HomeOn Radarsพาณิชย์ เผยผลวิเคราะห์ข้อตกลง ‘BREXIT’

พาณิชย์ เผยผลวิเคราะห์ข้อตกลง ‘BREXIT’

🎉 พาณิชย์ เผยผลวิเคราะห์ข้อตกลง ‘BREXIT’ กรณี EU-UK เจรจาการค้าสำเร็จ ทำไทยได้ลดภาษีรวม 1,524 รายการ หวังส่งออกไทยโต

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตามที่สหราชอาณาจักร(อังกฤษ) และสหภาพยุโรป (อียู) ได้บรรลุข้อตกลงการค้าและความร่วมมือ (EU-UK Trade and Cooperation Agreement) ภายหลังการถอนตัวออกจากอียูของอังกฤษ (Brexit) เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2563 และสองฝ่ายได้ลงนามข้อตกลงการค้าฯ แล้วนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างรอการให้สัตยาบันจากรัฐสภายุโรป คาดว่าจะประชุมภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ในส่วนของสหราชอาณาจักรได้ให้สัตยาบันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

โดยข้อตกลงการค้าฯ ดังกล่าว ทำให้สหราชอาณาจักรกับอียูสามารถทำการค้าโดยไม่มีภาษีศุลกากรและไม่มีโควตาระหว่างกันต่อไปได้ (Zero Tariff & Zero Quota) อย่างไรก็ตาม ผู้ส่งออกจะเผชิญกับพิธีการทางศุลกากรที่ซับซ้อนขึ้น โดยด่านตรวจสินค้าที่พรมแดน เช่น ที่ท่าเรือกาเลส์ และท่าเรือโดเวอร์ ซึ่งเป็นพรมแดนอังกฤษ-ฝรั่งเศส มีข้อกำหนดเรื่องใบขนสินค้าขาเข้าและขาออก ใบรับรองสุขอนามัยอาหาร ซึ่งทำให้ต้นทุนการซื้อขายเพิ่มขึ้นถาวรเมื่อเทียบกับก่อนเบร็กซิท อีกทั้งมีความเสี่ยงในการดำเนินการในระยะสั้น ในช่วงระหว่างรอการให้สัตยาบันของรัฐสภายุโรป ที่อาจมีปัญหาการชะงักงันในการดำเนินการพิธีการศุลกากรและด่านตรวจสินค้าที่พรมแดน

ด้วยการเจรจาและการกลั่นกรองข้อตกลงการค้าฯ ที่ดำเนินการในระยะเวลาอันสั้น คาดว่าอาจต้องมีการเจรจาปรับปรุงรายละเอียดของข้อตกลงการค้าฯ เพิ่มเติมอีกครั้ง อาทิ ข้อตกลงสำหรับธุรกิจบริการ รวมถึงบริการทางการเงินยังไม่มีความชัดเจนนัก เนื่องจากยังไม่ได้ข้อสรุปเรื่อง “การปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน” และยังไม่มีข้อตกลงยอมรับร่วมในคุณสมบัติของนักวิชาชีพต่างๆ

ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 สหราชอาณาจักรจะไม่สามารถเข้าถึงตลาดภาคบริการของอียูได้ดังเดิม เช่น ธนาคารและสถาบันการเงินของสหราชอาณาจักรจะสูญเสียใบอนุญาตประกอบกิจการในอียู ต้องระงับการให้บริการลูกค้าในอียูเป็นการชั่วคราว จนกว่าจะขอใบอนุญาตใหม่ได้ นอกจากนี้ แพทย์ พยาบาล สถาปนิก ไม่สามารถเคลื่อนย้ายไปทำงานข้ามพรมแดน จึงคาดว่าสหราชอาณาจักรและอียูยังคงต้องเจรจากันในเรื่องนี้เพิ่มเติมในช่วงปี 2564

ซึ่ง น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวอีกว่า นักเศรษฐศาสตร์จากซิตี้กรุ๊ปประเมินว่า จีดีพีของสหราชอาณาจักรจะลดลงร้อยละ 2.0-2.5 ในปี 2564 เมื่อเทียบกับการอยู่กับสหภาพยุโรป อย่างไรก็ตาม การมีข้อตกลงการค้าฯ เป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย ช่วยลดความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ โดยในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา พบว่า ความไม่แน่นอนของเบร็กซิทส่งผลให้บริษัทในสหราชอาณาจักรชะลอการลงทุนและการจ้างงาน

ในขณะที่วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน (London School of Economics) ประเมินว่าในระยะยาว เคมีภัณฑ์ เหมืองแร่ และอุปกรณ์ไฟฟ้า ที่เป็นสินค้าสำคัญในอันดับต้นๆ ของสหราชอาณาจักรจะได้รับผลกระทบมากที่สุดจากเบร็กซิท นอกจากนี้ ธุรกิจที่สามารถทำได้ดีท่ามกลางการล็อกดาวน์จากสถานการณ์โควิด-19 โดยเฉพาะธุรกิจแบบ B2B จะเป็นสาขาธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากข้อจำกัดทางการค้าใหม่ๆ

