HomeUncategorizedสิ่งที่นักลงทุนต้องดูบนโลกของภาคธุรกิจจริง

สิ่งที่นักลงทุนต้องดูบนโลกของภาคธุรกิจจริง

สำหรับ Speaker คนที่ 3 ในงาน StockRadars Day 2019 ที่นำมาเสนอรายละเอียดให้ผู้ลงทุนคือ “ธันยวัชร์ ไชยตระกูลชัย” ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด ที่ผ่านการสัมภาษณ์ผู้บริหารทั้งที่อยู่ในภาคธุรกิจขนาดใหญ่ ทั้งที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือบริษัทที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์ ทำให้ได้สัมผัสมุมมองแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ วิเคราะห์ และเห็นการปรับตัว ของผู้บริหารและซีอีโอหลายๆ แห่ง พร้อมที่จะมาส่งต่อคำแนะนำจากประสบการณ์ที่ได้พบเจอทั้งในยุคก่อนหน้า ปัจจุบัน รวมถึงการมองในอนาคตว่า แต่ละอุตสาหกรรมย่อมได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงหรือดิสทรัปนี้อย่างไรบ้าง ในหัวข้อ “Unlearn – Relearn”

ยุคที่บริษัทต้องแข่งขันเพื่ออนาคต

เมื่อโลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สิ่งที่เป็นตัวแปรในการขับเคลื่อนหลักบนโลกนี้คือ “เทคโนโลยี” จนไม่สามารถคาดการณ์ได้เลยว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นบนโลกใบนี้บ้าง ความสำเร็จที่เคยเกิดขึ้นในอดีตไม่สามารถที่จะเรียนรู้ได้เหมือนเดิมว่า จะนำมาใช้ปัจจุบันแล้วจะสำเร็จเหมือนที่ผ่านมา เมื่อทุกอย่างกำลังเปลี่ยน ทุกคนก็ต้องปรับตัว เพราะองค์ประกอบการของการใช้ชีวิตและการดำเนินธุรกิจจะไม่เหมือนเดิม โดยที่จะมีผู้เล่นใหม่ๆ กลยุทธ์ใหม่ๆ มาให้เห็นเสมอ  

“ทุกอุตสาหกรรมต้องเผชิญกับคำว่าดิสทรัปอย่างแน่นอน สิ่งที่จะต้องดูคือ บริษัทไหนที่จะอยู่รอดจากยุคที่เปลี่ยนแปลงไวเช่นนี้ ทำให้ทุกบริษัทตอนนี้อยู่ในภาวะ Competing for the Future นั่นหมายถึง การที่จะทำให้บริษัทมีความสามารถในการแข่งขันเพื่ออนาคตได้”

ปัจจุบันถือว่ายังไม่เห็นอุตสาหกรรมไหนที่จะรอดพ้นจากการถูกดริสทรัปเลย หรือบางธุรกิจก็มีโอกาสถึงขั้นล่มสลายเลย ทั้งนี้ เริ่มเห็นจาก ธุรกิจมีเดียก็ได้รับผลกระทบไปแล้ว ซึ่งคาดว่าอนาคตจะเหลือเพียงเบอร์ 1 และ 2 เท่านั้น หรืออย่างธุรกิจแบงก์ตอนกลัวว่าจะถูกดิสทรัปจนมีการยกเลิกค่าธรรมเนียม (ค่าฟี)ในการโอน เมื่อสัดส่วนรายได้ค่าฟีหายไป เงินชดเชยจากรายได้อื่นยังไม่กลับมาก็มีผลต่อกำไรสุทธิ หรือธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจอสังหาก็ได้รับผลกระทบเหมือนกัน หรือแม้กระทั่งธุรกิจอาหารที่อาจมองว่าไม่ได้รับผลกระทบเพราะอย่างน้อยคนยังต้องกินต้องใช้ แต่การประกอบธุรกิจหรือกระบวนการที่มีการส่งอาหารก็มีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน

“แต่ก็ควรติดตามอุตสาหกรรมที่การเปลี่ยนแปลงทำให้เขาเติบโตขึ้นมาได้ด้วย ที่เห็นได้ชัดคือ ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ ที่มีการเติบโตสูงอยู่ในปัจจุบันนี้ ย่อมส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอย่างการขนส่งระบบโลจิสติกส์ก็สามารถเติบโตอย่างโดดเด่น”

