตรกันมากขึ้น ซึ่งข้อเท็จจริงในทุกวันนี้คือ กลุ่ม Tech จีนกำลังบุกโลก เห็นได้จากหลายแอพพลิเคชั่นตอนนี้เป็นของทุนจีน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ
- 2 สกุลเงินดิจิทัล ที่ตอนนี้เฟสบุคยังไม่ได้รับอนุมัติในการออก Libra ขณะจีนมีการนำเสนอข่าวว่าจะมีการทำหยวนดิจิทัล
สหรัฐเดินหมากรุก–จีนเดินหมากล้อม
ต้องเข้าใจว่านี่คือ ศึกกับกลยุทธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐ Henry Kissinger นักการฑูตชั้นครูของสหรัฐ เคยเปรียบเทียบไว้ในหนังสือ On China ซึ่งถือเป็นคนหนึ่งที่มีความเข้าใจเมืองจีน เพราะเขาเป็นคนแรกที่ริเริ่มความสัมพันธ์สหรัฐกับจีน เขามองว่า คนจีนเวลาเขาจะคิดเหมือนเล่นเกมหมากล้อม ขณะที่คนสหรัฐคิดเหมือนเล่นหมากรุก แปลว่า สหรัฐเก่งมากกับการที่มีจุดโฟกัสที่ชัดเจนว่าต้องรุกฆาตตัวขุนให้ได้ ฉะนั้นเกมอะไรที่ตัดสินการแพ้ชนะกันที่เกมเดียวนั่นคือ สหรัฐ แต่จีนเก่งเรื่องของการวางหมากล้อม ที่สามารถรอเกมที่ยืดเยื้อยาวนาน โดยจะวางหมากไว้ หมากล้อมต้องเล่นกินพื้นที่ เปิดศึกทุกพื้นที่ด้านบน ด้านล่าง ตรงกลาง คู่แข่งก็อาจงงบ้าง เพราะบางทียอมแพ้ด้านบนไปเพื่อที่จะมากินด้านล่าง แล้วจุดที่ตัดสินแพ้ชนะ อาจชนะกันเพียงนิดเดียว หรือเพียงแค่แต้มเดียวเท่านั้น ไม่ได้ชนะขาดและรุกฆาตเหมือนหมากรุก
“อย่างอดีตประธานสภาผู้แทนสหรัฐที่เคยเขียนหนังสือเกี่ยวกับทรัมป์สู้กับจีน ได้ประเมินว่า การวางหมากเดินของจีนมีการวางที่ดี เมื่อเกมสหรัฐจะโฟกัสแค่จุดเดียว แต่ของจีนจะมีความหลากหลายจุดในกระดาน แล้วในกระดานก็มีการเชื่อมโยงจุดหลายแห่ง เช่น การพัฒนา 5 G ที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว การสร้างเกาะเทียมในทะเลจีนใต้ การบุกยึดเทคโนโลยีสหรัฐ ยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมใหม่ที่จะออกไปลงทุนในเอเชียกลางและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งหมดนี้เป็นหมากที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กันหมด และถ้าสหรัฐมัวแต่เล่นเกมหมากรุกจะมองไม่เห็นเกมของจีน และจะไม่เข้าใจว่านี่คือเกมเดียวกันที่ต้องการจะชนะกินรวบล้อมทั้งกระดาน”
นอกจากนั้น ตอนนี้คนจีนเขามองเรื่อง Trade War ไม่ได้เป็นเรื่องตื่นเต้นแล้ว และนี่คือเรื่องปกติใหม่ (New Normal) อยู่ 2 เรื่องคือ การที่เศรษฐกิจจีนจะโตขึ้นประมาณ 6 % แรกๆ ตื่นเต้นที่มีการโตลดลง แต่ภายหลังมองเป็นเรื่องปกติ และเรื่องที่สองมองว่าสงครามการค้าเป็นเรื่องหลัก 10 ปี เรื่องยาว
เมื่อจีนเดินเกมยาวต้องทำอย่างไร?
