สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จัดสัมมนา IAA-SET Hot Issue ครั้งที่ 2/2563 หัวข้อ “Theme ไหนเด่น เล่นหุ้นดี หนีไวรัส” เพื่อเป็นข้อแนะนำและให้นักลงทุนได้ปรับกลยุทธ์การลงทุนในช่วงที่ภาวะตลาดผันผวนจากไวรัสโคโรน่าพันธ์ใหม่ (โควิด-19) จากนักวิเคราะห์ 2 บริษัทหลักทรัพย์คือ “เอกภาวิน สุนทราภิชาติ” ผู้อำนวยการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล. ไทยพาณิชย์ “วิจิตร อารยะพิศิษฐ” นักกลยุทธ์ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล. เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย)
ความเสี่ยงที่ยังต้องเฝ้าดู
นักวิเคราะห์ทั้งสองคนมองในทิศทางเดียวกันว่า ตอนนี้ประเด็นที่นักลงทุนต้องเฝ้าระวังเป็นหลักคือ การที่ไทยจะเริ่มเข้าสู่ภาวะการแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 ระยะที่ 3 เมื่อไร ซึ่งอาจทำให้เห็นการปรับตัวของหุ้นไทยลดลงได้ แต่หากมองในอีกมุมหนึ่งคือ อาจจะทำให้เห็นจุดต่ำสุดของดัชนีรอบนี้แล้ว เพราะทำให้เห็นภาพของเหตุการณ์ชัดเจนขึ้น
แต่ขณะเดียวกัน ก็ต้องติดตามการแพร่ระบาดของไวรัสโคนิด-19 ที่อยู่นอกประเทศจีนด้วย โดยเฉพาะหากมีการระบาดและการติดเชื้อในสหรัฐซึ่งอาจทำให้ดัชนีหุ้นดาวน์โจนส์ และดัชนีอื่นของสหรัฐมีการปรับลงมา หลังดาวน์โจนส์ได้ขึ้นไปทำลายสถิติอย่างต่อเนื่อง หรือการแพร่เชื้อในยุโรปกระจายวงกว้างมากขึ้นเพราะมีการเข้าออกและข้ามประเทศระหว่างกลุ่มยุโรปได้ง่าย และแน่นอนย่อมส่งผลกระทบหุ้นไทยที่อาจจะโดนแรงกระแทกนี้ไปด้วย
สำหรับการปรับลดประมาณการณ์ของกำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.) 2563 น่าจะเป็นสิ่งที่นักลงทุนได้รับข่าวนี้ไปมากแล้ว ขณะที่ในอนาคตยังมีปัจจัยเรื่องวิกฤตภัยแล้งที่รออยู่ เนื่องจากตอนนี้แค่ดูปริมาณน้ำในเขื่อนแค่โซนภาคกลางปัจจุบันเหลือน้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน
SETดิ่งเหตุเกิดปัจจัยไม่คาดคิด- ไร้ LTFพยุง
“เอกภาวิน” มองว่า การที่หุ้นไทยปรับลงแรงช่วงนี้เกิดจากการที่ยังไม่เห็นความชัดเจนของการแพร่เชื้อโควิด-19 อยู่ตรงไหน เพราะตอนนี้เริ่มมีการแพร่เชื้อกระจายไปนอกประเทศจีนในวงกว้าง ขณะเดียวกัน ต้องยอมรับว่าครั้งนี้ ไม่มีแรงรับซื้อของกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) แบบเมื่อก่อน ขณะที่กองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว (SSF) ก็ยังไม่ได้เริ่มให้ผู้ลงทุนได้ลงทุนอย่างเป็นทางการ
“วิจิตร” กล่าวว่า ผ่านมา 2 เดือนหุ้นไทยลงแล้วกว่า 250 จุด ซึ่งสาเหตุหลักมาจากปัจจัยของสิ่งที่เกิดขึ้นจากปัจจัยไม่แน่นอนจากการแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 ที่วงการแพทย์เองก็ยังไม่สามารถตอบได้ว่าเห็นบทสรุปของการรักษาได้เมื่อไร
