HomeOn Radarsตลาดหุ้นไทยพัฒนาแล้ว กองทุนฯ ไม่ใช่คำตอบ

ตลาดหุ้นไทยพัฒนาแล้ว กองทุนฯ ไม่ใช่คำตอบ

ต้องจารึกอีกหนึ่งวัน 12 มี.ค. 2563 ที่ตลาดหุ้นไทยมีการปิดซื้อขายเป็นการชั่วคราว (Circuit Breker) ครั้งที่ 4 เพราะเปิดการซื้อขายในภาคบ่ายเพียง 8 นาที หุ้นแตะเข้าเกณฑ์เซอร์กิตเบรกเกอร์ขั้นแรกที่ -10 % หรือ ลดลง 125.05 จุด ที่ดัชนี 1,124.84 จุด พอหลังเบรกการซื้อขายไป 30 นาที ดูเหมือนว่าลดความแพนิกของผู้ลงทุนได้ โดยสรุปสิ้นวันหุ้นปิดกันไปที่ระดับ 1,114.91 จุด ลดลง 134.98 จุด (-10.80%)

เริ่มมีคำถามการตั้งกองทุนพยุงหุ้น

“สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี สั่งการกระทรวงการคลังและตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เร่งศึกษาการจัดตั้งกองทุนสร้างเสถียรภาพให้ตลาดทุน (กองทุนพยุงหุ้น) เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจไม่ดีจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 พร้อมกับหุ้นทั่วโลกมีการตื่นตระหนก รัฐบาลควรต้องดูแล เพราะในอดีตเคยมีกองทุนวายุภักษ์เข้าไปช่วยพยุงหุ้น แต่รอบนี้ต้องใช้กลไกอื่นที่ซับซ้อนกว่า และต้องดูจำนวนเงินที่เหมาะสมก่อน

“ภากร ปีตธวัชชัย” กรรมการและผู้จัดการ ตลท. กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาวิธีการให้ดีที่สุดเพราะเราไม่เคยมีกองทุนพยุงหุ้นมานานแล้ว อีกทั้งยังต้องพิจารณาหลายปัจจัยประกอบ ทั้งสถานการณ์ปัจจุบัน โครงสร้างตลาดหุ้นวันนี้ หรือความเหมาะกับนักลงทุนประเภทไหน 

ASP ชี้เคยตั้งกองทุนพยุงหุ้น 3 ครั้ง

“เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม” ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยเคยมีการตั้งกองทุนพยุงหุ้นขึ้นมา 3 ครั้ง ซึ่งมีความแตกต่างกันของเหตุการณ์ที่เป็นเหตุแห่งปัจจัยและขนาดมูลค่าของกองทุน

  • 26 พ.ย. 2530 กรณีเกิดจันทรทมิฬ (Black Monday) ที่ตลาดหุ้นทั่วโลกล่วงหน้า มูลค่ากองทุนประมาณ 1,000 ล้านบาท 
  • 19 พ.ย. 2535 ที่หุ้นตกเพราะเป็นช่วงที่เกิดขึ้นหลังเกิดเหตุการณ์ทางการเมืองพฤษภาทมิฬ มูลค่ากองทุน ประมาณ 10,000 ล้านบาท 
  • 24 มิ.ย. 2546 ที่เกิดจากการจัดตั้งกองทุนวายุภักษ์ขึ้น มูลค่ากองทุนประมาณ 100,000 ล้านบาท

บริบทตลาดหุ้นเปลี่ยน ตั้งกองทุนฯไม่ใช่คำตอบ

“เทิดศักดิ์” มองว่า หากจะตั้งกองทุนนี้ขึ้นมาจริง ต้องพิจารณาอยู่ 2 ปัจจัยหลักคือ

1.ขนาดตลาดหุ้นไทยไม่ได้เล็กเหมือนเมื่อก่อน เนื่องจากปัจจุบันมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 40,000-50,000 ล้านบาท และหลายครั้งที่มูลค่าการซื้อขายแตะหลักกว่า 100,000 ล้านบาท ซึ่งหากจะต้องใช้เม็ดเงินตั้งกองทุนเพื่อพยุงหุ้นจริง คิดว่าปัจจุบันต้องใช้เงินมูลค่าที่ใหญ่และมากขนาดไหน

2.แหล่งเงินทุนที่จะนำมาตั้งเป็นเงินกองทุนจะเอามาจากไหน (Source of Fund) เพราะเดิมทีหลายครั้งก็นำมาจากการรวบรวมของสมาชิกในตลาดทุนอย่างโบรกเกอร์ แต่ถามว่าด้วย ณ สถานการณ์ปัจจุบันที่หุ้นตกหนักขนาดนี้และเศรษฐกิจชะลอตัวจากไวรัสโควิด-19 โบรกเกอร์ยังอยู่ในภาวะที่ต้องหากลยุทธ์ช่วยเหลือตัวเองยังลำบาก หรือการที่จะให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ริเริ่มตั้งเหมือนกองทุนวายุภักษ์ คำถามคือ จะเอาเงินจากที่ไหนเป็นเงินตั้งต้น ในเมื่อตอนนี้ ควรใช้เม็ดเงินไปในการลงทุนด้านอื่นๆ มากกว่า เช่น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน “ภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย)ที่มองว่าปัจจุบันขนาดตลาดหุ้นไทยมีขนาดที่ใหญ่มากกว่าเมื่อก่อนมาก หรือมีขนาดใหญ่กว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) แล้ว ซึ่งแตกต่างจากเมื่อก่อนที่ถือว่าตลาดหุ้นไทยมีขนาดเล็กกว่านี้มาก ที่สามารถ