ดังนั้น พอจะเห็นภาพชัดแล้วว่า สงครามครั้งนี้จะยืดเยื้อ ซึ่ง ดร.อาร์ม ก็ไม่ได้มีคำตอบให้ เพียงแต่บอกว่า สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ต้องเปลี่ยนคำถาม ต้องเริ่มถามคำถามใหม่ 3 ข้อว่าจะทำธุรกิจ วิเคราะห์หุ้น เปลี่ยนตามยุคโลก 2 แกน กันอย่างไร
- ข้อแรก เมื่อสงครามการค้าเป็นเพียงพักรบระยะสั้น แต่สงครามเกิดในระยะยาว สิ่งที่ต้องทำคือ “ต้องจับจังหวะรถไฟเหาะ เสาะหาโอกาสลงทุน” เพราะปัจจัยสำคัญคือ ไม่ใช่ปัจจัยเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว และต้องเข้าใจด้วยว่าจะเกิดความผันผวนในระยะยาว “เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย” เพราะเมื่อขนาดเศรษฐกิของทั้ง 2 ประเทศมีขนาดใหญ่และเชื่อมโยงกัน หากมีการแยกเศรษฐกิจกันต่างก็จะเจ็บมากด้วยกันทั้งคู่ ดังนั้น เมกะเทรนด์ยังไม่เปลี่ยน ทั้ง 2 ประเทศจะค่อยๆ แยก แต่คำว่าแยกไม่ได้หมายความถึงว่า จะเกิดขึ้นเลวร้ายตลอด ถ้าเกิดการลงทุนแบบมีจังหวะ เราต้องจับจังหวะให้ได้ แต่ถ้าเป็นนักลงทุนรยะยาว ต้องเข้าใจว่าสถานการณ์มันจะมีความผันผวนมาก ไม่ต้องตื่นเต้นตามข่าว
“ก่อนหน้านี้เรื่องสงครามการค้า หากถามตอนที่เพิ่งเกิดเหตุการณ์ใหม่ๆ นักเศรษฐศาสตร์หลายคนบอกว่า โอกาสเกิดสงครามการค้าเป็นไปไม่ได้ เพราะเรากำลังอยู่ในยุคของโลกาภิวัฒน์ เพราะจากทฤษฎีเชิงเศรษฐศาสตร์บอกแล้วว่า ความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ การค้าโลกมีประสิทธิภาพและทุกคนได้ประโยชน์ ทรัมป์น่าจะขู่ไปอย่างนั้น ไม่มีใครคิดว่าจะเกิดขึ้นจริงแล้วยาวนานอย่างนี้ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นมันไม่ถูกต้องตามหลักการคิดแบบมีเหตุผลทางเศรษฐกิจ เขาไม่น่าทำสงครามกัน แต่ทั้งหมดเป็นเรื่องความเทคโนโลยีที่มีมิติเรื่องความมั่นคงที่ซ่อนอยู่มากกว่าเศรษฐกิจ ดังนั้น ต้องติดตามข่าวสารและวิเคราะห์ว่าจีนเน้นเดินหมากล้อม ทำให้ต้องเข้าใจหมากทั้งกระดาน”
- ข้อสอง “ต้องจับการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่เศรษฐกิจใหม่” คำถามใหม่ที่ต้องถามใหม่คือ แต่ละธุรกิจปรับห่วงโซ่เศรษฐกิจทันหรือไม่กับโลกสองแกน เช่น เคยขายของให้ใคร เขาย้ายฐานการผลิตไปไหน นักลงทุนต้องวิเคราะห์ว่า บริษัทไหนจะได้ประโยชน์จากโลกใหม่ที่ไม่ใช้โลกของโลกาภิวัฒน์ บริษัทไหนปรับตัวทันและปรับตัวเร็ว คนที่เก่งไม่ใช่คนที่ต้องเลือกว่าจะเลือกฝั่งไหน เพราะความจริงเขาสามารถอยู่ได้ทั้ง 2 แกน
“สิ่งสำคัญตอนนี้คือ จากเดิมที่เราตั้งคำถามว่าเราจะทำอย่างไรให้เราได้อยู่ในห่วงโซ่โลก แต่ตอนนี้คือ คำถามต้องตั้งว่า เราจะทำอย่างไรที่เราจะไปอยู่ในห่วงโซ่ของทั้งสหรัฐและจีน อีกทั้งปัจจุบันคำถามในแต่ละธุรกิจก็จะมีความแตกต่างกัน เพราะบางธุรกิจก็เหมาะสมที่จะไปลิงก์อีกห่วงโซ่หนึ่งมากกว่า”
ข้อสาม ต้องจับการรุกของจีนและสหรัฐให้เป็นโอกาส เพราะที่ผ่านมาเน้นแต่การรุกของจีน แต่จริงๆ สหรัฐก็รุกเช่นกัน โดยของจีนทำเส้นทางสายไหม แต่ตอนนี้สหรัฐก็กำลังเริ่มเน้นไปที่ “อินโดแปซิฟิก” นั่นแสดงว่าสหรัฐเขาก็ต้องการเราเป็นพวก เพราะฉะนั้นทุกวิฤตคือโอกาส ต้องดูว่าธุรกิจไหนใช้ประโยชน์ได้ดีในสถานการณ์อย่างนี้ เราต้องหาพันธมิตรและเสาะหาโอกาส แต่ก็ต้องตอบให้ได้ด้วยว่า อำนาจต่อรองเราอยู่ที่ไหน อะไรบ้างที่ให้สายสัมพันธ์ในพื้นที่ อะไรที่โนฮาวที่เป็นท้องถิ่น
“สิ่งที่จะทิ้งท้าย ตอนนี้หลายคนเน้นไปที่คำว่า Disruption ซึ่งเมื่อก่อนเราจะคิดถึง “เทคโนโลยี” “สังคมผู้สูงอายุ” แต่หากมองการลงทุนยะยาว แท้จริงแล้วมันมีเรื่อง การเปลี่ยนแปลงเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical Disruption) ของโลกที่จะกระทบกับเราไปในระยะยาวแน่นอน”
You must be logged in to post a comment.