“ความไม่แน่นอนคือ ทุกคนไม่สามารถประเมินความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้ ตอนนี้เห็นเพียงแค่ต้องรอการพัฒนาการผลิตวัคซีนนี้ขึ้นมา การไม่มีกองทุน LTF รอรับหุ้นอย่างเมื่อก่อนก็ถือเป็นส่วนหนึ่ง แต่เพราะกองทุนก็ไม่สามารถประเมินจุดต่ำสุดของเหตุการณ์นี้ได้เช่นกัน ที่ผ่านมาจึงเห็นว่านักลงทุนสถาบันอาจจะเป็นคนขายหุ้นในช่วงนี้ออกมา เพราะยังสามารถล็อกผลตอบแทนจากกำไรได้อยู่ ขณะเดียวกันต้องอย่าลืมว่านักลงทุนมีเครื่องมือการลงทุนมากมาย เช่น บล็อกเทรด ใบสำคัญแสดงสิทธิ์อนุพันธ์ (DW) อีกทั้งเมื่อหุ้นลงแรงอย่านี้ต้องเจอแรงบังคับขายหุ้น (ฟอร์ซเซลล์) ออกมาด้วย”
GDP ไตรมาส 1/2563 ไม่ขยายตัว
“วิจิตร” มองว่า ต้องยอมรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย (GDP) ไตรมาส 1 /2563 มีโอกาสที่จะติดลบสูงเนื่องจากมองว่าตัวขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจทั้ง 5 ตัว มีโอกาสไม่เติบโตขึ้นเลย ตั้งแต่การบริโภค การลงทุนภาครัฐ การลงทุนภาคเอกชน การส่งออก หรือการนำเข้า แต่มองว่าไตรมาส 2 GDP ไทยมีโอกาสปรับตัวดีขึ้น จาก 2 ตัวหลักคือ การบริโภคภายในประเทศ และการลงทุนของภาครัฐ เนื่องจาก พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 จะเริ่มมีการรเบิกจ่ายกันแล้วในส่วนของงานโครงการที่ค้างท่ออยู่ ประกอบกับเชื่อว่าภาครัฐจะต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาหลังจากนี้ และทำให้มีโอกาสน้อยที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยเชิงเทคนิค (Technical Recession)
“เอกภาวิน” ให้มุมมองว่า มอองGDP ไตรมาส 1 ยังเติบโตอยู่แต่อยู่ในระดับ 0.5 % ขณะที่มอง GDP ทั้งปีนี้อยู่ที่ 1.5 % เพราะได้รับผลกระทบจากการท่องเที่ยวที่คาดว่านักท่องเที่ยวจะหดตัวลงถึง 10 % และส่งผลกระทบต่อจีดีพีถึง 1.2 %
จัดพอร์ตลงทุนและหุ้นที่เลือก
บล.ไทยพาณิชย์
ประเมินดัชนีปัจจุบันมีกรอบการเคลื่อนไหว 1,350-1,460 จุด ที่ระดับอัตราราคาปิดกำไรต่อหุ้น (P/E) ที่ 15-16 เท่า โดยมองว่าอัตราการเติบโตของกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) ยังเติบโตที่ 5 % ซึ่งหากการแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 ในไทยเข้าสู่ระยะที่ 3 เมื่อไรมีโอกาสที่จะเห็นหุ้นไทยปรับลงไปแตะที่ 1,300 จุดได้ แนะนำการจัดพอร์ตหรือสัดส่วนการลงทุนดังนี้
- การบริหารสภาพคล่องด้วยการถือเงินสด 10 %
- ตราสารหนี้ 10%
- ตราสารทางเลือก 20% (เน้นไปที่ REIT/กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนทองคำเน้นน้อยเพราะราคาปรับขึ้นสูงอย่างต่อเนื่อง)
- หุ้น 60 % (หุ้นไทย หุ้นสหรัฐ และหุ้นจีนเป็นหลัก ถ้าก่อนหน้านี้มีการปรับพอร์ตมาถือเงินสดในระดับหนึ่งแล้ว หากหุ้นมีโอกาสปรับตัวอีก ก็สามารถเพิ่มสัดส่วนหุ้นไปได้ถึง 70 %)
ขณะที่หุ้นที่แนะนำจึงเน้นไปทางที่ไปทางหุ้นประเภท Defensive ที่ยังมีอัตราการจ่ายเงินปันผลสูง เช่น ADVANC และ TISCO รวมทั้งหุ้นที่มีความผันผวนต่อตลาด (Hugh-beta) เช่น EA KCE PTTEP
บล.เมย์แบงก์ อิมเอ็ง (ประเทศไทย)
