HomeUncategorizedแนวคิดการลงทุนของ 'ภาววิทย์ กลิ่นประทุม'

แนวคิดการลงทุนของ ‘ภาววิทย์ กลิ่นประทุม’

ในวงการตลาดหุ้นต้องรู้จักกับผู้ชายคนนี้ “แพท-ภาววิทย์ กลิ่นประทุม” กันบ้าง เริ่มต้นตั้งแต่ออกพ็อกเก็ตบุ๊กแนวคิดและการแนะนำการลงทุน วิทยากรเรื่องการลงทุน นักลงทุนอิสระ และปัจจุบันยังเป็นผู้อำนวยการ ฝ่ายที่ปรึกษาการลงทุน บล.บัวหลวง ด้วย โดยวันนี้เขาพร้อมมาบอกเล่าและแนะนำว่า จริงๆ แล้ว ทุกมิติการลงทุน หรือแม้กระทั้งในช่วงที่มีวิกฤต ย่อมมีโอกาสในการลงทุนได้เสมอ 

กว่า 10 ปีที่ลงทุน 

เขาเริ่มต้นลงทุนก่อนเกิดวิกฤตแฮมเบอร์ปี 2008 ที่เหมือนโดนรับน้องไม่ต่างจากนักลงทุนคนอื่น เพราะเข้าไปช่วงที่ตลาดหุ้นแพง แต่อาจเพราะเพิ่งบาดเจ็บกับการลงทุนธุรกิจที่ต่างประเทศมา ทำให้เขาไม่ได้อัดเงินเต็มที่กับพอร์ตหุ้นที่ลงไปมากนัก 

“ปกติเป็นคนเชื่อเสมอว่า ถ้าเราหยุดแปลว่ายอมแพ้ เพราะเชื่อว่าทุกจุดของความท้อมักจะมีอะไรที่ซ่อนอยู่เสมอ จึงตัดสินใจเริ่มใหม่ และก็คุ้มค่ากับการที่ได้ลองลงทุนใหม่อีกครั้ง เพราะทำให้มุมมองการลงทุนแตกต่างจากคนอื่น จนกลับมาเริ่มสร้างพอร์ตใหม่ได้” 

ต้องมองให้ต่าง 

เขาออกตัวว่า มุมมองการลงทุนของเขาจะมองหาสิ่งที่เป็นวิกฤตก่อนว่าอยู่ตรงไหน เพราะเชื่อว่าทุกวิกฤตมันมีโอกาสซ่อนอยู่จริง ซึ่งอาจจะดูแตกต่างจากคนอื่นที่มักจะหาว่าหุ้นตัวไหนเด็ด ทั้งนี้ เพราะคนส่วนใหญ่มักจะรู้สึกว่าท่ามกลางที่เกิดวิกฤตจะรู้สึกไม่ดีและกลัวกับตลาดหุ้น แต่สำหรับเขาถือว่าสิ่งที่บ่งบอกได้ดีที่สุดของหุ้นตัวนั้นคือ “พื้นฐานของบริษัท” และ “ต้องกล้าอ่านที่คนอื่นเขาไม่อ่านกัน”

เช่น คนมักพูดว่าดิสทรัปชั่นจะมาฆ่าบริษัทเก่าๆ แต่ผมมองว่ามันไม่ได้มาฆ่าทุกบริษัท หรืออย่างที่แบงก์โดนดิสรัปชั่น แต่ต้องอย่าลืมมองในมุมที่ธนาคารแต่ละประเทศมีบริบทที่แตกต่างกันด้วย อย่างแบงก์จีนอาจโดนดิสรัปชั่นจริง เพราะใช้ WeChat และ Alipay แต่ธุรกรรมการเงินออนไลน์ส่วนใหญ่ของไทยยังเป็นของธนาคารแต่ละแห่งอยู่ ฉะนั้นโครงสร้างธุรกิจแบงก์ไทย ยังแข็งแกร่งและมีสภาพคล่องที่สามารถไปซื้อธุรกิจใหม่ที่จะเข้ามาช่วยสนับสนุนโครงสร้างธุรกิจหลักของแบงก์อย่างต่อเนื่องได้ 

“เราต้องอ่านในแบบของเรา แต่ใช่ว่าซื้อแล้วจะรวยทันที ทั้งหมดต้องใช้เวลา 5-10 ปีขึ้นไป ” 

การลงทุนเหมือนชีวิตต้องผ่านการล้มเหลว

ถ้านักลงทุนมือใหม่เข้ามาตอนเกิดวิกฤตพอดี สิ่งสำคัญคือ ยังต้องทำการบ้าน เพราะการลงทุนไม่เคยมีทางลัดสำหรับใคร การลงทุนก็เหมือนชีวิตที่ต้องเก็บเกี่ยวประสบการณ์และต้องเคยผ่านความล้มเหลวมาก่อน 

