แม้จะเพิ่งมีการแถลงข่าวความร่วมมือวันนี้ของสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) คณะแพทย์ ภาคเอกชน และภาคีเครือข่ายต่างๆ ที่ได้เร่งพัฒนาชุดตรวจวินิจฉัย COVID-19 ขึ้นมา เพื่อแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ทั่วโลกในขณะนี้
ผศ.ดร.ชยสิทธิ์ อุตมาภินันท์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมชีวโมเลกุล (Biomolecular Science and Engineering : BSE) สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) กล่าวว่า สถาบันฯ ร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ภาควิชาจุลชีววิทยา เริ่มทดลองกับตัวอย่างจากคลินิกแล้ว และอยู่ระหว่างการเตรียมแผนผลิตชุดทดสอบเพิ่มเติมเพื่อดำเนินการในขั้นตอน Clinical Trial ในเดือนเมษายนนี้
“มีเป้าหมายให้สามารถตรวจโรคได้ภายใน 30-45 นาที ซึ่งจะรวดเร็วกว่าวิธีการตรวจในปัจจุบันที่ใช้เวลา 4-6 ชั่วโมงในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ และคาดว่าชุดตรวจใหม่นี้จะอยู่ที่ราว 500 บาท เท่านั้น จากค่าตรวจปัจจุบันอยู่ที่ราว 3,000-13,000บาท”
สำหรับความร่วมมือนี้เกิดขึ้นจาก สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) ซึ่งเป็นการช่วยเหลือด้านเทคโนโลยีจาก สถาบัน Broad Institute, Massachusetts Institute of Technology and Harvard, USA และความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายที่ประกอบไปด้วย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล และโรงพยาบาลพระปกเกล้า จ.จันทบุรี โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณการวิจัยจาก กลุ่ม ปตท. และ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB)
นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. เปิดเผยว่า กลุ่ม ปตท.สนับสนุนวงเงินวิจัยโครงการนี้ ราว 3 ล้านบาท โดย VISTEC สามารถผลิตได้ 4,000 ชุด/วัน หรือประมาณ 1 แสนชุด/เดือน ซึ่งขณะนี้ ปตท.ได้สั่งสารเคมีจากต่างประเทศเข้ามา ใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ในการนำเข้าเพื่อผลิตในจำนวน 1 แสนชุด
อย่างไรก็ตาม จากเครื่องมือที่มีอยู่และสารเคมีที่มีขณะนี้สามารถผลิตได้ทันที 1 หมื่นชุด และหากความต้องการมีปริมาณสูงมาก ทาง ปตท.จะหารือกับองค์การเภสัชกรรม เพื่อผลิตเชิงพาณิชย์ต่อไป เพราะองค์การเภสัชฯ และเครือข่ายเอกชน มีความพร้อมในการผลิตในปริมาณสูง