Unlearn-Relearn คีย์เวิร์ดยุคนี้

สิ่งที่เห็นได้อย่างหนึ่งจากการอ่านหนังสือ “ความสำเร็จดีใจได้วันเดียว” ของคุณธนินท์  เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่มองแบบนี้ เพราะเขาเชื่อว่าพรุ่งนี้อาจมีคนที่เก่งและเหนือกว่าเรา โดยมีการคิดแบบคนจีน เหนือฟ้ายังมีฟ้า เหนือคนยังมีคน เพราะฉะนั้นทุกอย่างต้องพัฒนาให้เร็วขึ้นทุกวัน แม้ซีพีบอกว่าไม่ใช่ปลาใหญ่ที่กินปลาเล็ก แต่ซีพีต้องเป็นปลาเร็วที่กินปลาช้า ซึ่งมุมมองส่วนตัวคือ “ถ้าซีพีเป็นปลาที่ส่วนใหญ่เราคิดว่าเขาเป็นปลาใหญ่ด้วย และมีการเคลื่อนย้ายที่เร็วด้วย แล้วพวกที่เป็นปลาเล็กแล้วมีการเคลื่อนไหวช้าด้วยจะอยู่อย่างไร” นั่นคือสิ่งสำคัญ

ปัจจุบันองค์กรต้องไม่ใช่เป็นการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ หรือเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization) แบบสมัยก่อน เพราะทุกอย่างได้เปลี่ยนไปแล้ว อย่าง “ชฎาทิพ จูตระกูล” ซีอีโอ บริษัท สยามพิวรรธน์ ก็บอกว่า ประสบการณ์หรือการเรียนรู้ที่ทำธุรกิจค้าปลีกมาตลอดกว่า 30 ปี ตอนนี้ใช้ได้เพียง 10 % เท่านั้น แสดงว่าที่เหลืออีก 90 % ใช้คำว่าอาบน้ำร้อนมาก่อนไม่ได้แล้ว

“ผู้ลงทุนต้องไปดูว่าผู้บริหารคนไหนที่ UnLearning บ้าง หรือการอยู่ในอุตสาหกรรมกรรมหนึ่งไปนานๆ แล้วไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลย เพราะคิดว่าหากสามารถจับลูกค้ารายใหญ่หรือทำธุรกิจแบบเดิมก็โอเคแล้ว นั่นถือว่าซีอีโอไม่มี UnLearn ที่สำคัญไปกว่านั้นคือก็ควรมีการ Relearn ที่พร้อมที่เรียนรู้สิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นเสมอ โดยไม่เพิกเฉยต่อสถานการณ์”

เขายกตัวอย่างในธุรกิจแบงก์ จากที่เคยคุยกับผู้บริหารท่านหนึ่งบอกว่า ปัจจุบันสัดส่วนการทำธุรกรรมในแบงก์เหลือเพียงแค่ 4 % ที่เหลือ 90 % อยู่ในแอพพลิเคชั่นบนมือถือ ดังนั้น การทำแผนธุรกิจแบบ 3-5 ปีแบบเมื่อก่อนไม่สามารถนำมาใช้ได้กับยุคปัจจุบันแบบนี้แล้ว หรืออย่างคุณตัน ภาสกรนที ผู้บริหารและเจ้าของบริษัท อิชิตัน กรุ๊ป (ICHI) แม้ตอนนี้ราคาหุ้นอาจจะร่วงมาจากช่วงที่ขายไอพีโอไปเยอะบ้าง แต่สิ่งที่ได้มุมมองจากคุณตันคือ เวลาที่คุณตันจะเอาอะไรมาขายส่วนใหญ่ไปดูเมืองนอกเป็นหลัก โดยเฉพาะอะไรที่อยู่ในตู้แช่ประเทศที่มีลักษณะที่ใกล้กับเรา เช่น ญี่ปุ่นกับไต้หวันเมื่อเอาเข้ามาเข้ามาในประเทศไทยมักไม่ค่อยผิดพลาด

แนะดูประเภทของ CEO

  • CEO ที่เป็น Innivator หมายถึงเป็นผู้บริหารที่มีหัวก้าวหน้าที่พร้อมริเริ่มการทำสิ่งใหม่ และพร้อมที่จะวิ่งเร็ว หรือทำอะไรเป็นคนแรกๆ ในอุตสาหกรรมนั้น ซึ่งปกติจะมีสัดส่วนประมาณ 5 % เท่านั้น
  • CEO ที่มีการวิ่งระยะปานกลาง โดยรอวิ่งตามคนอื่นที่วิ่งเร็วที่สุดอย่าง Innivator
  • CEO ประเภทที่ขอดูก่อน 2 ประเภทที่ทำไปแล้วจะออกมาดีมั้ย ซึ่งถ้าผลออกมาว่าเขาทำแล้วโอเคผลลัพธ์ดีก็จะค่อยเริ่มทำ
  • CEO ที่ไม่คิดจะทำอะไรเลย

ตัวอย่างที่ชอบแลกเปลี่ยนแนวคิดกับซีอีโอ 2 ท่านคือ “วิกรม กรมเดิษฐ์” ประธานกรรมการ บริษัท บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน (AMATA) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์” ประธานกรรมการ บริษัท อาร์เอส (RS) ที่น่าจะเป็น CEO แบบ “Innivator” เพราะเฮียฮ้อเป็นคนที่ไม่ยอมที่จะรอให้สถานการณ์หรือการถูกดิสทรัปมามีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของบริษัท เพราะเขาเห็นช่องทางมานานแล้วว่าอนาคตต้องมีการเปลี่ยนแปลงธุรกิจ หลังจากเริ่มเห็นว่ารายได้จากการขายสินค้าทางทีวีจะสูงกว่ารายได้จากค่าโฆษณา