หลักการคือ ใครก็ตามที่สามารถอยู่ในตลาดทุนได้นานที่สุดคนนั้นรวยที่สุด เพราะตลาดทุนคือ ตลาดที่สะสมสินทรัพย์ที่ดีสุด เพราะเอาเข้าจริงการที่หุ้นแต่ละตัวจะเข้ามาได้ ส่วนใหญ่ก็ต้องเป็นผู้นำในแต่ละอุตสาหกรรม หรือพูดอีกอย่างคือมีทั้ง Know How และ Know Who ที่ไปรวมในที่เดียวกันคือในตลาดหุ้น เสมือนที่รวมเป็นสินทรัพย์สำคัญของประเทศ 

“ผมเปรียบเทียบเสมอว่าในตลาดทุนเหมือนกับที่ดินถ้าเป็นที่ดินปกติจะไม่มีเงินซื้อที่ดินทำเลดีๆ อย่าง เพลินจิต สุขุมวิท วิทยุ แต่ถ้าเกิดในตลาดหุ้น สามารถเลือกบริษัทชั้นนำที่สามารถใช้เงินน้อยๆ ซื้อหุ้นได้ เลยมองว่า เป็นตลาดที่แฟร์เกมที่คนมีเงินน้อยก็เข้าได้ แต่ระยะเวลาเป็นเรื่องที่สำคัญ ซึ่งคนส่วนใหญ่เมื่อลองลงทุนหุ้น 3-6 เดือน เจ๊งแล้วก็ไป แต่ความจริงอย่างน้อยต้องขอให้ผ่านปีแรกไปให้ได้ก่อน”

10ปี หุ้นมักดีแค่ปีเดียว จึงต้องอดทนรอ

ปกติทุกช่วงเวลา 10 ปี หุ้นจะมีช่วงเวลาที่ดีที่สุดอยู่เพียงปีเดียว แต่ละตัวก็จะมีระยะเวลาที่ไม่เท่ากัน ดังนั้น ความอดทนเพื่อรอรางวัลจากผลตอบแทนจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะระหว่างทางมักจะมีบททดสอบที่หุ้นจะขึ้น-ลง ตลอดเวลา ว่าสรุปแล้วยังใจแข็งที่จะถือต่อไปหรือไม่ เพราะในความเป็นจริงเรามักมีข้ออ้างให้กับตัวเราเองเสมอ เพียงแต่การที่รอให้หุ้นขึ้นเป็น 10 เด้ง หรือ 100 เท่า มันใช้เวลามากกว่า 10 ปี โดยมี 2 สิ่งที่ต้องคู่กันในการลงทุนคือ “อดทนรอเวลา” และ “เงินนั้นต้องเป็นเงินเย็น”

นอกจากนั้น ไม่ใช่ที่จะเลือกทุ่มไปใส่แค่เพียงหุ้นเพียงตัวเดียวแบบหมดหน้าตัก ต้องมีการกระจายการลงทุน เพราะใช่ว่าหุ้นทุกตัวจะให้ผลตอบแทน 10 เด้งเหมือนกันหมด หลายคนบอกตัวเองตอนที่เข้ามาลงทุนใหม่ๆ ว่าจะเป็นนักลงทุนระยะยาว แต่พอลองเล่นสั้นแป๊บเดียวแล้วได้ ก็จะไม่ถือหุ้นระยะยาวอีกต่อไป ความยากของตลาดหุ้น จึงอยู่ที่ใครจะเลือกปล่อยให้พอร์ตหุ้นตัวเองเป็นระยะสั้นหรือระยะยาว 

นักลงทุน Part Time ดีกว่า Full Time 

ความเป็นจริงการเป็นนักลงทุนถือเป็นอาชีพเสริมที่ทุกคนสามารถทำได้ เพราะจะเป็นตัวที่ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นมา โดยปล่อยให้เงินทำงานเอง (Passive Income) ซึ่งเพิ่มเข้ามาจากเงินที่เป็นรายได้ประจำเข้ามา (Active Income) แต่เพราะหุ้นแต่ละตัวจะมีจังหวะที่ดีไม่เท่ากัน ดังนั้น ควรเป็นนักลงทุนแบบ Part Time Investor ที่ยังคอยทำการบ้านตลอดเวลา แต่อย่าไปไปโฟกัสการลงทุนตลอดเวลา (Full Time Investor) เพราะจะทำให้เสียภาพการลงทุนในระยะยาวไป เพียงแต่วิธีนี้ต้องใช้เวลาทำความเข้าใจ แต่เชื่อเถอะว่าถ้าเราสามารถหาจุดที่เหมาะสมของตัวเองได้จริง ก็จะเจอความได้เปรียบ ซึ่งเครื่องมือที่จะทำให้ไปถึงเป้าหมายนั้นได้คือ ความรู้และการศึกษาหาข้อมูลที่มากพอ  