สำหรับส่วนขององค์กรวิจัยของรัฐบาลสหราชอาณาจักรคาดว่า ต้นทุนทางเศรษฐกิจของเบร็กซิทจะสูงกว่าต้นทุนของโควิด-19 อยู่มาก แม้ว่าโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศในระดับสูง โดยส่งผลให้เศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรหดตัวราวร้อยละ 20 ระหว่างเดือนเมษายนถึงมิถุนายน 2563 แต่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คาดว่า เศรษฐกิจสหราชอาณาจักรจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็วเมื่อประชาชนได้รับวัคซีนอย่างกว้างขวาง ในขณะที่ผลกระทบจากเบร็กซิทที่ทำให้การค้าและการเคลื่อนย้ายแรงงานลดลง จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมากและกินเวลายาวนาน

นอกจากนี้ อัตราภาษีนำเข้าของสหราชอาณาจักรหลังเบร็กซิท หลังจากวันที่ 1 มกราคม 2564 ผู้ส่งออกสินค้าไปยังสหราชอาณาจักรจากประเทศที่ไม่มีข้อตกลงทางการค้า จะต้องใช้อัตราภาษีนำเข้าของสหราชอาณาจักร (UK Global Tariff: UKGT) แทนอัตราภาษีภายใต้กรอบเดิมของอียู (Common External Tariff: EU CET) เป็นครั้งแรกในรอบ 50 กว่าปี โดยอัตราภาษี UKGT

โดยสหราชอาณาจักรได้พิจารณาปรับให้เหมาะสมกับความต้องการของประเทศ สนับสนุนธุรกิจในประเทศให้มีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น ซึ่งสหราชอาณาจักรได้ลดอัตราภาษีแก่สินค้าอุปโภคบริโภค ของใช้ในครัวเรือน สินค้าที่เป็นปัจจัยการผลิตในห่วงโซ่อุปทาน และสินค้าที่สหราชอาณาจักรไม่สามารถผลิตได้เอง รวมถึงสินค้าที่สนับสนุนอุตสาหกรรมสีเขียว (เช่น ขวดสุญญากาศ หลอดไฟ LED เป็นต้น) นอกจากนี้สหราชอาณาจักรยังได้ยกเว้นอัตราภาษีนำเข้าชั่วคราวแก่สินค้ายาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ใช้ป้องกันโรคโควิด-19

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยจะได้ประโยชน์จากโครงสร้างอัตราภาษีใหม่ของสหราชอาณาจักร เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมมากขึ้น (Fair Competition) และทำให้เกิดการค้ากันมากขึ้น (Trade Creation) สินค้าไทยจะได้รับประโยชน์จากอัตราภาษีใหม่ของสหราชอาณาจักรที่มีการยกเว้นอัตราภาษี เพิ่มขึ้นจำนวน 732 รายการ จากตารางภาษีเดิมของอียูที่ยกเว้นอัตราภาษีจำนวน 792 รายการ ทำให้สินค้าไทยได้รับการยกเว้นอัตราภาษีทั้งหมด 1,524 รายการ สินค้าสำคัญที่ UK นำเข้าจากไทยและได้ประโยชน์จากภาษีนำเข้าที่ลดลงได้แก่ ไก่แปรรูป ถุงมือยาง รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องเพชรพลอย ซอสปรุงรส อาหารสัตว์เลี้ยง เป็นต้น

ดังนั้น กระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญต่อการเจรจาจัดทำความตกลงทางการค้า (FTA) ระหว่างไทยกับสหราชอาณาจักร โดยมีการศึกษาประโยชน์และผลกระทบจากการจัดทำ FTA กับสหราชอาณาจักร เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการเจรจาในอนาคต ทั้งนี้ สหราชอาณาจักรมีเป้าหมายจะมุ่งหาพันธมิตรทางการค้าใหม่ เพื่อให้ครอบคลุมร้อยละ 80 ของสัดส่วนการค้าทั้งหมด ภายในระยะเวลา 3 ปี ตามนโยบายมุ่งสู่ภูมิภาคเอเชีย All of Asia ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกให้ไทยเป็นเป้าหมายดึงดูดการทำข้อตกลงทางการค้าที่สำคัญ ถ้าหากไทยบรรลุข้อตกลง FTA กับสหราชอาณาจักร จะทำให้ไทยมีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้นเทียบกับคู่แข่ง เกิดการสร้างการค้าเพิ่มขึ้นในกลุ่มสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป อัญมณี เครื่องเงิน เครื่องนุ่งห่ม ชิ้นส่วนยานยนต์ ยางรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น

ทั้งนี้ สำหรับในช่วงเวลา 11 เดือนแรกของปี 2563 สหราชอาณาจักรเป็นตลาดส่งออก อันดับที่ 20 ของไทย (เปรียบเทียบในภูมิภาคยุโรป รองจากสวิตเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ และเยอรมนี) มีมูลค่าการส่งออก 2,828 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 1.3% ของการส่งออกทั้งหมด หดตัว 20.8% ไทยนำเข้าจากสหราชอาณาจักร มูลค่า 1,643 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 26.7% และเกินดุลการค้ามูลค่า 1,185 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเกินดุลการค้าลดลง 10.8%

[เพิ่มเติม] ⭐️ เปิดบัญชีเทรดผ่าน StockRadars กับหลักทรัพย์ กรุงศรี วันนี้ไม่มีค่าใช้จ่าย ไม่มีขั้นต่ำ ง่าย อนุมัติเร็ว และ ยังได้ใช้ StockRadars “ฟรีทุกฟีเจอร์ !!”

สมัครเลยที่ 👉🏻 https://bit.ly/33AyotD