อาจเคยคุ้นกับบทบาทที่หลากหลายในวงการบันเทิงของผู้ชายคนนี้มาแล้ว “พอล-ภัทรพล ศิลปาจารย์” ไม่ว่าจะเป็น ดีเจ นักร้อง นักแสดง พิธีกร แต่วันนี้สิ่งที่เราจะมารู้จักเขามากขึ้นคือ การเป็นนักลงทุนอิสระ จนมีช่อง Youtube เกี่ยวข้องกับการบริหารการเงินของตัวเอง ทว่า จู่ๆ เขาก้าวข้ามมายังโลกการเงินและการลงทุน อะไรคือแรงบันดาลใจของเขา
อดีตทำให้เกิดแรงขับเคลื่อน
“พอล” ย้อนที่มาให้ฟังว่า เดิมครอบครัวเป็นชนชั้นกลางคุณพ่อเป็นอดีตวิศกรเหมืองแร่ และธุรกิจเหมืองเริ่มจะยุติลงในประเทศไทยจึงออกมาทำธุรกิจเอง ขณะที่คุณแม่เป็นข้าราชการด้านการศึกษา ที่ตัวเขาโชคดีที่มีโอกาสไปเรียนที่สหรัฐ แต่จังหวะที่จะขอเรียนต่อระดับปริญญาตรีที่นั้้นต่อ ก็ไม่ได้รับอนุญาตเพราะค่าเงินบาทกำลังลอยตัวในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง
พอกลับมาทำให้รู้ว่าที่บ้านกำลังเป็นหนี้หลายล้านบาท และกลายเป็นจุดเริ่มต้นบอกกับตัวเองว่า “การเงินเป็นสิ่งสำคัญ” พร้อมตั้งปณิธานกับตัวเองว่าต้องหาเงินมาช่วยที่บ้านให้ได้ เพราะเงินโปรเจ็กต์ไฟแนนซ์ที่คุณพ่อกู้แบงก์มาได้เพื่อทำธุรกิจรับเหมาได้นำไปเล่นหุ้นด้วยและก็ขาดทุน จนกลายเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เขารู้สึกว่าตลาดหุ้นเป็นสิ่งไม่ดี
พอมีโอกาสเข้ามาวงการบันเทิงจึงเรียนไปด้วยทำงานไปด้วย เช้ามาจัดรายการวิทยุก่อน 5- 7 โมงเช้าแล้วก็ไปเรียนที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ 8โมเงช้า-5โมงเย็น ก่อนที่จะขยายไปยังานงอื่นๆ ในวงการบันเทิง ถึงวันนี้เขาบอกว่า ต้องขอบคุณอดีตที่ทำให้ได้เรียนรู้ชีวิตว่า อยากได้อะไรต้องลงมือทำเอง และอะไรที่ทำแล้วได้เงินมาช่วยที่บ้านพร้อมทำหมดทุกอย่าง
สร้างจุดแข็ง
แต่ตั้งแต่เด็กก่อนที่บ้านจะเจอวิกฤต “พอล” คิดเสมอว่า อยากมีเงินอยากรวย แต่ไม่อยากทำงานไปตลอดชีวิต โดยคิดว่าถ้ามีเงินสักก้อนต้องเอาไปทำอะไรต่อให้มันเพิ่มพูนเรื่อยๆ เพราะคิดว่าอย่างน้อยต้องมีอะไรที่มาทำเงินแทนการทำงานของเขาได้บ้าง
แต่พอทำงานทุกวันจนไม่มีเวลาใช้เงิน แล้วยังไม่ได้เอาเงินไปต่อยอดอะไร จำได้ว่าขับรถผ่านทองหล่อมีประกาศเซอร์วิสอพาร์ทเมนท์ที่กำลังจะเปลี่ยนเป็นคอนโดมิเนียม จึงตัดสินใจไปซื้อเลย 1 ยูนิต เพราะคิดว่าอย่างน้อยที่ทำเลแบบนี้ต้องปล่อยเช่าได้แน่นอน