โอกาสมีอยู่เสมอ อยู่ที่การเตรียมตัวให้พร้อม

ความจริงโอกาสการลงทุนมีอยู่เสมอ และส่วนใหญ่ก็มักจะมาพร้อมกับวิกฤต แต่คนส่วนใหญ่มักจะไม่กล้าเข้าลงทุนช่วงที่คนกลัวกัน แต่ใช่ว่าคนที่กล้าแล้วลงทุนจะได้กำไรทันทีทันใด เพราะระหว่างทางย่อมมีบททดสอบวัดระดับจิตใจ เช่น หลายครั้งที่พอเข้าซื้อราคาหุ้นก็ตก เวลาขายหุ้นราคาก็กลับขึ้นไปอีกให้เราเจ็บใจ นั่นคือ บททดสอบที่ยิ่งใหญ่ ดังนั้น ควรเตรียมเงินเย็นให้พร้อม และความเข้าใจการลงทุนให้เต็มที่ ซึ่งเมื่อวิกฤตมาเราจะได้ไม่พลาดโอกาสนั้น

“โอกาสมาพร้อมกับวิกฤตเสมอ อยู่ที่การเตรียมพร้อมและบริหารการเงินของเรามากกว่า”

ทำอย่างไรกับยุคข้อมูลที่ล้น 

เมื่อก่อนใครมีข้อมูลมากมักจะได้เปรียบ แต่ต่างกับสมัยนี้ที่เป็นยุคของการมีข้อมูลมาก วิธีการคือ ต้องตัดอะไรที่ไม่จำเป็นต่อไป เศรษฐกิจโดยรวมต้องดูบ้างแต่ไม่ได้เน้นเท่ากับ ดูรายละเอียดของแต่ละบริษัทว่ามีเพอร์ฟอร์แมนซ์ การดำเนินงาน วิธีการบริหารว่า มีศักยภาพมากน้อยขนาดไหน ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เพราะการศึกษาหุ้นรายบริษัทเป็นสิ่งที่ควบคุมง่ายกว่า การไปดูปัจจัยระดับโลกซึ่งเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ อีกทั้งยังเชื่อว่าการขึ้นลงของดัชนีหุ้นสำคัญน้อยกว่าที่ตัวหุ้นมากกว่า

ต้องเริ่มลงทุนถึงจะรู้ว่าเป็นนักลงทุนสไตล์ไหน

ก่อนที่เราจะเลือกว่าเป็นนักลงทุนสไตล์เน้นหุ้นคุณค่า หรือเน้นรอบซื้อขายระยะสั้น การจะได้มาของคำตอบคือ ต้องเริ่มและทดลองที่จะลงทุน หากซื้อขายระยะสั้นแล้วได้ตังค์ แปลว่าคุณอาจจะเหมาะกับการเป็นเทรดเดอร์ก็ได้ แต่หากซื้อขายระยะสั้นทีไรหุ้นลงทันที หรือขายทีไรหุ้นขึ้นทุกที ก็ควรเปลี่ยนแนว มาเป็นออมในหุ้นแทนจะดีกว่าหรือไม่

เอาเข้าจริงคนส่วนใหญ่เหมาะกับการออมในหุ้นมากกว่า เพราะมีงานประจำที่ต้องทำ ซึ่งทำให้ไม่มีเวลาและไม่ได้เหมาะกับการเป็นเทรดเดอร์ หรือถ้าเข้ามาเทรดส่วนใหญ่ก็จะเจ๊ง คนที่เหมาะเขาจะมีวินัยในการขายเพื่อตัดขาดทุน (Stop Loss) ไปเพื่อไม่ให้พอร์ตโดยรวมเสียหายไปมากเกินจำเป็น  

