HomeOn Radarsตราสารหนี้ มีขาดทุนด้วยหรือ !?

ตราสารหนี้ มีขาดทุนด้วยหรือ !?

การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน…

ส่วนใหญ่มักนึกว่าประโยคนี้ ใช้กับนักลงทุนในหุ้นเท่านั้น แต่ในความจริงแล้ว ทุกการลงทุนล้วนแต่มีความเสี่ยงด้วยกันทั้งนั้น

ก่อนที่เราจะลงทุน จึงควรทำความเข้าใจ ในสิ่งที่เราจะต้องลงทุนให้ดี

เมื่อวานนี้ (21 มี.ค. 63) คุณธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และยังเคยเป็นอดีตรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้โพสต์ Facebook ถึงบริษัทจัดการกองทุนบางแห่ง เริ่มประกาศไม่รับซื้อหน่วยลงทุนคืนในกองทุนตราสารหนี้

นั่นทำให้ผู้ที่อยากขายคืนช่วงนี้ขายคืนไม่ได้ และส่งสัญญาณให้แบงค์ชาติและรัฐบาลจับตาดูปัญหาอย่างใกล้ชิด

และบางบริษัทจัดการกองทุน ก็เปลี่ยนการได้รับเงินคืนจากการขาย ที่ T+1 เป็น T+5 แล้ว

อ่านถึงตรงนี้หลายคนคงเริ่มขมวดคิ้วทำหน้างง เข้าใจแหละว่ามันไม่ปกติ แต่มันคือยังไง อธิบายให้ง่ายกว่านี้ได้ไหม

เอาจริงๆ ถ้ามองภาพ “ตราสารหนี้” ให้ง่ายก็คือการให้ยืมและคิดดอกเบี้ย ซึ่งเรามีฐานะเป็นเจ้าหนี้

และมีอยู่ 2 แบบ คือ รัฐบาลออก เรียกพันธบัตรรัฐบาล และเอกชนออกจะเรียกหุ้นกู้

ซึ่งต่อให้เราลงทุนในหุ้นกู้ ไม่ว่าปีนี้ บริษัทนั้นจะกำไร หรือขาดทุน เราก็ยังต้องได้ดอกเบี้ยตามสัญญาอยู่ดี เรียกว่าไม่ขึ้นกับผลประกอบการ

ต่างจากตราสารทุน หรือหุ้น ที่เรามีสถานะเป็นหุ้นส่วน ราคาหุ้นและเงินปันผลจะขึ้นกับผลประกอบการของบริษัท

นั่นคือการลงทุนในตราสารหนี้ ถูกมองว่ามีความเสี่ยงต่ำการลงทุนในหุ้นเสมอ

เพราะเมื่อเราลงทุนก็แค่รอรับดอกเบี้ยในแต่ละปีที่บริษัทจ่ายออกมา มากบ้าง น้อยบ้าง แล้วแต่สัญญาของตราสารหนี้นั้นๆ

นั่นคือ.. สภาวะการลงทุนปกติ

แต่ความเสี่ยงก็คือ ถ้าคนออกหุ้นกู้ไม่มีเงินจ่ายดอกเบี้ย หรือบริษัทมีปัญหา ไปจนถึงล้มละลาย ก็มีสิทธิ์ทำได้ตั้งแต่ ไม่จ่ายดอกเบี้ยในปีนั้น ขอผัดผ่อน ไปก่อน จนถึงไม่ได้อะไรคืนมาเลยแม้แต่เงินต้น นั่นก็เพราะบริษัทปิดตัวล้มละลาย

หมายความว่าเงินที่ลงไปทั้งหมดกลายเป็นศูนย์

จริงๆ แล้วคนที่ลงทุนตราสารหนี้ เป็นคนที่รับความเสี่ยงได้ค่อนข้างต่ำอยู่แล้ว แลกกับผลตอบแทนที่น้อยหน่อย แต่สม่ำเสมอ ทุกปี

จนหลายคนเชื่อไปแล้วว่าตราสารหนี้ ไม่มีวันขาดทุน และบางคนเชื่อกระทั่งว่า นี่คือหลุมหลบภัยชั้นดี เวลาที่การลงทุนในหุ้นผันผวน

