วันนี้ (27 พฤษภาคม 2563) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อภิปรายเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 ทั้ง 4 ฉบับ
โดยระบุว่า การตราพระราชกำหนดดังกล่าวนั้นมีเหตุผลและความจำเป็นจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เป็นการแพร่ระบาดในวงกว้างและไม่สามารถคาดการณ์ระยะเวลาสิ้นสุดได้ ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจโลกและประเทศไทยเกิดการหดตัวอย่างรุนแรงและรวดเร็ว โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่เริ่มชะลอตัวลงตั้งแต่เดือน ม.ค.63 ทำให้รัฐบาลต้องประกาศปิดพื้นที่เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ทำให้ส่งผลกระทบต่อรายได้ของประเทศและประชาชน ซึ่งรัฐบาลได้พยายามทำทุกวิถีทางในการบริหารจัดการแหล่งเงินภายใต้กรอบกฎหมายที่มีอยู่ เพื่อแก้ปัญหาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมและเพื่อประโยชน์ที่จะรักษาความปลอดภัยสาธารณะ
ทั้งนี้ การตรา พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินนี้ รัฐบาลตระหนักถึงความคุ้มค่าในการใช้จ่ายเงินกู้ จึงได้กำหนดกรอบการใช้จ่ายเงินกู้ตาม พ.ร.ก. ให้ใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ 3 ด้าน คือ
1. ด้านการแพทย์และการสาธารณสุข
2. ด้านการช่วยเหลือ เยียวยา
3. ด้านการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม
สำหรับแนวทางกู้เงินจะพิจารณาแหล่งเงินกู้ในประเทศเป็นหลัก ส่วนแนวทางการชำระหนี้ก็อยู่ในระดับที่รัฐบาลสามารถบริหารจัดการได้
พร้อมยืนยันว่าการใช้จ่ายเงินกู้จะเป็นไปอย่างโปร่งใสสามารถตรวจสอบได้
นายกรัฐมนตรียังกล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้ออกมาตรการเยียวยาผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อมเป็นการช่วยบรรเทาผลกระทบทางการเงินของประชาชนในระยะที่ 1 และระยะที่ 2 รวมทั้งมีมาตรการดูแลและเยียวยาเศรษฐกิจ ทั้งทางตรงและทางอ้อมระยะที่ 3 ซึ่งระยะแรกสามารถช่วยเหลือเยียวยาประชาชนและเกษตรกรกว่า 26 ล้านคน นอกจากนี้ รัฐบาลยังดูแลด้านรักษาเสถียรภาพทางการเงิน ซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รวมถึงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง รัฐบาลจำเป็นต้องเร่งฟื้นฟูความเชื่อมั่นต่อระบบเศรษฐกิจ ให้กลับสู่สภาวะปกติโดยเร็วด้วย