โจทย์ของออมหุ้นคือ ห้ามขายชั่วชีวิต โจทย์นี้จะทำให้คุณไม่เจ๊งเลยหรือมีโอกาสเจ๊งจะน้อยมาก แต่ก่อนที่คุณจะซื้อต้องทำการบ้านและคิดให้หนักเลย หรือการที่ออมหุ้นที่มีปันผลเพียง 1 % ก็ไม่ใช่ เพราะแม้จะถือไป 100 ปีก็ไม่คุ้มที่จะซื้อ ดังนั้น ก็ต้องเลือกออมที่มีการจ่ายเงินปันผลที่ดีอย่างน้อย 5 % หรือมองแล้วว่าโอกาสที่บริษัทเจ๊งเกิดขึ้นได้น้อยมาก ซึ่งช่วงแรกของการเก็บเข้าพอร์ตอาจยังไม่ได้เห็นผลกำไรทันตา แต่สุดท้ายอาจจะกลายเป็นของดีที่ราคาถูกหากถือต่อไปในอนาคต 

สไตล์ของภาววิทย์ 

ซื้อแล้วมักจะไม่ขาย เพื่อรอให้เกิดราคา 10 เด้ง 100 เด้ง เพราะจะทำให้มูลค่าในพอร์ตกลายเป็นมหาศาล ความท้าทายคือ ซื้อแล้วขายได้ และถ้าถึงรอบที่จะขายต้องมีผม ภาววิทย์ให้นิยามลักษณะการลงทุนของเขา

“ผมเป็นคนคิดช้า ก็จะไปแอ็คชั่นกับเทรดไม่ได้ ดังนั้นถ้าคิดช้าเวลาได้ต้องหนักๆ สมมุติยอมเสียหุ้น 1 ตัว มูลค่าสูงสุดคือ 1 แสนบาท ถ้าเสียคือ แสนเดียว แต่ถ้าได้ต้องคิดเป็นเด้งจากเงินต้น เช่น 2 เด้ง ก็ 2 แสน 10 เด้ง 1 ล้าน 100 เด้ง ก็ 10 ล้าน”

ถ้าย้อนเวลาได้จะทำอะไรกับการลงทุน

หากย้อนเวลาได้อยากเริ่มลงทุนตั้งแต่เกิดเลย เพราะตัวเขาเพิ่งเริ่มการลงทุนเมื่อตอนอายุ 30 ปี ซึ่งถือว่าเริ่มช้าไป เพราะถ้าเริ่ม 10 ขวบ 30 ปีก็น่าจะมีเงินเก็บเป็นมหาเศรษฐี เพราะเวลาที่เหมาะการลงทุนคือประมาณ 20 ปี เขาเริ่มตอนอายุ 30 ปี รอผลงอกเงยก็ต้องอายุ 50 ปี แต่คนส่วนใหญ่มักเริ่ม 50 ปี หรือเริ่มเข้าสู่วัยเกษียณแล้วค่อยเริ่มซึ่งถือว่าช้าไป ซึ่งความจริงการลงทุนสามารถเริ่มได้ด้วยจำนวนเงินที่น้อยก่อน 

เขามองว่า 5 ปีแรกเป็นช่วงเวลาที่ควรเริ่มหาความรู้และหาประสบการณ์การลงทุนก่อน โดยไม่จำเป็นต้องมีเงินจำนวนที่เยอะ และอย่าไปหวังว่าจะได้ผลตอบแทนที่สูงมหาศาล จากนั้นค่อยๆ เพิ่มจำนวนพอร์ตการลงทุนมากขึ้น คนที่พลาดคือ คนที่ต้องรอให้มีเงินที่มากก่อนแล้วค่อยเริ่มลงทุน เพราะถึงรอให้มีเงินก่อนแล้วจึงเริ่มลงทุน ทว่า ประสบการณ์การลงทุนก็ไม่ต่างกัน เผลอๆ อาจเสียเงินมากกว่าตอนที่มีเงินน้อยก็ได้ อีกทั้งยังเป็นการลงทุนที่ไม่ถูกต้อง หากต้องเอาเงินที่เตรียมตัวเกษียณมาลงทุนในหุ้นทีเดียว เพราะสิ่งสำคัญที่สุดคือ ประสบการณ์การลงทุนมากกว่า 

ดังนั้น ควรเริ่มหาประสบการณ์การลงทุนได้เสมอ ไม่ว่าจะเป็นช่วงภาวะปกติหรือในยามวิกฤต เพราะทุกโอกาสการลงทุนย่อมมีได้อยู่เสมอ ขึ้นอยู่ที่การเตรียมตัวของแต่ละคนมากกว่า และสิ่งที่ภาววิทย์ได้ฝากทิ้งท้ายเอาไว้ให้กับนักลงทุนคือ

“มหัศจรรย์เกิดขึ้นได้ ถ้าคุณเชื่อมัน” (I can be miracle when you belive)

คลิปสัมภาษณ์ แพท-ภาววิทย์ กลิ่นประทุม