มองว่า ไวรัสโควิด-19 จะเริ่มฟื้นตัวในไตรมาส 2 นี้ แต่ตอนนี้ยังพอเห็นปัจจัยบวกจากที่ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2563 จะเริ่มบังคับใช้ แม้จะยังไม่เห็นการเกิดของโครงการใหม่ขึ้นมาก็ตาม แต่ก้จะทำให้เห็นการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณในงานค้างท่อเก่าออกมา และจะเริ่มส่งผลดีในเชิงจิตวิทยาได้ในเดือน มี.ค. นี้ มองอัตรากำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS Growth) จากเดิมที่คาดอยู่ที่ 96 บาท/หุ้น มาเป็น 90 บาท/หุ้น บนสมมติฐาน P/E ที่ 14.4-16.1 เท่า หลังปิดงบการเงินในไตรมาส 1 ทำให้กรอบการเทรดปีนี้จะอยู่ที่ 1,300-1,450 จุด ซึ่งหากใครถือหุ้นประมาณ 20-30 % ของพอร์ต ที่ระดับ 1,450 จุด ก็ยังสามารถถือได้อยู่ แต่ถ้าใครยังไม่มีหุ้นในมือ ควรรอให้สถานการณ์นิ่งเพื่อดูความชัดเจนของไวรัส แล้วค่อยทยอยสะสมที่ระดับ 1,370-1,300 จุดได้
โดยแนะนำ 5 วิธีหลักในการเลือกหุ้นตอนนี้คือ
- กระแสเงินสดเข้ามากกว่าออก
- ทนทานค่อภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่และยาวนานได้
- ฐานะทางการเงินแข็งแกร่งมาก
- อัตรากำไรสุทธิไม่ทรุด ตรงนี้เป็นสิ่งที่นักลงทุนสถาบันพิจารณาเป็นส่วนใหญ่
- โมเดลธุรกิจไม่แพ้
สำหรับหุ้นที่แนะนำ
กระทบน้อย คือ แม้ราคาหุ้นจะปรับลงมาแต่ก็มีโอกาสที่จะดีดกลับไปได้เร็ว แต่ทั้งหมดต้องดูกำไรสุทธิของไตรมาส 1 ที่จะออกมาประกอบด้วย
- กลุ่มไฟแนนซ์ ที่ยังเชื่อว่ากำไรมีโอกาสเติบโต 20 % แต่ต้องรอดูหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เป็นตัวประกอบด้วยว่ามีการขยับขึ้นอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่
- กลุ่มสื่อสาร ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากคิด-19 แถมยังได้ประโยชน์เพราะคนจะอยู่บ้านและใช้ข้อมูลดาต้ามากขึ้น แม้จะมีความกังวลจากเงินลงทุนร่วมประมูล 5 จีที่เข้ามา และยังเชื่อมั่นในกระแสเงินสดที่มีอยู่สูง
- กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง ที่ พ.ร.บ.งบประมาณมีการขับเคลื่อน
- กลุ่มรถไฟฟ้า แม้จะมีปัญหาไวรัสแต่คนยังต้องเดินทาง
- กลุ่มอาหาร ที่คนยังต้องกินอยู่
- กลุ่มโรงไฟฟ้า ที่แม้ราคาก่อนหน้านี้จะถูกเทขายออกมาจากสูงกว่ามูลค่าพื้นฐาน แต่ก็ถือเป็นกลุ่มที่น่าลงทุนจากหุ้นที่มีรายได้แน่นอน หรือจ่ายปันผล
กระทบมาก คือ อาจจะไม่ได้ให้คำแนะนำลงทุนในตอนนี้ เพราะต้องรอปัญหาไวรัสมีความชัดเจนจนใกล้จะเห็นทางออกของปัญหา แล้วค่อยดูทิศทางในการลงทุนต่อไป คือ
- กลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี เพราะจะเห็นความต้องการใช้น้ำมันและปิโตรปรับตัวลง
- กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอกนิกส์ ที่ยังแม้จะดีขึ้นจากสงครามการค้าและค่าเงินบาทที่เริ่มกลับมาอ่อนค่าแล้ว แต่การที่ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์มีห่วงโซ่การผลิตจากจีนทำให้ต้องมีการชะลอการผลิตลง
- กลุ่มโรงพยาบาลหรือสังหาริมทรัพย์ ที่มีผู้รับการบริการเป็นชาวต่างชาติ
…นักวิเคราะห์ให้มุมมองทิ้งท้ายว่าทุกวิกฤตยังมีโอกาสในการลงทุนเสมอ แต่ต้องอดทนรอให้ราคาหุ้นสะท้อนมูลค่าที่แท้จริงของเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดให้ชัดเจน จากนั้นจะเริ่มทยอยเข้ารอบที่กำลังขาขึ้นก็ได้…
You must be logged in to post a comment.