ขณะที่หากมีการตั้งกองทุนขึ้นมาจริง จะต้องใช้เงินจำนวนมากเท่าไรเพื่อจัดตั้งขึ้นมา อีกทั้งปัจจุบันตลาดหุ้นไทยมีเครื่องมือทางการเงิน เช่น ตราสารอนุพันธ์ (TFEX) ต่างๆ ที่ออกแบบขึ้นมาเพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถใช้บริหารความเสี่ยงทั้งการขึ้นและลงของตลาดได้ หรือการทำอาบิทาจ จึงไม่ง่ายที่จะตั้งกองทุนนี้ขึ้นมา และอาจทำให้ตลาดไม่สะท้อนกลไกตลาดที่แท้จริงออกมา

สิ่งสำคัญคือ ปัจจุบันตลาดหุ้นไทยได้พัฒนาระดับเป็นตลาดที่มีนักลงทุนต่างชาติและสถาบันให้ความสนใจและเข้ามาลงทุนเป็นจำนวนมาก การจะตั้งกองทุนพยุงหุ้นที่เมื่อก่อนใช้กับช่วงที่สถานการณ์ไม่ปกติ แต่ปัจจุบันหากดูจากสถานการณ์หุ้นไทยก็มีการปรับลงในทิศทางเดียวกับต่างประเทศ ไม่ได้ลงจากปัจจัยหรือมูลค่าพื้นฐานของหุ้น แต่เป็นเพราะนักลงทุนทั่วโลกมีการแพนิกและขายหุ้นออกมามากจากความกังวลการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

“ดังนั้น ควรให้การเคลื่อนไหวหุ้นเป็นไปตามกลไกตลาดเป็นหลัก การที่ตั้งกองทุนพยุงหุ้นเข้ามา แล้วนักลงทุนสถาบันบันต่างประเทศที่มีการเข้ามาลงทุนในหุ้นไทยอยู่แล้ว เขาจะต้องปรับสถานะการซื้อขายหุ้นอย่างไร และในอดีตประเด็นนี้ก็เคยเป็นสิ่งที่คนในอุตสาหกรรมคาใจอยู่ เพราะกังวลว่ามีโอกาสที่นักลงทุนต่างชาติจะกลับเข้ามาซื้อหุ้นไทยยากขึ้น”

สร้างความเชื่อมั่นต่อผู้ลงทุนดีที่สุด 

“เทิดศักดิ์” มองว่า สิ่งสุดท้ายตอนนี้คือ รัฐบาลหรือตลาดหลักทรัพย์ควรเรียกความเชื่อมั่นจากผู้ลงทุนมากกว่า เพราะการที่หุ้นปรับลงตอนนี้อยู่ในภาะวะ Overreact  หรือตื่นตระหนกจนมีการเทขายหุ้นออกมามากเกินไป 

“ไพบูลย์ นลินทรางกูร” ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) กล่าวว่า ตอนนี้ต้องรอดูว่าจะมีเม็ดเงินจากนักลงทุนจากการซื้อกองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว  (Super Saving Funds : SSF) มากน้อยขนาดไหน เพราะจะเพิ่งเริ่มใช้และมีระยะเวลาที่ต้องออมยาวถึง 10 ปี หลังกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) หมดอายุ เนื่องจากที่ผ่านมาเวลาที่หุ้นมีการปรับลง ส่วนใหญ่นักลงทุนจะเข้าไปซื้อ LTF เก็บไว้ในระยะยาว ซึ่งถือเป็นกลไกที่เกิดจากตลาดเองที่เมื่อหุ้นตกก็จะมีแรงซื้อจาก LTF มารับ 

“ตอนนี้รอดู SSF ได้ผลหรือไม่ ซึ่ง FETCO ได้เตรียมที่จะเสนอแผนต่อไปแล้วว่า ถ้าไม่ได้ผลก็จะเสนอให้ทางรัฐบาลและคลังพิจารณาการเว้นภาษีจากการลงทุนโดยตรงจากหุ้นเลย แต่ควรมีการกำหนดกรอบวงเงินที่ชัดเจนว่าควรลงทุนเท่าไร ในระยะเวลาเท่าไร เพราะสิ่งที่ดีที่สุดคือ ต้องเกิดจกาความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนเอง และก็ปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามกลไกตลาด”