HomeUncategorizedรายได้และกำไร หัวใจสำคัญของหุ้นที่ดี

รายได้และกำไร หัวใจสำคัญของหุ้นที่ดี

จริงๆแล้ว ในการซื้อหุ้นนั้น ให้พยายามคิดเสมือนว่า เรากำลังจะซื้อบริษัทหรือกิจการใดสักอย่างนึง

และเพื่อให้แน่ใจว่าบริษัทที่เรากำลังจะซื้อนั้นอยู่รอดและทำรายได้ให้เราไปได้เรื่อยๆ 

ควรเริ่มต้นดูจาก รายได้ และกำไร ของบริษัท

เหตุการณ์สมมติร้านหมูปิ้ง

สมมติร้านหมูปิ้งแถวบ้านประกาศขายกิจการ เราเดินผ่านทุกวันก็เห็นว่าคนซื้อยืนต่อคิวรอซื้อหมูปิ้งตลอดทั้งเช้าและเย็น เราจึงสนใจอยากจะซื้อกิจการหมูปิ้งต่อจากเจ้าของเก่า 

แต่ช้าก่อน!! ก่อนซื้อเพื่อความแน่ใจ ลองดูงบกำไรขาดทุนของร้านหมูปิ้งก่อน

เริ่มต้นที่รายได้

ก่อนอื่นเลย เราต้องดูรายได้ที่ยังไม่หักค่าใช้จ่ายใดๆ ของร้านหมูปิ้งก่อน เพื่อดูว่ารายได้เป็นอย่างไร ที่เห็นว่าขายดีนั้นขายดีจริงหรือไม่ หรือแค่คนมายืนรอเพราะปิ้งหมูช้าเฉยๆ เพื่อเช็คว่า เราไม่ได้คิดไปเองว่า.

ขายดี และถ้ารายได้เพิ่มขึ้นตลอดยิ่งดี

รายได้สมมติของร้านหมูปิ้ง

ปี 2017 รายได้ 1000 บาท/วัน
ปี 2018 รายได้ 1500 บาท/วัน
ปี 2019 รายได้ 2000 บาท/วัน

เห็นรายได้ในแต่ละปีก็ร้องว้าวแล้ว เพราะรายได้เริ่มขึ้นทุกปี อาจจะด้วยการเพิ่มจำนวนไม้ที่ขายในแต่ละวัน หรือเพิ่มข้าวเหนียวแบบต่างๆ ทำให้รายได้ต่อวันเพิ่มขึ้นทุกปี แต่ใจเย็นก่อน ดูแค่รายได้อย่างเดียวไม่ได้ เพราะรายได้ดี ไม่ได้แปลว่ากำไรจะดีด้วย ดังนั้นเพื่อความแน่ใจต้องไปดูกำไรต่อ

Man cooking meat steak on kitchen or home

ดูกำไรเพื่อความแน่ใจ

หลังจากเราดูรายได้แล้วก็ให้มาดูกำไรต่อ โดยการนำต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่างๆ ไปหักออกจากรายได้ เช่น ต้นทุนค่าเนื้อหมู ค่าจ้างคนเฝ้าร้าน ค่าเช่าที่ ซึ่งเมื่อหักทุกอย่างแล้วจะได้ออกมาเป็นกำไรที่เราจะได้จริงๆ ในแต่ละวัน

กำไร = รายได้ – ค่าใช้จ่าย

กำไรสมมติของร้านหมูปิ้ง

ปี 2017 กำไร 500 บาท/วัน
ปี 2018 กำไร 900 บาท/ วัน
ปี 2019 รายได้ 1300 บาท/วัน

จากตัวอย่างจะเห็นว่ากำไรโตตามรายได้ โดยที่ต้นทุนไม่ได้สูงขึ้นมากนัก ถ้าเป็นแบบนี้ร้านหมูปิ้งร้านนี้ก็น่าสนใจที่จะลงทุนซื้อกิจการมาทำต่อ

กลับมาที่เรื่องของหุ้น

หลังจากเหตุการณ์สมมติของร้านหมูปิ้ง ทำให้เราเห็นว่าการที่เราจะซื้อทั้งบริษัทหรือซื้อส่วนหนึ่ง(หุ้น)มานั้น เราควรจะเริ่มต้นดูที่รายได้และกำไรเป็นอย่างแรก เพราะถ้าบริษัทไม่มีกำไร แล้วเราจะซื้อมาทำไม (แต่ในตลาดหุ้นมีบริษัทเยอะมากที่ขาดทุน ดังนั้นดูให้ดี ก่อนซื้อ) และถ้าบริษัทไหนมีรายได้และกำไรเติบโตอยู่ตลอดเวลา ราคาหุ้นของบริษัทนั้นก็มักจะโตตามไปด้วยในระยะยาว (แต่ไม่ใช่ว่า ซื้อวันนี้ พรุ่งนี้ราคาขึ้นนะ)

