ตามที่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) THAI ได้ยื่นคำร้องของฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง และทางศาลได้มีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการแล้ว เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2563 นั้น ทางบริษัทได้ชี้แจงถึงแนวทางการฟื้นฟูกิจการในเบื้องต้น ซึ่งจะถูกจัดทำขึ้นโดยผู้ทำแผน ที่ได้รับการแต่งตั้งจากศาลต่อไป โดยได้ระบุถึงการบริหารจัดการใหม่ในหลายส่วน ดังต่อไปนี้
1. การปรับโครงสร้างนี้
เนื่องจากบริษัทมีหนี้สินเป็นจำนวนมาก และไม่สามารถชำระหนี้ที่ถึงกำหนดและกำลังจะถึงกำหนดชำระได้ จึงมีแนวทางในการดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ โดยการเจรจากับเจ้าหนี้รายต่างๆ เพื่อขอขยายระยะเวลาชำระหนี้ออกไป ปรับลดเงินต้นและดอกเบี้ยลงทั้งหมดหรือบางส่วน หรือพักการชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยออกไป รวมถึงจัดหาแหล่งเงินทุนเพิ่มเติมเพื่อเสริมสภาพคล่องระยะสั้นและปรับโครงสร้างเงินทุนในระยะยาว
2. การปรับปรุงเครือข่ายเส้นทางบินและปรับปรุงฝูงบิน
โดยบริษัทจะพิจารณาบริหารจัดการหรือยกเลิกเส้นทางบินที่กำไรต่ำ หรือไม่สามารถปรุงปรุงให้สามารถทำกำไรให้แก่บริษัทได้ในอนาคต ปรับเปลี่ยนเส้นทางการบินให้เหมาะกับสภาพอุตสาหกรรม และการแข่งขัน และอาจมีการปรับลดประเภทของเครื่องบินในฝูงบินเพื่อลดต้นทุนในการดำเนินงานต่อไป
3. ปรับปรุงองค์กรและหน่วยธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบิน
บริษัทจะปรับเปลี่ยนโครงสร้างในหน่วยธุรกิจที่มีความสามารถในการทำกำไร โดยการเพิ่มความคล่องตัวในการบริหารจัดการ เช่นการจัดตั้งบริษัทย่อย การจัดหาพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อเข้าร่วมทุน หาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ เพิ่มศักยภาพในการทำกำไรของบริษัท
4. การปรังปรุงกลยุทธ์ด้านการพาณิชย์และความสามารถในการหารายได้
บริษัทจะดำเนินการปรับปรุงระบบและรูปแบบการจำหน่ายบัตรโดยสาร เพิ่มช่องทางและแพลตฟอร์มให้มากขึ้น รวมถึงพัฒนาขีดความสามารถในการหารายได้ ปรับปรุงโครงสร้างการคิดค่าตอบแทน เงื่อนไข และการประเมิณผลงานของตัวแทนจำหน่ายให้เหมาะสมและรัดกุมมากยิ่งขึ้น
5. ปรับปรุงโครงสร้างองค์กร
บริษัทจะดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างองค์กรให้กระชับ ลดขั้นตอนที่ซับซ้อนและไม่จำเป็น เพื่อศักยภาพในการทำงานในแต่ละหน่วยธุรกิจให้มีความเชื่อมโยงกัน พิจารณาปรับจำนวนพนักงานและสิทธิประโยชน์ค่าตอบแทนให้สอดคล้องกับความสามารถในการบริหารจัดการต้นทุน ค่าใช้จ่าย และกำลังการผลิตของการบินไทย ทั้งนี้ ทางบริษัทได้ระบุว่ายังไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายเรื่องกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของพนักงาน (Provident Fund) และสวัสดิการของพนักงานเปลี่ยนไปเข้าระบบประกันสังคมตามหลักกฏหมายที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ บริษัทได้ชี้แจงปัจจัยที่อาจส่งผลต่อความสำเร็จในการฟื้นฟูกิจการ เช่น การฟื้นฟูกิจการต้องอาศัยความร่วมมือและการสนับสนุนจากเจ้าหนี้ที่เพียงพอตามกฏหมาย รวมถึงการสนับสนุนของรัฐบาลในการติดตามและให้คำแนะนำในการดำเนินการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้บริษัทสามารถดำเนินการได้ตามแผนการฟื้นฟูได้อย่างประสบความสำเร็จ