HomeOn Radarsศูนย์วิจัย ธ.ก.ส. คาดราคา ‘ปาล์มน้ำมัน สุกร กุ้ง’ ก.ค.63 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หลังคลายล็อคดาวน์

ศูนย์วิจัย ธ.ก.ส. คาดราคา ‘ปาล์มน้ำมัน สุกร กุ้ง’ ก.ค.63 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หลังคลายล็อคดาวน์

ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตร เดือนกรกฎาคม 2563 เปิดเผยว่า ข้าวเปลือกเหนียว น้ำตาลทรายดิบ ยางพาราแผ่นดิบ ปาล์มน้ำมัน สุกร กุ้งขาวแวนนาไม มีแนวโน้มราคาเพิ่มขึ้น เป็นผลจากมาตรการคลายล็อคดาวน์และสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในหลายประเทศเริ่มคลี่คลาย ด้านข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง มีแนวโน้มราคาปรับตัวลดลง

นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรในเดือนกรกฎาคม 2563 โดยสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ราคาอยู่ที่ 15,629 – 15,811 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.41 – 1.31 เนื่องจากสต็อกข้าวเหนียวของผู้ประกอบการน้อยลง จึงมีความต้องการรับซื้อเพิ่มขึ้น น้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์ก ราคาอยู่ที่ 12.11 – 12.23 เซนต์/ปอนด์ (8.30 – 8.38 บาท/กก.) เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.50 – 1.50 จากแรงหนุนของทิศทางราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อราคาเอทานอล ประกอบกับเงินเรียลของบราซิลที่แข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ ทำให้ความสามารถในการส่งออกน้ำตาลของบราซิลลดลง จึงเป็นแรงกระตุ้นให้โรงงานน้ำตาลของบราซิลเพิ่มสัดส่วนการนำอ้อยไปผลิตเอทานอลมากกว่าน้ำตาล ยางพาราแผ่นดิบชั้น 3 ราคาอยู่ที่ 36.96 – 37.20 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.35 – 1.00 เนื่องจากความต้องการใช้น้ำยางข้น (Concentrated Latex) ของผู้ประกอบการทั้งภายในและต่างประเทศเพิ่มขึ้น เพื่อนำไปผลิตถุงมือแพทย์ ถุงยางอนามัย และยางยืด ประกอบกับได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการที่หลายๆ ประเทศเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ และแนวโน้มราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ความต้องการใช้ยางพาราธรรมชาติมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ปาล์มน้ำมัน ราคาอยู่ที่ราคา 3.18 – 3.25 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.32 – 2.6 เนื่องจากมาตรการคลายล็อคดาวน์ และราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีทิศทางสูงขึ้นเป็นปัจจัยบวกต่อความต้องการใช้น้ำมันไบโอดีเซลในภาคการขนส่ง รวมถึงความต้องการใช้น้ำมันปาล์มเพื่อการบริโภคและใช้ในภาคอุตสาหกรรมภายในประเทศที่เริ่มกลับเข้าสู่ระดับปกติ สุกร ราคาอยู่ที่ 68.41 – 69.28 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 1.54 – 2.84 เนื่องจากภาครัฐมีมาตรการผ่อนคลายล็อคดาวน์ และการเปิดภาคเรียน ปีการศึกษา 2563 จะส่งผลให้ความต้องการบริโภคเนื้อสุกรภายในประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ประกอบกับประเทศจีนและเวียดนามประสบปัญหาการระบาดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร จึงมีความต้องการเนื้อสุกรจากไทยเพิ่มขึ้น และกุ้งขาวแวนนาไม ขนาด 70 ตัว/กก. ราคาอยู่ที่ 147.00 – 148.00 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.68 – 1.37 เนื่องจากภาครัฐมีมาตรการคลายล็อคดาวน์และมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ ส่งผลให้ความต้องการกุ้งในตลาดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ด้านสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ราคาอยู่ที่ 8,772 – 8,889 บาท/ตัน ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 2.11 – 3.40 เนื่องจากกำลังซื้อของประเทศผู้นำเข้าข้าวลดลงจากผลกระทบทางเศรษฐกิจของการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ประกอบกับค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งขึ้น เมื่อเทียบกับประเทศผู้ส่งออกรายอื่น ทำให้ราคาส่งออกข้าวไทยสูงกว่าประเทศคู่แข่งขัน ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาอยู่ที่ 14,181 – 14,565 บาท/ตัน ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 0.54 – 3.16 เนื่องจากประเทศผู้นำเข้า อาทิ สหรัฐอเมริกา นำเข้าข้าวหอมมะลิปริมาณมากในช่วงที่ผ่านมา จึงเริ่มชะลอการรับมอบข้าวเพราะมีสต็อกข้าวเพียงพอแล้ว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ความชื้นไม่เกิน 14.5% ราคาอยู่ที่ 7.65 – 7.81 บาท/กก. ลดลงจาก เดือนก่อนร้อยละ 1.00 – 3.00 เนื่องจากปริมาณผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว และการนำเข้าจากประเทศเมียนมาที่ผ่อนปรนการนำเข้าไปถึงเดือนสิงหาคม 2563 ประกอบกับเข้าสู่ช่วงฤดูฝนทำให้คุณภาพข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลดลง ส่งผลให้ราคาปรับลดลง และมันสำปะหลัง ราคาอยู่ที่ 1.56 – 1.61 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 0.62 – 3.70 เนื่องจากหลายพื้นที่มีฝนตกชุกไม่เอื้ออำนวยต่อการเก็บเกี่ยวผลผลิต ส่งผลให้หัวมันสำปะหลังมีคุณภาพเชื้อแป้งต่ำ รวมถึงเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมีผลทำให้ราคาซื้อขายหัวมันสดในประเทศลดลง