พอมีคนแนะนำให้เริ่มเปิดพอร์ตหุ้น แต่ให้เจ้าหน้าที่การลงทุนเลือกหุ้นให้ตลอดเพราะไม่เข้าใจ กับอีกด้านหนึ่งก็ยังไม่ได้เปิดใจกับหุ้น และเข้าใจว่ามันคือการพนันหรือเป็นที่รวมของคนโลภเลย เพราะคุณพ่อเจ๊งไปกับหุ้นเยอะมาก จนเริ่มคิดว่าเรามีแต่เติมเงินไปกับหุ้น เริ่มรู้สึกว่าต้องเริ่มศึกษาบ้าง และไปหนังสือของ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ถึงทำให้เข้าใจว่าการลงทุนหุ้นมันมีทั้งเป็นเทรดเดอร์ และนักลงทุนที่ดูเรื่องเน้นคุณค่าและลงทุนระยะยาว หรือ VI ด้วย จากนั้นก็เริ่มอ่านหนังสือศึกษาสะสมต่อเนื่องมาตลอด เริ่มศึกษาผลสำเร็จว่าเขาไปถึงรวยหรือถึงจุดนั้นได้อย่างไร ซึ่งแตกต่างจากนักลงทุนยุคนี้ที่ถือว่าโชคดีที่สุดแล้ว อยากรู้เรื่องการลงทุนจาก ก็หาข้อมูลใน Google หรือคลิปจาก Youtube
ไม่อยากให้การลงทุนเป็นแค่เรื่องฟลุก
เหมือนการลงทุนเริ่มสร้างสิ่งเซอร์ไพร์สให้กับเขา จากความบังเอิญที่คุณพ่อนำเงินไปต่อแถวจองซื้อหุ้นไอพีโอของ บริษัท ปตท. (PTT) ตอนเข้าตลาดหุ้น และทำให้เขาเห็นผลชัดเจนว่า หุ้นสิบเด้งมันมีอยู่จริงหากต้องอดทนเฝ้ารอ เพราะราคาจากกว่า 30 บาท ขึ้นไปเป็น 300 บาท ซึ่งตอนนั้นมองว่าเป็นเรื่องบังเอิญและฟลุกมากกว่า และคำว่าฟลุกจะไม่เกิดการทำซ้ำเองได้ หรือจะกลับมาหาทุกคนได้ จากที่ศึกษาสะสมข้อมูลไว้บ้าง กลายเป็นจริงจังกับการลงทุนหุ้นมากขึ้นอย่างจริงจัง
โดยยึดอ่านเรื่องราวและศึกษาวิธีคิด 2 นักลงทุนตัวอย่าง คือ วอร์เรน บัฟเฟตต์ กับ ดร.นิเวศน์ ซึ่งเวลาอ่านก็พยายามจะทาบวิธีคิดเขาว่า ถ้าทั้ง 2 คน เขาเจอเหตุการณ์หรือปัญหาตอนนั้นเขาจะคิดอย่างไร เพราะนั่นคือ จุดเรียนรู้ที่ดีที่สุดเลย เนื่องจากจุดความแตกต่างความสำเร็จของแต่ละคน คือช่วงที่ต้องเจอปัญหา และยิ่งปัญหายิ่งยากเขาจะตอบปัญหาอย่างไร
“ครั้งนั้นทำให้เริ่มรู้จักการลงทุนแบบถั่วเฉลี่ย (DCA) และถ้าไม่ติดงานจะไปฟังงานสัมนาของ ดร.นิเวศน์ เสมอ และจะแอบเทียบหรือวิเคราะห์ประเมินบริษัทที่ ดร.นิเวศน์ เลือกว่าจะคล้ายที่เราคิดหรือต่างกันอย่างไร ส่วนสิ่งที่ได้เรียนจากวอร์เรน บัฟเฟตต์มากคือ ต้องรู้จักควบคุมอารมณ์ นิ่งให้พอ และอดทนให้ได้ ห้ามเปลี่ยนใจไปมา”
เป้าหมายลงทุนควรกำหนดจากปลายทางการเกษียณ