ซึ่งมันก็เป็นแบบนั้นมาเป็นเวลานานหลายปีแล้ว ทั้งในห้องสินธรของ Pantip ก็มีสมาชิกหลายคนแนะนำให้เอาเงินเก็บไว้ในกองทุนตลาดตราสารหนี้ ตลาดตราสารเงิน แทนการฝากธนาคารเนื่องจากได้ดอกเบี้ยดีกว่ามาก ซึ่งข้อด้อยกว่าแบงค์หน่อยเดียวก็คือ เวลาเราจะถอนเงินมาใช้ต้องทำการขายออกจากกองวันนี้ เพื่อจะได้เงินวันพรุ่งนี้มาใช้งาน เรียกว่าเสียเวลาไป 1 วัน (T+1) แลกกับดอกเบี้ยที่คุ้มกว่า

แต่ตอนนี้โลกกำลังเข้าสู่สภาวะวิกฤติ โดยมี Covid-19 เป็นตัวเร่ง ทำให้เกิดสภาวะที่หลายคนเรียกว่า Perfect Storm

นั่นคือ มีปัจจัยหลายอย่างถาโถมเข้ามาพร้อมๆกัน เศรษฐกิจ และการลงทุน หยุดชะงัก รวมทั้งราคาหุ้นในตลาดหุ้น ถูกเทขายออกมาอย่างหนัก

และทั้งหมดทำให้ตราสารหนี้โดนกระทบด้วย ซึ่งสาเหตุก็มีอยู่หลายประการ

– ทั้งการปรับพอร์ตอัตโนมัติของกองทุน หรือบุคคลที่เมื่อหุ้นตกลงอย่างหนัก ทำให้สัดส่วนตราสารกลายเป็นสูงมากในพอร์ตทำให้ต้องขายตราสารหนี้ออกมาเพื่อปรับสัดส่วนการลงทุน
– ต่างชาติเทขายตราสารหนี้ออกมา เพราะค่าเงินบาทอ่อนค่าเร็วมากใน 3 เดือนที่ผ่านมา
– นักลงทุนบางกลุ่มเริ่มกลัวว่าบริษัทที่ออกหุ้นกู้จะไม่สามารถชำระดอกเบี้ยได้ และอาจจะรวมไปถึงคืนเงินต้นไม่ครบตามจำนวน

ทำให้แรงขายในตลาดตราสารหนี้มหาศาล และถ้าจะต้องขายให้ได้เพื่อเอาเงินสด ยิ่งกดราคาให้ลดต่ำลง เพราะมีคนขายมากกว่ามีคนซื้อ รวมถึงกองทุนบริหารจัดการเงินสดไม่ทัน และไม่เพียงพอ

ดังนั้นผลตอบแทนตราหนี้ตอนนี้เริ่มติดลบ เพราะคนอยากถือเงินสดมากกว่า นั่นคือกำไรน้อยหน่อย หรือเท่าทุนดีกว่าไม่ได้เงินต้นคืนเลย ขอขายออกก่อนแล้วกัน

นั่นทำให้ บลจ. ที่บริการตราสารหนี้ยิ่งลำบากในการขายเพื่อหาสภาพคล่องเงินสดไปจ่ายคืนให้ลูกค้า

ยิ่งการเปลี่ยนจากรอ 1 วันทำการ (T+1) เป็นรอ 5 วันทำการ (T+5) ยิ่งทำให้คนที่พักเงินเฉยๆ ยิ่งเร่งขายออกมา

ตอนนี้คือปัญหาสภาพคล่องในการซื้อขาย ทำให้คนยิ่ง Panic และยิ่งพยายามขายออกมาใหญ่

และยิ่งขายไม่ได้ ก็ยิ่งก่อให้เกิดปัญหาสภาพคล่อง ของคนที่ถือหุ้นกู้ที่อาจจะแค่เอาไว้พักเงิน ทำให้พอจะใช้เงินจริงๆ แล้วใช้ไม่ได้

นั่นทำให้กลายเป็นโดมิโนกระทบสภาพคล่องอื่นๆทั้งระบบ

ที่สำคัญอย่าลืมว่าคนที่ต้องการลงทุนตราสารหนี้
รับความเสี่ยงได้น้อยอยู่แล้ว

จึงเป็นปัญหาที่ควรจับตามอง แต่อย่าตื่นตระหนก
และหวังว่าปัญหานี้จะคลี่คลาย และรัฐบาลมาดูแลได้ทันท่วงที

สุดท้ายสิ่งที่ทุกคนต้องระลึกไว้เสมอคือ ทุกการลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน