HomeOn Radarsวอนรัฐ ช่วยฉีดยาแรงด้านนโยบายการคลัง

วอนรัฐ ช่วยฉีดยาแรงด้านนโยบายการคลัง

หลายสมาคมภายใต้สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) ได้จัดเสวนาพิเศษหัวข้อ “Growth Engines and Opportunities in Capital Market 2020” ผ่านมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ นักลงทุนสถาบัน และนักวิเคราะห์ ที่มองว่าไวรัสโควิด-19 เป็นปัจจัยที่โหมกระหน่ำทั้งเศรษฐกิจและตลาดหุ้นทั่วโลกและไทย แต่ยังมีสิ่งที่ต้องเฝ้าติดตามและโอกาสการลงทุนอยู่บ้าง 

นักเศรษฐศาสตร์ : ต้องเร่งออกกระสุนนโยบายคลัง

“ดร.ทิม ลีฬหะพันธุ์” นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ (ไทย) กล่าวว่า ที่ประเมินจีดีพีโลกปีนี้โต 3 % ถือว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปกติและยังต่ำกว่าช่วงที่เกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ปี 2551 เพราะนอกจากกำลังซื้อที่หายไปแล้ว สิ่งสำคัญคือกำลังการผลิตของโลกหายไป โดยยังไม่แน่ใจว่าจะกลับมาผลิตได้เต็มที่เมื่อไร และปัจจุบัน 3 โซนเศรฐกิจใหญ่ของโลกมีปัญหาคือ สหรัฐ ยุโรป และจีน

ไทยจะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มากสุดในเอเชีย เพราะมาจากทั้งภาคการผลิตและการท่องเที่ยว ซึ่งทำให้จีดีพีลดลง 1 % สิ่งที่ไทยควรเร่งทำคือ การใช้ทั้งนโยบายลดดอกเบี้ยและมาตรการทางคลังเพื่อบูธเศรษฐกิจในประเทศ”

ด้าน“ดร. เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ประจำประเทศไทย กลุ่มธนาคารโลก มองว่า ปัจจุบันการเชื่อมโยงเศรษฐกิจจีนกับไทยมีมากขึ้นจากการเป็นเครือข่ายห่วงโซ่การผลิตระดับโลกด้วยกัน เมื่อจีนมีการปิดโรงงานไป แต่มองว่าการที่เศรษฐกิจไทยจะกลับไปอยู่ระดับเดิมได้คือปี 2564 จุดเด่นคือไทยยังสามารถใช้นโยบายการเงิน โดยเฉพาะนโยบายทางการคลังได้อีกเยอะมาก เพราะ 2-3 ปีที่ผ่านมา ไทยไม่ได้ใช้นโยบายการคลังเต็มที่

“ดร.กิริฎา เภาพิจิตร” ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการวิจัยและคำปรึกษาระหว่างประเทศ ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า สิ่งที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ลดดอกเบี้ยนอกรอบเป็นการบอกชัดเจนว่าต้องการพยุงเศรษฐกิจ คล้ายกับคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ไทยได้ประกาศลดดอกเบี้ยไปแล้วก่อนหน้านี้ และเหมือนคาดการณ์ว่าไตรมาส 1 จีดีพีไทยสาหัสแน่ เพราะไวรัสโควิด-19 ไม่ได้ส่งผลกระทบแค่เรื่องท่องเที่ยวเท่านั้น ยังมีธุรกิจเกี่ยวเนื่องที่ต้องหยุดชะงักไปด้วย การบริโภค ซัพพลายเชนที่ต้องเกี่ยวกับการนำเข้าและส่งออก

“ปีนี้รายได้ท่องเที่ยวไทยจะหดตัว 8-10 % โดยมองว่าครึ่งปีแรกจะหดตัวแรงถึง 50 % ส่งออกปีนี้จะติดลบ 2% เดิมเศรษฐกิจไทยปีนี้มีโอกาสชะลอตัวและเจอภาวะดอกเบี้ยต่ำอยู่แล้ว แต่โควิด-19 ทำให้เจอเร็วขึ้น”   

“ดร. พิสิทธิ์ พัวพันธ์” ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า กรอบการขาดดุลของไทยตอนนี้ยังอยู่ในระดับต่ำ ปีนี้ไทยตั้งงบประมาณขาดดุล 2.6 % ของจีดีพี ปี 2564 ขาดดุล 2.8 % ของจีดีพี ทำให้ยังมีช่องว่างที่ใช้มาตรการทางการคลังได้มาก พร้อมกับยังมีโอกาสกู้เงินต่างประเทศได้มากขึ้น ตอนนี้เริ่มเห็นรัฐออกมาตรการทางการคลังระยะสั้นและออกมาให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น แต่อนาคตน่าจะเริ่มมีอมาตรการระยะยาวออกมา

นักลงทุนสถาบัน : โควิดคือระยะสั้น ระยะยาวโอกาสมองมูลค่าบริษัท

“ณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.ไทยพาณิชย์ กล่าวว่า การที่เห็นนักลงทุนขายออกมาเพราะหนึ่งในหน้าที่ของกองทุนทยอยลดสัดส่วนปรับพอร์ตเพื่อทำตามหน้าที่ในการลงทุนในระยะยาวให้กับผู้ลงทุน (Fully Invest Portfolio) โดยที่ไม่สามารถถือเงินสดได้ตลอดเวลาเช่นกัน 