รายได้เพิ่ม กำไรเพิ่ม คือสุดยอดบริษัท

ในการหาหุ้นสิ่งแรกที่ควรดูคือ บริษัทของหุ้นตัวนั้น มีรายได้และกำไรเป็นบวกสม่ำเสมอหรือไม่ เพราะถ้ารายได้หรือกำไรมีการแกว่งขึ้นลง ก็แสดงว่าบริษัทได้รับผลกระทบจากปัจจัยอื่นๆ ได้ง่าย เช่น ภาษี นโยบายทางเศรษกิจของรัฐบาล ค่าเงินบาท แต่ถ้าบริษัทมีรายได้และกำไรเพิ่มขึ้นหรืออย่างน้อยใกล้เคียงกับของปีก่อน ก็แสดงว่าบริษัทควบคุมปัจจัยความเสี่ยงต่างๆได้ดีในระดับนึง บริษัทแบบนี้น่าลงทุน

ถ้าอยากได้บริษัทที่ดีจริงๆ ไม่ควรดูแค่ปีเดียวหรือ 2 ปี ให้ตรวจสอบงบกำไรขาดทุนย้อนหลังกลับไปอย่างน้อย 5 ปี เพื่อความแน่ใจว่า เป็นการเติบโตโดยธรรมชาติไม่ใช่การโตเพราะขายทรัพย์สินออกไป เราสามารถตรวจสอบรายได้และกำไรย้อนหลังได้ที่เว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ และในแอพ StockRadars

รายได้ลด กำไรลด ควรหลีกเลี่ยง

แล้วถ้าบริษัทนั้นมีรายได้ลดลง และกำไรก็ลดลงด้วยล่ะ?

ถ้าเป็นแบบนี้เราต้องไปตรวจสอบสถานการณ์ทางการเงินว่ามีอะไรเกิดขึ้น เพราะเวลางบการเงินของหุ้นประกาศออกมา ในรายงานของตลาดหลักทรัพย์จะมีบอกว่า การที่รายได้หรือกำไรลดลงนั้นเกิดจากสาเหตุใด ซึ่งเราต้องประเมินว่า สิ่งที่ทำให้รายได้และกำไรลดลงนั้น เป็นเหตุการณ์ชั่วคราว เช่น ค่าเงินบาทต่อเงินดอลล่าอ่อนตัวลงทำให้รายได้จากการส่งออกต่ำลง หรือเป็นเหตุการณ์ถาวร เช่น สินค้าหรือบริการที่บริษัททำได้รับความนิยมลดลงอย่างถาวร เพราะถ้าเป็นเหตุการณ์ถาวรเราควรขายหุ้นออกหรือติดตามข่าวสารของบริษัทอย่างใกล้ชิดว่าผู้บริหารมีมาตราการรับมืออย่างไร เราคงไม่อยากเป็นเจ้าของบริษัทที่ไม่ทำรายได้ใช่ไหมครับ

รายได้และกำไร เป็นเพียงใบเบิกทาง

การมีรายได้และกำไรดีติดต่อกันไม่ได้หมายความว่าเราควรซื้อหุ้นตัวนั้น แต่หมายความว่า หุ้นตัวนั้นน่าสนใจ เพราะนอกจากรายได้และกำไร ยังมีค่าและอัตราส่วนทางการเงินอื่นๆ ที่ควรดูประกอบ แต่การดูรายได้และกำไรก่อนทำให้เราคัดหุ้นที่มีงบการเงินไม่ดี ออกไป เราจะได้เอาเวลามาลงรายละเอียดกับหุ้นที่มีงบการเงินดีแทน

นักลงทุนระดับตำนานอย่าง วอร์เรน บัฟเฟตต์ ได้กล่าวไว้ว่า “กฏข้อแรกคืออย่าขาดทุน กฏข้อสองคืออย่าลืมกฎข้อแรก” ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่เราจะไม่ขาดทุนเลย แต่บัพเฟตต์เตือนสติให้เราใส่ใจกับเงินของเราที่นำไปลงทุน ลงทุนในบริษัท(หุ้น)ที่ดีอย่างรอบคอบและอย่าเอาเงินไปซื้อบริษัท(หุ้น)ที่ไม่ดี