อีก 2 ปีข้างหน้า อุตสาหกรรมสู่ยุค 10 X

หมายถึงในอนาคตแต่ละอุตสาหกรรมจะเริ่มเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงสู่การทำธุรกิจเป็น 10 เท่าของการเปลี่ยนแปลง (10X) ซึ่งตอนนี้จะเริ่มเห็นและเห็นการเกิดขึ้นอย่างมหาศาล เหมือนกับที่ในหนังสือ “Only The Paranoid Survive” หรือ ผู้ตื่นตัวเท่านั้นที่อยู่รอด ของ แอนดรูว์ โกรฟ แม้จะเป็นหนังสือที่ออกมานานแล้วแต่เชื่อว่ามันยังสามารถใช้ได้ในยุคปัจจุบัน เพราะสิ่งที่เขาทำคือ การเปลี่ยนกลยุทธ์จากที่เคยผลิตแรมหน่วยความจำหลักของคอมพิวเตอร์ และเมื่อญี่ปุ่นสามารถผลิตแรมได้ถูกกว่า 50 % เขาก็เริ่มวางกลยุทธ์ใหม่โดยเลือกที่จะเปลี่ยนแปลงและไม่สู้กับการทำธุรกิจแบบเดิม โดยทำให้ Intel เป็นมากกว่าผู้ผลิตไมโครโพรเซสเซอร์

หากเทียบกับสถานการณ์ปัจจุบันคือ อนาคตบริษัทที่จะทำแบตเตอรี่ก็ย่อมมีอนาคตเพราะคนจะหันไปใช้รถไฟฟ้าแทนการเติมน้ำมัน ซึ่งทำให้เห็นว่าอนาคตจะมีการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างมหาศาลได้ จนบางอุตสาหกรรมอาจจะมีแนวโน้มที่หายไป

CEO-พฤติกรรมราคาหุ้น-รูปแบบธุรกิจ

อย่างไรก็ดี เรื่องภาวะตลาดหรือวงจรของธุรกรรมก็มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงราคาหุ้น ซึ่งหากพิจารณาเทียบกับภาวะหุ้นที่เป็นขาลง เมื่อเทียบกับตัวอุตสาหกรรมไหนที่เป็นขาลงอยู่แล้ว ต่อให้ซีอีโอเก่งขนาดไหนก็ยังเหนื่อยและบริหารจัดการยาก

ดังนั้น  ผู้ลงทุนควรดูวิสัยทัศน์ของซีอีโอแล้ว ยังต้องดูเรื่ององค์ประกอบของคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) ประกอบด้วย รวมถึงต้องติดตามดูว่าใครเป็นเจ้าของ ขณะเดียวกันต้องดูด้วยว่า CEO มีทั้ง Unlearn และ Relearn หรือไม่ และควรดูรูปแบบการทำธุรกิจด้วยว่า ถ้าอุตสาหกรรมมีการเปลี่ยนแปลงก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงโมเดลธุรกิจและกลยุทธ์การทำธุรกิจไปด้วย รวมถึงดูกฎเกณฑ์ของผู้ตั้งกฎต่างๆ ที่จะออกมาส่งผลกระทบด้วย (Regulator) เช่น หากไปโดนเรื่องภาษีความหวานอย่างธุรกิจเครื่องดื่มก็ต้องได้รับผลกระทบ

นอกจากนั้น ผู้ลงทุนยังควรดูว่าหุ้นตัวนั้นมีกองทุนขนาดใหญ่ถือมากน้อยขนาดไหน หรือหุ้นนั้นประกอบธุรกิจอยู่ในสถานะของการผูกขาดหรือมีฐานะและอำนาจเหนือตลาดโดยรวมขนาดไหน เป็นเบอร์ 1 หรือ 2 ของอุตสาหกรรม ซึ่งปัจจุบันหุ้นหรือบริษัทที่มีลักษณะอย่างนี้มีเพียงกว่า 10 แห่งเท่านั้น และถ้าเมื่อใดที่เขาลงทุนหรือมีการลงมือทำอะไรก็จะมีความได้เปรียบ

เมื่อดูสภาพแวดล้อมที่แท้จริงของรายภาคธุรกิจแต่ละบริษัทแล้ว ตั้งแต่ CEO อำนาจเหนือตลาด กฎระเบียบต่างๆ ซึ่งถ้าเวลาบริษัทมีข่าวในด้านไหนหรือได้รับผลกระทบจากปัจจัยอื่นที่เข้ามา ก็ต้องมีการทำแพตเทิร์นราคาหุ้นที่ขึ้นหรือราคาหุ้นที่ลงไปด้วย เพื่อมีการศึกษาพฤติกรรมการขึ้นและลงของราคาหุ้นนั้นประกอบไปด้วย