“ธนา เธียรอัจฉริยะ” รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานการตลาด ธนาคารไทยพาณิชย์” ที่ได้มาแลกเปลี่ยนมุมองถึงสิ่งที่ทุกคนควรปรับตัวหลังผ่านวิกฤตโควิด-19 ในหัวข้อ “คาถาฝ่าวิกฤต ชีวิต-ธุรกิจหลังโควิด-19” ที่จัดโดยประชาชาติธุรกิจ
ผู้ประกอบการ
1.กระแสเงินสด (Cash is king)
คือ หัวใจของการฝ่าวิกฤตตอนนี้ที่จะทำให้ธุรกิจจะต้องอยู่รอดในวันที่โควิด-19ไม่อยู่แล้ว เพราะแต่ละอุตสาหกรรมหรือธุรกิจจะมีการฟื้นตัวที่แตกต่างกัน อย่างธุรกิจอาหารฟื้นตัวได้เร็วสุด แต่บางธุรกิจต้องรอความเชื่อมั่นที่ชัดเจนให้มีการผลิตวัคซีนให้ได้ก่อนธุรกิจถึงจะมีการฟื้นตัวขึ้น เช่น ธุรกิจท่องเที่ยว สายการบินที่จะเริ่มบินระหว่างประเทศได้ประมาณกลางปีหน้า หรือธุรกิจที่มีการวมตัวของคนเป็นจำนวนมาก เช่น คอนเสิร์ต
“กลยุทธ์ตอนนี้คือ วิชาตัวเบา ที่ต้องสำรวจตัวเองว่า ตอนนี้มีถังออกซิเจนพอถึงวันที่แสงจะกลับมาสว่างได้หรือไม่ เหมือนเวลาเครื่องบินจะตก ก็ต้องใส่ออกซิเจนให้ตัวเองก่อนที่ใส่ให้เด็ก”
สิ่งที่จำเป็นต้องตัดค่าใช้จ่ายทุกอย่าง ตอนนี้กำไรขาดทุนไม่สำคัญเท่ากับการถือเงินสด ต้องยอมขายสินค้าล้างสต็อกแบบขาดทุนเพื่อกำเงินสดไว้ก่อน พร้อมเจรจาหนี้ักับแบงก์และดูวงจรตัวเองแล้วว่าถ้าโควิด-19 จบแล้วทำอย่างไรที่รักษากระแสเงินสดและพนักงานอยู่ต่อไปให้ได้ หรือจะทำให้องค์กรเบาที่สุด เช่น อาจเป็นการสร้างเอ้าท์ซอร์สแทน
2.การรู้จักสร้างบริบทใหม่
นั่นคือ ต้องเริ่มจากการเก็บข้อมูลเล็กน้อยๆ ด้านหนึ่งจะทำให้เราเห็นข้อมูลที่สำคัญขององค์กร ก่อนที่จะปรับมาเป็นข้อมูลเพื่อไว้สำหรับการตัดสินใจ ซึ่งอาจนำไปสู่การปรับกลยุทธ์ในการขายหรือสร้างหน่วยธุรกิจใหม่ในอนาคต โดยจะนำไปสู่การที่ทำให้เรารู้ว่าเราควรจะโฟกัสกับอะไร ซึ่งจะมีความแตกต่างจากเถ้าแก่สมัยก่อนที่ใช่นั่นคือ การใช้คอมมอนเซ้นส์
“ควรเริ่มเก็บข้อมูลที่ง่ายๆ ว่าลูกค้าเราคือใคร และเริ่มสร้างโซเชียลมีเดียของตัวเอง เช่น อาจตั้งกลุ่มไลน์สินค้าขายของตัวเอง ลูกค้าประเภทไหนสั่งอะไรเยอะ และเป็นเจนเนเรชั่นไหน แล้วช่วงเวลาไหนที่มีลูกค้าเยอะที่สุด”
3.คนที่อยู่ได้ต้องมีอัตลักษณ์ (Identity)
