HomeOn Radarsตอนนี้เหมือนอยู่ในวิกฤตแล้ว?

ตอนนี้เหมือนอยู่ในวิกฤตแล้ว?

คนไทยผ่านห้วงเวลามากว่า 2 เดือนแล้วที่ต้องเผชิญกับไวรัสโควิด-19 นี้ และดูเหมือนว่าตัวเลขของไทยกำลังเจอผู้ติดเชื้อในอัตราเร่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ผู้คนทั่วโลกยังก็ไม่รู้ว่าจุดสิ้นสุดเหล่านี้จะจบลงเมื่อไร เพราะไม่ว่าจะเป็นช่วงจะตื่นหรือจะเข้านอนก็กลับพบว่ามีข่าวสารที่คอยให้อัพเดทตลอดเวลา

ดังนั้น เมื่อทุกคนอยู่บนความไม่รู้ของเหตุการณ์ เรื่องราวหรือข้อมูลข่าวสารแต่ละวันล้วนเป็นคำถามว่าระเบิดเวลาของเหตุการณ์นี้คือเมื่อไร??

เพราะต่างไม่เคยคิดว่าจะแพร่กระจายนอกประเทศจีน 

“ไพบูลย์ นลินทรางกูร”  ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย มองว่า เหตุการณ์ครั้งนี้มีความแตกต่างของทุกวิกฤตที่ผ่านมาที่เกิดจากสถาบันการเงินหรือจากปัญหาเศรษฐกิจ แต่นี้เกิดจากเรื่องของโรคและการแพร่เชื้อของไวรัส ความน่ากลัวคือ ไม่มีใครสามารถประเมินสิ่งที่เกิดขึ้นได้ และสิ่งที่เกินความคาดหมายคือ คิดว่าการแพร่เชื้อนี้กระจายไปยังนอกประเทศจีนที่ไม่มีใครตั้งรับกับเหตุการณ์นี้อย่างจริงจัง และถือเป็นการทำให้วิถีชีวิตหลายคนมีการเปลี่ยนแปลง

ข้อมูลใหม่คือตัวแปรให้เห็นผลกระทบ

“ภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ดีบีเอสวิคเคอร์ส (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตัวแปรหลักที่มีผลทั้งการใช้ชีวิตและการจัดพอร์ตลงทุนคือ การที่มีข่าวสารหรือข้อมูลที่เข้ามาใหม่อยู่ตลอดเวลา ด้านหนึ่งอาจเป็นตัวแปรที่ทำให้เกิดความเสี่ยงและมีผลต่อเชิงจิตวิยาในการใช้ชีวิตหรือการลงทุน แต่อยากให้มองอีกด้านหนึ่งด้วยเพราะการอัพเดทข้อมูลจะทำให้เราได้เริ่มเห็นพัฒนาการของข้อมูลหรือเหตุการณ์ เนื่องจากตอนนี้เป็นสิ่งที่ไม่มีใครสามารถประเมินได้เลยว่า ผลกระทบเรื่องนี้มีจุดสิ้นสุดตรงไหน

ตอนนี้เหมือนอยู่ในวิกฤตแล้ว

“วิจิตร อารยะพิศิษฐ” ผู้อำนวยการอาวุโส นักกลยุทธ์การลงทุน ฝ่ายวิจัย บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) มองว่า ตอนนี้เรายืนอยู่บนวิกฤตเศรษฐกิจแล้ว แต่เชื่อว่าทุกอย่างจะสามารถผ่านพ้นไปได้ในเวลารวดเร็วกว่าครั้งที่ผ่านมาได้ เนื่องจากธนาคารกลางเกือบทุกประเทศได้ออกมาตรการเร็วและแรง จากประสบการณ์ที่เคยเกิดขึ้นจากวิกฤตซับไพร์มปี 2551 

“ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ลดดอกเบี้ยนอกรอบถึง 2 ครั้ง ถึง 1.50 % ภายในระยะเวลา 2 สัปดาห์ จนเหลือ 0 %  ถือเป็นการฉีดยาแรง ซึ่งวิกฤตปี2551 การปรับดอกเบี้ยที่เคยเป็นขาขึ้นลงมากระแทกอย่างแรง ทำให้ดัชนีหุ้นลงแรง แต่ก็ทำให้เศรษฐกิจเริ่มรู้แล้วว่าซับไพร์มเกิดขึ้น ซึ่งเมื่อเทียบกับปัจจุบันเหมือนทุกอย่างคืนสู่สามัญแล้วเรียบร้อย เพียงแต่รอให้วงจรและล้อเศรษฐกิจค่อยกลับมาใหม่”

