HomeOn Radarsธปท. ปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาว ลดเงินเข้า FIDF ผลักกลุ่มธนาคารรับปัจจัยเร่ง

ธปท. ปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาว ลดเงินเข้า FIDF ผลักกลุ่มธนาคารรับปัจจัยเร่ง

         ตลาดหุ้นไทยเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมานับว่าเขียวสดใสพอสมควร จากแรงฟื้นตัวเชิงบวกในหุ้นหลายๆ ตัวโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มธนาคาร ซึ่งได้รับอานิสงค์จากปัจจัยเชิงบวกเมื่อธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศแนวทางช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มลูกหนี้รายย่อยและ SMEs มีการขยายตัวการให้สินเชื่อฟื้นฟูที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมีมาตรการผ่อนปรนให้กับสินเชื่อลูกหนี้รายย่อย อาทิ ขยายวงเงินสูงสุดสำหรับผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท ขยายวงเงินสูงสุดและเวลาในการชำระสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล ตลอดจนยังคงมาตรการผ่อนคลายไม่เปลี่ยนแปลงสำหรับอัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำบัตรเครดิตไว้

         นอกจากนี้ ธปท. ยังส่งแรงกระตุ้นไปยังกลุ่มสถาบันการเงิน โดยประกาศลดอัตราเงินนำส่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) จากปกติร้อยละ 0.46 ลดลงเพียงร้อยละ 0.23 ต่อปี โดยมีระยะเวลาไปถึงสิ้นปี 2565 รวมไปถึงให้ความยืดหยุ่นกับสถาบันการเงินในการจัดชั้นกลุ่มลูกหนี้และการตั้งสำรอง เพื่อให้การปรับโครงสร้างหนี้เป็นไปในระยะยาวได้อย่างยั่งยืน

         จากมาตรการดังกล่าว ส่งผลให้กลุ่มสถาบันการเงินอย่างธนาคารมีความแน่นอนมากขึ้นในแนวทางการดำเนินงาน เนื่องด้วยก่อนหน้านี้มาตรการพักจ่ายหนี้ระยะสั้นออกไปอย่างไม่มีกำหนดไม่เป็นผลดีต่อทั้งสองฝ่าย ทั้งในฝั่งลูกหนี้เองที่เกิดความรู้สึกไม่แน่นอน ในขณะที่ธนาคารต้องแบกรับความไม่แน่นอนด้วยต้นทุนการดำเนินงานที่ค่อนข้างสูง รูปแบบการส่งผ่านนโยบายการเงินในรูปแบบนี้จึงมีแนวโน้มที่จะทำให้ต้นทุนการดำเนินงานลดลงและผลักให้ธนาคารลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลดลง ทั้งในส่วนของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MLR) อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) และอัตราดอกเบี้ยเงินเบิกเกินบัญชี (MOR)

         ทั้งนี้ เมื่อมองในภาพรวมผลประกอบการของกลุ่มธนาคารในไตรมาส 2 ของปีนี้ คุณภาพสินเชื่อในส่วน NPL ratio ยังคงทรงตัว อีกทั้งยังมีเงินสำรองและสภาพคล่องที่ยังค่อนข้างสูง ภาคธนาคารจึงยังคงความแข็งแกร่งอยู่พอสมควรแม้ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด19 ในอีกด้านหนึ่ง สินเชื่อของธนาคารลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนของปีที่แล้ว เนื่องด้วยการขยายตัวของตลาดตราสารหนี้มากขึ้น ทำให้สินเชื่อภาคธุรกิจปรับตัวลดลงเล็กน้อยเหลือร้อยละ 2.6 ในขณะที่สินเชื่อของ SMEs ขยายตัวจากแรงสนับสนุนการใช้มาตรการ soft loan ตลอดจนสินเชื่อส่วนบุคคลที่ขยายตัวจากความต้องการสภาพคล่อง ตลอดจนสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.3 โดยได้รับแรงส่งจากสินเชื่อที่อยู่อาศัยในแนวราบอย่างสำคัญ

มากไปกว่านั้น กำไรสุทธิในระบบธนาคารพาณิชย์ขยายตัวจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนถึงร้อยละ 72.1 จากผลของการกันเงินสำรองที่ลดลงประกอบกับการเพิ่มขึ้นของรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย โดยมีรายได้ดอกเบี้ยเฉลี่ย (NIM) ทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 2.46 อย่างไรก็ตามแม้ Benchmark ของตัวเลขเหล่านี้จะถือว่ายังต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาด แต่ก็นับว่าแนวโน้มกลุ่มธนาคารเริ่มมีอนาคตที่สดใสมากขึ้น

[เพิ่มเติม] ⭐เปิดบัญชีเทรดผ่าน StockRadars กับหลักทรัพย์ กรุงศรี วันนี้ไม่มีค่าใช้จ่าย ไม่มีขั้นต่ำ ง่าย อนุมัติเร็ว และ ยังได้ใช้ StockRadars “ฟรีทุกฟีเจอร์ !!” สมัครเลยที่ 👉🏻 https://bit.ly/33AyotD

#StockRadars #ทำเรื่องหุ้นเป็นเรื่องง่าย #StockRadarsNews

หรือติดตามเรา ในช่องทางอื่นๆ

Website: https://www.stockradars.news

Application: https://www.stockradars.co/getradars

LINE: @StockRadars https://line.me/R/ti/p/%40stockradars

Telegram: https://t.me/StockRadarsBlockdit: https://www.blockdit.com/stockradars