การทำให้ตัวเองอยู่ในระดับปานกลางน่าจะมีโอกาสที่รอดยาก สิ่งสำคัญสุดคือ ต้องสร้างอัตลักษณ์ที่ชัดเจนของตัวเองน่าจะเป็นโอกาสที่รอดมากกว่า เช่น ถ้าจะเป็นร้านข้าวขาหมูจะต้องทำตัวเองมีอัตลักษณ์ที่ไม่เหมือนใครในเขตพื้นที่ของตัวเองชัดเจน ว่าทำไมเขาต้องมากินข้าขาหมูของเรา
มนุษย์เงินเดือน
ต้องอย่าลืมว่าก่อนมีโควิด-19 เมืองไทยเจอเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงดิสรัปชั่นทางเทคนโลยีมาก่อน ตอนนี้จึงเหมือนเป็นรวมแม่น้ำหลายสายอย่างปิงวงยมน่านมารวมกัน ที่จะทำให้คนตกงานเยอะ มีเทคโนโลยีต่างๆ และแอปพลิเคชั่นที่พร้อมจะเข้ามาแทนคน และยังเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้โรงงานพยายามใช้แมชชีนเข้ามาแทนคน ทุกอย่างในองค์กรจะเห็นว่าอะไรจำเป็นมากขึ้น
“สิ่งที่ต้องปรับสำหรับคนทำงานหรือมนุษย์เงินเดือน คือ ต้องสร้างแบรนด์ของตัวเอง เริ่มจากการปรับทัศนคติที่เหมาะสม ไม่เกี่ยงงาน และใช้โอกาสที่มีอยู่ทำงานในสิ่งที่คนอื่นไม่ทำ สู้ขยัน และรู้จักความทรหด เพราะช่วงเวลานี้เป็นต้องแสดงศักยภาพและการแสดงน้ำใจที่ดีให้กับคนในองค์กร ไม่ใช่การมองว่าทำงานที่บ้านคือการได้พักผ่อน“
วิชาจิ๋วสำหรับคนทั่วไป
คือทักษะเล็กๆ ของคนทั่วไปในอนาคตที่ทำเล็กๆ แต่เก่ง โดยไม่จำเป็นต้องใหญ่ เช่น การทำอย่างไรให้ไข่เจียวฟู การผ่าฟืนอย่างไรให้เป๊ะ เพราะบางทีจะนำไปสู่การสร้างอาชีพใหม่ แต่สิ่งสำคัญของวิชาจิ๋วนี้คือ “การปรับMindset” เพราะต้องยอมรับว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตไม่สามารถนำมาใช้ได้แล้ว และเวลานี้ถือเป็นโอกาสที่จะใช้เวลาในการเพิ่มโอกาสและสร้างทักษะใหม่ที่อยากเรียนรู้ ซึ่งปัจจุบันมีคอร์สออนไลน์ที่น่าสนใจให้เรียนหลายเรื่อง
“เราต้องศึกษาสิ่งใหม่ตลอดเพราะมีหลายอย่างที่เราเริ่มไม่รู้ การที่โลกจะเปลี่ยนอย่างไรยังเป็นเรื่องรองมากกว่าตัวเราเอง ว่าอย่างน้อยตัวเราต้องเปลี่ยนตัวเองให้ทันต่อสิ่งที่เปลี่ยนไปมากกว่า”
วิธีคิดท่ามกลางวิกฤต
คุณธนา มองว่า วิธีนีได้มุมมองจากที่พี่ตุ้ม -สรกล อดุลยานนท์ ที่ได้จากธรรมของหล่วงพ่อท่านหนึ่งคือ ปัญหาโลกนี้มี 2 แบบ แก้ได้กับแก้ไม่ได้ ช่วงเวลานี้ควรเป็นเวลาแก้ปัญหาที่คิดว่าเราแก้ได้ 80 % ขณะที่ควรให้เวลากับสิ่งที่เราแก้ไม่ได้อีก 20 %เท่านั้น แต่คนส่วนใหญ่ชอบทำกลับข้างกันที่มักให้เวลากับสิ่งที่เราแก้ไม่ได้มากกว่าทั้งๆ ที่เมื่อโควิดเกิดแล้วก็ต้องปล่อยมัน แล้วมามุ่งเน้นกกับสิ่งที่เราแก้ไขได้ดีกว่า