HomeOn Radarsระยะสั้นดีกับหุ้น จุดชี้วัดคือวันที่ 26 มี.ค.

ระยะสั้นดีกับหุ้น จุดชี้วัดคือวันที่ 26 มี.ค.

หลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตั้งแต่ 26 มี.ค.เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทางคณะมนตรีได้แถลงมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อมระยะที่ 2 นำโดย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี มติมีดังนี้

แรงงานลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม 

  • มาตรการชดเชยรายได้ จากการหยุดประกอบกิจการของสถานประกอบการที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา โดยการสนับสนุนเงินช่วยเหลือรายละ 5,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน (เมษายน – มิถุนายน 2563) เป้าหมายรวมทั้งสิ้น 3 ล้านคน
  • โครงการสินเชื่อฉุกเฉิน เพื่อเพิ่มสภาพคล่องชั่วคราวในการดำรงชีวิตแก่ประชาชน โดยไม่จำเป็นต้องมีหลักประกัน โดยธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สนับสนุนสินเชื่อวงเงินรวม 40,000 ล้านบาท (ธนาคารออมสิน 20,000 ล้านบาท และ ธ.ก.ส. 20,000 ล้านบาท) วงเงินต่อรายไม่เกิน 10,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ไม่เกินร้อยละ 0.10 ต่อเดือน ระยะเวลากู้ ไม่เกิน 2 ปี 6 เดือน ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือนรับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2563
  • โครงการสินเชื่อพิเศษเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มสภาพคล่องชั่วคราวในการดำรงชีวิตแก่ประชาชนที่มีรายได้ประจำ โดยมีหลักประกัน โดยธนาคารออมสินสนับสนุนสินเชื่อวงเงินรวม 20,000 ล้านบาท วงเงินต่อรายไม่เกิน 50,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ไม่เกินร้อยละ 0.35 ต่อเดือน ระยะเวลากู้ไม่เกิน 3 ปี รับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2563
  • โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับสำนักงานธนานุเคราะห์เพื่อช่วยเหลือประชาชนฐานราก ที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการระบาดของไวรัส โดยธนาคารออมสินสนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำวงเงินรวม 2,000 ล้านบาท ให้แก่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในนามของสำนักงานธนานุเคราะห์ (สธค.) โดยคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 0.10 ต่อปี และ สธค. คิดดอกเบี้ยจากประชาชนในอัตราไม่เกินร้อยละ 0.125 ต่อเดือน ระยะเวลา 2 ปี
  • มาตรการเสริมความรู้ พิจารณาดำเนินการจัดฝึกอบรมเพื่อเพิ่มทักษะเสริมอาชีพ เพื่อเสริมสร้างความรู้ให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบพร้อมจัดทำกิจกรรมเพื่อสังคม (Corporate Social Responsibility: CSR)
  • มาตรการเลื่อนเวลาการชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยเลื่อนเวลาการชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2563 เป็นสิ้นสุดวันที่ 31 สิงหาคม 2563
  • มาตรการเพิ่มวงเงินหักลดหย่อนค่าเบี้ยประกันสุขภาพ โดยเพิ่มวงเงินหักลดหย่อนค่าเบี้ยประกันสุขภาพจากเดิมตามจ่ายจริงไม่เกิน 15,000 บาท เป็นไม่เกิน 25,000 บาท และเมื่อรวมกับการหักลดหย่อนค่าเบี้ยประกันชีวิตและเงินฝากประเภทสงเคราะห์ชีวิตแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท ทั้งนี้ ตั้งแต่ปีภาษี 2563 เป็นต้นไป
  • าตรการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าตอบแทนในการเสี่ยงภัยของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ไม่มีภาระภาษีสำหรับค่าตอบแทนพิเศษจากการปฏิบัติงานดังกล่าวและมีขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานเพิ่มขึ้น

ผู้ประกอบการ

  • โครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสเพื่อเสริมสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจและแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการประกอบธุรกิจ เช่น ธุรกิจทัวร์ ธุรกิจสปา ธุรกิจขนส่งที่เกี่ยวเนื่อง (รถทัวร์ รถบัส รถตู้ รถแท็กซี่ เรือนำเที่ยว รถเช่า) บริษัทนำเที่ยว โรงแรม ห้องพัก และร้านอาหาร โดยธนาคาร พัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) สนับสนุนสินเชื่อวงเงินรวม 10,000 ล้านบาท วงเงินต่อรายไม่เกิน 3 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 สำหรับ 2 ปีแรก ระยะเวลาการกู้ยืมสูงสุดไม่เกิน 5 ปี รับคำขอสินเชื่อถึง วันที่ 30 ธันวาคม 2563 (ระยะที่ 1 มอบหมายให้ธนาคารออมสินเป็นผู้นำหลักในการปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ)
  • มาตรการเลื่อนเวลาการชำระภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยเลื่อนเวลาการชำระภาษีเงินได้ นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รอบระยะเวลาบัญชีปี 2562 (ภ.ง.ด. 50) ที่ต้องยื่นรายการชำระภาษีตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563 -30 สิงหาคม 2563 ออกไปเป็นภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2563 และรอบระยะเวลาบัญชีปี 2563 (ภ.ง.ด. 51) สำหรับกรณีที่จะต้องยื่นรายการชำระภาษีตั้งแต่ วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 -29 กันยายน 2563 ออกไปเป็นภายในวันที่ 30 กันยายน 2563
  • มาตรการเลื่อนเวลาการยื่นแบบแสดงรายการ นำส่ง และชำระภาษี โดยเลื่อนเวลา การยื่นแบบแสดงรายการ นำส่ง และชำระภาษีทุกประเภทที่กรมสรรพากรจัดเก็บ เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ เป็นต้น
  • มาตรการขยายเวลาการชำระภาษีให้แก่ผู้ประกอบอุตสาหกรรมสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน กรมสรรพสามิตให้ผู้ประกอบอุตสาหกรรมน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันจากเดิมยื่นขอชำระภาษีภายใน 10 วันเป็นภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่นำสินค้าออกจากโรงอุตสาหกรรมหรือคลังสินค้าทัณฑ์บน โดยให้ดำเนินการดังกล่าวเป็นระยะเวลา 3 เดือน (เมษายน–มิถุนายน 2563)
  • มาตรการขยายเวลาการยื่นแบบรายการภาษีพร้อมกับชำระภาษีของการประกอบกิจการสถานบริการที่จัดเป็นบริการตามบัญชีพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต เช่น สถานที่ที่จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยจัดให้มีการแสดงดนตรีหรือการแสดงอื่นใดเพื่อการบันเทิง
  • มาตรการยกเว้นอากรขาเข้าของที่ใช้รักษา วินิจฉัย หรือป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา
  • มาตรการทางภาษีอากรและค่าธรรมเนียมเพื่อสนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้

ระยะสั้นมาตรการดีต่อภาพรวม แต่ต้องรอดู 26 มี.ค.

“วิจิตร อารยะพิศิษฐ” ผู้อำนวยการอาวุโส นักกลยุทธ์การลงทุน ฝ่ายวิจัย บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) กล่าวว่า ผลตอบรับจากการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ครั้งนี้ดูแตกต่างจากครั้งที่ผ่านๆ มาที่ออกดูเป็นแนวทางลบทุกครั้งที่มีการประกาศเพราะส่วนใหญ่เป็นเหตุการณ์จากความขัดแย้งทางการเมือง แต่ครั้งนี้เป็นการส่งสัญญาณบวกว่ามีความชัดเจนและทำให้ประชาชนรู้สึกมั่นใจว่า จะมีการตีกรอบจำกัดการเอาจริงเอาจังในการรับมือกับไวรัสโควิด-19 นี้แล้ว เพื่อเป็นการปรามไม่ให้คนออกจากบ้าน

สำหรับมาตรการระยะที่ 2 ในการดูแลและเยียวยาประชาชนและผู้ประกอบการอย่างน้อยก็ถือเป็นสัญญาณที่ดีทำให้เห็นว่ารัฐบาลมีมาตรการมารองรับ และเพิ่มสภาพคล่องให้กับประชาชนที่ได้รับผลประทบจากการทำงานเพราะไวรัส

“โดยรวมทุกมาตรการที่รัฐบาลออกมาตอนนี้ถือว่ามีผลจิตวิทยาเชิงบวกที่ดี ตั้งแต่ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาตรการเยียวยา หรือแม้กระทั่งมาตรการของตลาดเงินตลาดทุนที่เสริมสร้างสภาพคล่องให้กับตลาดพันธบัตร หรือมาตรการตลาดหุ้นเรื่องออกเกณฑ์ชั่วคราวซิลลิ่ง-ฟลอร์ เซอร์กิตเบรกเกอร์ และชอร์ตเซล”