“อมรเทพ จาวะลา” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย มองว่า  รอบนี้ไม่ใช่เหมือนวิกฤติซับไพร์มที่สถาบันการเงินล้ม​ขาดสภาพคล่อง​ เฟดเรียนรู้บทเรียนนี้​ พร้อมอัด​คิวอี​ แถมธนาคารกลางทั่วโลกจะร่วม หากแบงก์ไหนล้มในตะวันตก​ เชื่อว่ารัฐบาลจะอุ้มเพื่อไม่ให้เหตุการณ์ลาม​ และเลือกปล่อยให้หนี้ภาครัฐสูง​ และมีการขาดดุลเพิ่มได้

“รอบนี้อาจเกิดวิกฤติย่อมๆ​ จากความกลัวไวรัส​ ที่กระทบการบริโภคสหรัฐ​และยุโรป​ จะดึงเศรษฐกิจโลกชะลอ​ ส่วนจะลากยาวแค่ไหน​ ก็ขึ้นอยู่กับการควบคุมไวรัส​ แต่โครงสร้างเศรษฐกิจไม่เสียหาย​ น่าจะฟื้นได้ไว”

เมื่อวิกฤติเป็นบทเรียน​ และอย่าเพิ่งเข้าซื้อสินทรัพย์ช่วงราคาลง​ น่าจะถือเงินสดไว้​ หรือทองคำ​ เพิ่มสภาพคล่อง​ รอจังหวะที่เหมาะสมซึ่งไม่น่าจะนาน​ ส่วนเศรษฐกิจไทยมีความจำเป็นในการประคองไม่ให้ทรุดลงกว่านี้อย่างเร่งด่วน​ อย่าเพิ่งคิดกระตุ้น​ที่ไม่จำเป็น แค่เอาให้ไม่ลงแรงเพราะหากล้มจะลุกยาก

SETลงมากว่า 50 % จาก 1,830 จุด

“สุกิจ อุดมศิริกุล” กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บล.ไทยพาณิชย์ การที่เห็นราคาหุ้นหลุดต่ำกว่า 1,000 ลงมาที่ 969.08 จุด หากเทียบกับระดับที่ดัชนีเคยขึ้นไสูงสุดรอบนี้เมื่อ 2-3 ปีผ่านมาที่ 1,830 จุด ดัชนีลงมาเกือบ 50 % แล้ว ซึ่งหากมองตามรอบของสถิติถือเป็นระดับเดียวกับการปรับลงของวิกฤตในรอบที่ผ่านมาๆ ว่าใกล้ถึงรอบการจบของวิกฤตหรือไม่

  • 2537-2540 วิกฤตต้มยำกุ้ง
  • 2550-2551 วิกฤตซับไพร์ม
  • 2561-2563 เจอหลายเหตุการณ์ที่เข้ามากระทบดอกเบี้ยขาขึ้น สงครามการค้า และมาระเบิดปีนี้กับโควิด-19 

“ระเบิดเวลาทางการลงทุนหรือตามสถิติในอดีตอาจจะดูเหมือนมีความคลี่คลายแล้วระดับหนึ่ง เพราะปัจจุบันราคาหุ้นลงต่ำกว่ามูลค่าสินทรัพย์ที่แท้จริงอีก หากรู้ว่าตัวเองเป็นนักลงทุนที่สามารถถือครองหุ้นระยะยาวได้ก็ถือเป็นโอกาสดีที่ทยอยสะสมหุ้นที่มองว่าอย่างน้อยกิจการหรือบริษัทนี้ไม่มีวันเจ๊งแน่ โดยเลือกในหุ้นที่เป็นหนึ่งในแต่ละอุตสาหกรรม 

อย่างก็ไรตาม ยังมีระเบิดเวลาอีกลูกที่ไม่มีใครรู้คือผลการสิ้นสุดของการแพร่ระบาดครั้งนี้ ซึ่งก็ต้องติดตามข้อมูลข่าวสารประกอบด้วย แต่ก็อย่าลืมเตรียมตัวพอร์ตการลงทุนให้พร้อมรับการฟื้นตัวด้วย

ทั้งนี้ จากบทเรียนปี 2551 ทำให้รอบนี้เฟดออกมาตรการเร็วขึ้น คิดว่าสถานการณ์รอบนี้จะจบเมื่อภาคธุรกิจมีแนวทางที่มีต้นทุนต่ำกว่าปัจจุบันในการควบคุม Covid-19 ได้ ไม่ใช่รอ Covid-19 หายไปและเชื่อว่ายุคปัจจุบันจะมีการปรับตัวที่เร็วกว่าอดีต

….เมื่อระเบิดเวลายังไม่หมด นอกจากจะควรเตรียมใจในการรับข่าวหรือข้อมูลใหม่ตลอดเวลาแล้ว ก็ควรเตรียมรับมือกับการเตรียมพอร์ตการลงทุนของเราได้เช่นกัน เพราะถ้าทุกอย่างฟื้นอาจจะกลับมาโดยไม่ทันตั้งตัว แต่ทุกอย่างควรดำเนินไปอย่างมีสติ…