จากที่เริ่มสนใจเรื่องบริหารมาตั้งแต่เด็กโดยไม่อยากทำงานไปตลอดชีวิต พอโตขึ้นถึงได้รู้ว่า การที่เราจะไปถึงเป้าหมายนั้นได้ ควรเริ่มต้นกำหนดปลายทางของการเกษียณไว้ก่อนว่า ต้องการจะเกษียณเมื่ออายุเท่าไร เพราะสิ่งสำคัญคือ การบริหารเงินหรือการลงทุนของแต่ละคนต่างมีบริบท มีวิธีคิดหรือมุมมองต่อการลงทุนที่แตกต่างตามช่วงอายุเสมอ ระหว่างคนอายุ 20 ปี 30 ปี หรือ 40 ปี ก็ไม่เหมือนกัน
เช่น ปลายทางมองว่าจะเกษียณอายุ 60 ปี และน่าจะอยู่ถึง 80 ปี หลังเกษียณน่าจะใช้เงินเดือนละ 50,000 บาท หรือเท่ากับ 600,000 บาทต่อปี แต่จะต้องอยู่หลังเกษียณ 20 ปีก็ต้องเก็บเงินให้ถึง 12 ล้านบาท แต่ถ้าปัจจุบันกำลังอายุ 25-30 ปี เท่ากับว่าเงินก้อนนั้นก็ต้องคูณไปอีก 2 เท่า และทุกวันนี้เงินเดือนเดือนละ 30,000 บาท ก็ต้องคำนวณว่าแต่ละเดือนควรจะเก็บเงินเท่าไร ซึ่งมักได้ยินว่าควรเจียดเงินไปออม 10-15% แต่วิธีนี้ไม่ได้เวิร์กสำหรับทุกคน เพราะถ้าเป้าหมายบอกว่าเงินเก็บหลังเกษียณต้องมากกว่านั้น บางคนจึงต้องเก็บ 50 % หรือ 70%
“พอเริ่มคิดจากปลายทางก่อน จะทำให้มาคิดว่าตอนนี้เราต้องเริ่มเก็บเงินเท่าไร เริ่มทบทวนการใช้ชีวิตหรือการทำงานปัจจุบันว่า สามารถตอบโจทย์หรือไม่ บางคนอาจต้องมีอาชีพเสริม ซึ่งปัจจุบันการทำงานที่มากกว่า 1 อาชีพ เป็นเรื่องปกติ หรือจะเริ่มบริหารวางแผนเพิ่มความมั่นคั่งทางการเงิน จากการลงทุนอย่างไร แต่หัวใจสำคัญของการลงทุนคือ ต้องมีวินัยและมีความสม่ำเสมอ หรือจะเริ่มต้นการลงทุนแบบ DCA เช่น หักเงิน 5,000 ทุกเดือนไปออมหุ้น ซึ่งผลตอบแทนตามสถิติตลาดหุ้นไทยเฉลี่ยปีละ 7-8% โดยยังไม่รวมกันเงินปันผล ผ่านไป 20 ปี ก็มีเงินประมาณ 10 ล้านบาทแล้ว”
การมีฐานะดีเป็นหน้าที่ของทุกคน
จากที่ “พอล” เป็นนักลงทุนทั่วไป จนตอนนี้มีรายการ Money Matters ทาง Youtube แล้ว โดยมีแรงจูงใจจากที่เห็นตัวเลขสถิติที่น่ากลัวว่าประมาณ 95 % ของคนที่จะเกษียณอายุจะมีเงินใช้ไม่เพียงพอตอนเกษียณ ขณะที่ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่การเป็นประเทศสังคมผู้สูงอายุเหมือนกับประเทศสวิสเซอร์แลนด์และนอร์เวย์ แต่ผู้สูงอายุของ 2 ประเทศเขามีเงินเพียงพอต่อการเกษียณ ซึ่งแตกต่างจากไทย ที่มองว่าจุดนี้กำลังจะเป็นปัญหาของประเทศในอนาคตด้วยถ้าเรายังไม่เริ่มบริหารจัดการสร้างความมั่งคั่งหรือ Wealth ให้ตัวเอง
“ต้องฝากเอาไว้เลยว่า การทำให้ตัวเองมีฐานะดีถือเป็นหน้าที่ของทุกคน เหมือนเรื่องสุขภาพเลย”
เหตุที่เปรียบเทียบอย่างนี้ เพราะหากลองคิดว่าถ้าเราขาหักขึ้นมาก็ต้องคอยให้คนอื่นต้องคอยดูแลมาคอยพยุง เช่นเดียวกับเรื่องการเงินถ้าเราไม่มีการวางแผนหรือบริหารจัดการไม่ดี ก็ต้องคอยให้คนอื่นมาประคองหรือมาพยุง ตั้งแต่ ลูก พี่น้อง ญาติ หรือรัฐบาลก็ต้องคอยให้เงิน ซึ่งก็จะเป็นภาระไปอีก และหากมีคนขาหักกันเพียบเป็นล้านล้านคนในประเทศ สังคมไทยจะเป็นอย่างไร เพราะถ้าเราคิดว่าการมีฐานะดีเป็นหน้าที่แล้ว ทุกคนต่างก็จะทำหน้าที่ของตัวเองให้ดี
รายการ Money Matters มีวัตถุประสงค์คือ อยากให้ความรู้ทางการเงินส่วนบุคคล เพราะหากลองย้อนไปถ้าเราเริ่มปลูกฝังหรือให้ความรู้เรื่องนี้ตั้งแต่ตอนอายุ 10 ขวบ น่าจะทำให้ทุกคนมีความเข้าใจและมีชีวิตที่ดีกว่านี้ และโดยส่วนตัวเขาก็อยากจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำของสังคม
ปัจจุบันเห็นชัดว่า คนรวยๆ ก็มีมากขึ้น คนจนก็มีมากขึ้นเช่นกัน แต่ลองเทียบกันคนที่มีเงินเดือน 15,000 กับคนที่มีเงินเดือน 1,500,000 บาท หากเกิดป่วยเป็นโรคเดียวกัน แต่เขาจะได้รับยาและการรักษาที่แตกต่างกัน ซึ่งความต่างอยู่ตรงที่ “เรื่องการศึกษาทางด้านการเงิน”
“มีความหวังว่าจะมีส่วนให้คนที่มีรายได้น้อยมีรายได้ที่มากขึ้น คนระดับกลางก็มีความแข็งแรงทางการเงินมากขึ้น เพราะถ้าคน 2 ระดับนี้มีความแข็งแรงขึ้นคนรอบข้างก็จะได้ประโยชน์ตามไปอยู่แล้ว เมื่อคนส่วนใหญ่มีการเงินที่ดีขึ้น คนทั้งประเทศก็เจริญ และเราก็จะหลุดพ้นจาประเทศที่มีรายได้ปานกลางที่คอยเป็นกับดักของชนชั้นกลางมานานหลายปี”
ขณะเดียวกัน แม้จะมีการเตรียมศึกษาข้อมูลการลงทุน การวางแผน หรือกำหนดเป้าหมายในอนาคตแล้ว แต่อะไรก็ไม่สำคัญเท่ากับการได้ลงมือทำ ด้วยการเริ่มบริหารการเงินหรือเริ่มลงทุน ซึ่งเมื่อเริ่มต้นทำงานใหม่ๆ ก็อาจจะเริ่มจากหลัก 100 หลัก 1,000 ก่อนที่จะค่อยๆ เพิ่มขึ้นในอนาคต
“แค่มีความรู้ไม่ได้บอกว่าจะสำเร็จจากมันได้ ความรู้เป็นแค่พื้นฐาน หรือเป็นแค่เสาเข็มที่รากฐานไว้ให้ แต่ต้องดูตอนสร้างบ้านอีก แต่บ้านที่ดีก็จะปราศจากเสาเข็มที่ดีไม่ได้ด้วยเช่นกัน” นี่คือสิ่งที่ผู้ชายที่พอล-ภัทรพลได้ฝากทิ้งท้ายไว้
คลิปสัมภาษณ์ พอล-ภัทรพล