แต่สิ่งที่อยากให้นักลงทุนมองคือ เรื่องไวรัสโควิด-19 เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในระยะสั้น และปกตินักลงทุนสถาบันจะใช้โอกาสนี้เพื่อดูโอกาสจากปัจจัยที่อาจจะเกิดขึ้นในปี 2-3 ปีข้างหน้า เช่น เรื่องการคัดกรองสาธารณสุข การเห็นสังคมมีความเเป็นเมืองมากขึ้น พร้อมกับคัดเลือกดูหุ้นหรืออุตสาหกรรมปัจจุบันที่สามารถปรับตัวสามารถแข่งขันท่ามกลางสภาวะที่ยากเช่นนี้ และมีสินทรัพย์ที่มีกระแสเงินสดดีสามารถประคองตัวยามที่เศรษฐกิจมีปัญหา

“พีรพงศ์ จิระเสวีจินดา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.บัวหลวง มองว่า หากนักลงทุนลองมองข้ามเรื่องโควิดไป ทำไมเราจึงได้เห็นข่าวเรื่องที่บริษัทยักษ์ใหญ่ของไทยหลายแห่ง เตรียมไปประมูลเข้าซื้อเทสโก้โลตัสกันในช่วงนี้ เพราะในแง่ของการทำธุรกิจเองก็มองข้ามปัจจัยลบระยะสั้นไป แต่กลับมองมูลค่าของบริษัทที่แท้จริงตอนนี้ 

เช่นเดียวกัน “ธิดาศิริ ศรีสมิต” รองกรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการลงทุน บลจ.กสิกรไทย มองว่า ตอนนี้หุ้นมีให้เลือกอีกหลายตัว เพราะหลายตัวมูลค่าหุ้นปรับตัวลงมามาก แต่สิ่งที่ต้องดูประกอบคือวิสัยทัศน์ผู้บริหารที่มองการแก้ไขปัญหาหรือบริหารงานในอีก  3-5 ปี ข้างหน้าอย่างไรที่จะทำให้บริษัทมีแนวโน้มการเติบโตในระยะยาว

นักวิเคราะห์ : ขอยาแรง / 1,300 จุดเอาอยู่ 

“ถนอมศักดิ์ สหรัตน์ชัย” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์ บล.กรุงไทย ซีมิโก้ มองว่า ตอนนี้ราคาหุ้นยังไม่สะท้อนเศรษฐกิจที่แย่ลง เชื่อว่าหลังผลประกอบการไตรมาส 1 ออกมาจะต้องมีการปรับลดคาดการณ์กันอีก ขณะที่ 3 ปีผ่านมาต่างชาติขายหุ้นไทยมาโดยตลอด อีกทั้งตอนนี้เราไม่มีกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ที่มาช่วยพยุงหุ้นเหมือนเมื่อก่อน ทำให้เกิดเป็นโดมิโนขาลงของหุ้น เพราะตอนนี้ทุกฝ่ายหากหุ้นมีการรีบาวด์ต่างก็รอจังหวะขายทำกำไรออกมาเช่นกัน

ทั้งนี้ การลดลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นกำลังซื้อ เพียงแต่ครั้งนี้ไม่เหมือนวิกฤตเศรษฐกิจครั้งก่อนที่เกิดจากดีมานด์หาย แต่ครั้งนี้เป็นขาซัพพลายหรือกำลังการผลิตที่หยุดไป ยิ่งจีนกลับมาผลิตและเติบโตได้ช้า เศรษฐกิจโลกก็ยิ่งชะลอตัว มาตรการเงินที่ออกมาก็เหมือนเป็นการกินยาพาราคุมเอาไว้ แต่สิ่งที่ต้องแก้คือที่แผล ในการออกมาตรการการคลังที่ตอนแรกส่วนใหญ่เป็นการบรรเทาเหมือนกันทั่วโลก เช่น ไทยให้เงินท่องเที่ยว หรือกู้ซอฟท์โลนเพื่อไม่ให้มีการจ้างคนออก

“แต่ต่อไปคือ การกระตุ้นที่ขอให้รัฐช่วยออกมาตรการที่ทำให้ตลาดตตกใจให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างแท้จริง เพราะตอนนี้คลังยังขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่สูง ยังมีโอกาสและช่องทางให้ทำอีกมาก รวมทั้งขอให้เห็นมาตรการที่เป็นระยะยาวได้ด้วย”

โดยสิ่งที่นักวิเคราะห์ทั้ง 3 แห่งมองเหมือนกัน รวมทั้ง บล.เอเซีย พลัส และ บล.โนมูระ พัฒนสิน คือ เชื่อว่าดัชนีหุ้นไทยระดับประมาณ 1,300-1,317 จุด ที่ SET เพิ่งไปรับมาเมื่อ 2-3 วันนี้ เป็นแนวรับระดับที่หุ้นไทยน่าจะรับไหว ส่วนกลยุทธ์การลงทุน เน้นไปที่หุ้นที่มีทนต่อความผันผวนต่อตลาดเป็นหลัก Defensive Stock และมีการจ่ายอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลระดับ 4-5 % เป็นหลัก โดยเฉพาะกลุ่ม REIT หรือกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน