HomeOn Radarsธปท.เปิดนโยบายการเงิน เศรษฐกิจไทยค่อยเป็นค่อยไป สะท้อนทิศทางตลาดโลก

ธปท.เปิดนโยบายการเงิน เศรษฐกิจไทยค่อยเป็นค่อยไป สะท้อนทิศทางตลาดโลก

💸 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยรายงานนโยบายการเงิน ฉบับเดือนกันยายน 2563 คงอัตราดอกเบี้ย 0.5% ต่อปี ชี้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป คาดใช้เวลาไม่น้อยกว่าสองปีถึงจะกลับไปสู่ระดับก่อนการระบาด

โดยเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มหดตัวในปี 2563 แต่มีการทยอยผ่อนปรนมาตรการควบคุมการระบาดและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายประเทศ ส่งผลให้เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าโดยรวมมีแนวโน้มฟื้นตัวเร็วกว่าคาด คณะกรรมการฯ จึงปรับเพิ่มข้อสมมติอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า โดยประเมินว่าจะหดตัวที่ร้อยละ 4.5 ในปี 2563 และกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 4.4 ในปี 2564

ซึ่งการดำเนินนโยบายการเงิน ในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2563 ในการประชุมวันที่ 5 สิงหาคม และ 23 กันยายน 2563 คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี โดยเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป คณะกรรมการฯ เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากตั้งแต่ต้นปี มาตรการการคลังของรัฐบาล รวมทั้งมาตรการการเงินและสินเชื่อที่ออกมาเพิ่มเติมช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นและสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้หลังการระบาดคลี่คลาย นอกจากนี้ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมอาจมีประสิทธิผลไม่มากในบริบทปัจจุบันและอาจเพิ่มความเปราะบางให้กับเสถียรภาพระบบการเงิน โดยควรรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (policy space) ที่มีอยู่อย่างจำกัดเพื่อใช้ในจังหวะที่เหมาะสมและเกิดประสิทธิผลสูงสุด ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่าควรผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ทั้งครัวเรือนและธุรกิจให้เกิดผลมากขึ้น และเร่งรัดการให้สินเชื่อผ่านโครงการต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องให้ตรงจุดและทันการณ์ สอดคล้องกับการปรับโครงสร้างธุรกิจ

คณะกรรมการฯ เห็นว่า ในระยะข้างหน้าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะใช้เวลาไม่น้อยกว่าสองปีถึงจะกลับสู่ระดับก่อนการระบาดและเผชิญกับความไม่แน่นอนสูง นอกจากนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจมีแนวโน้มแตกต่างกันมาก (uneven recovery) ระหว่างภาคเศรษฐกิจและผู้ประกอบการแต่ละกลุ่ม ภาครัฐจึงควรใช้มาตรการที่ตรงจุด (targeted) ทันการณ์ เอื้อให้เกิดการปรับตัวอย่างเหมาะสม รวมทั้งต้องบูรณาการมาตรการให้สอดคล้องและเชื่อมโยงกันมากขึ้น โดยนโยบายการคลังและนโยบายอุปทานต้องมีบทบาทมากขึ้นในระยะข้างหน้าเพื่อแก้ปัญหากำลังการผลิตส่วนเกิน (excess capacity) รวมถึงสนับสนุนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ การปรับรูปแบบการทำธุรกิจ และพัฒนาทักษะแรงงานให้สอดคล้องกับบริบทใหม่

ทั้งนี้ นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อเนื่องจะช่วยสนับสนุนนโยบายการคลังผ่านต้นทุนการกู้ยืมในตลาดการเงินที่อยู่ในระดับต่ำภายใต้สภาพคล่องในตลาดการเงินที่มีอยู่สูง นอกจากนี้ การดำเนินมาตรการด้านการเงินและสินเชื่ออย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะการปรับโครงสร้างหนี้ จะมีส่วนช่วยบรรเทาความเปราะบางของภาคครัวเรือนและธุรกิจ

ส่วนภาวะการเงินไทยโดยรวมยังผ่อนคลาย อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงของไทยยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในตลาดการเงินทรงตัวในระดับต่ำใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยสอดคล้องกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ และการดำเนินธุรกรรมแลกเปลี่ยนพันธบัตร (bond switching) ที่ทำให้ปริมาณพันธบัตรรัฐบาลไทยระยะยาวเพิ่มขึ้น

นอกจากนั้น เศรษฐกิจไทยปี 2563 มีแนวโน้มหดตัวร้อยละ 7.8 เนื่องจากเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ได้รับผลกระทบรุนแรงจากมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวดทั้งในและต่างประเทศเป็นสำคัญ

อย่างไรก็ดี ข้อมูลล่าสุดสะท้อนพัฒนาการที่ดีกว่าคาดในหลายองค์ประกอบ เช่น การลงทุนของภาครัฐและเอกชน รวมถึงการบริโภคภาคเอกชนที่ทยอยปรับดีขึ้น ทั้งนี้ ภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกสินค้ายังคงหดตัวสูง สำหรับเศรษฐกิจไทยปี 2564 มีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 3.6 โดยการส่งออกสินค้ามีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่การส่งออกบริการมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า เนื่องจากคาดว่าจะเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้จำกัด สำหรับอุปสงค์ในประเทศ การใช้จ่ายภาครัฐยังเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัว แต่ยังมีปัจจัยฉุดรั้งจากรายได้ครัวเรือนที่เปราะบางและไม่แน่นอนสูง รวมถึงหนี้ครัวเรือนสูง ทั้งนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะใช้เวลาไม่น้อยกว่าสองปีถึงจะกลับไปสู่ระดับก่อนการระบาด

[เพิ่มเติม] ⭐️ เปิดบัญชีเทรดผ่าน StockRadars กับหลักทรัพย์ กรุงศรี วันนี้ไม่มีค่าใช้จ่าย ไม่มีขั้นต่ำ ง่าย อนุมัติเร็ว และ ยังได้ใช้ StockRadars “ฟรีทุกฟีเจอร์ !!”

สมัครเลยที่ 👉🏻 https://bit.ly/33AyotD