HomeOn Radarsเรายังจำเป็นต้องรักคนอื่นด้วย

เรายังจำเป็นต้องรักคนอื่นด้วย

เป็นที่แน่นอนแล้วว่าประเทศไทยวันนี้มีผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) เพิ่มอีก 3 รายทันที โดย 2 ราย ได้เดินทางกลับจากประเทศญี่ปุ่นมาเป็นคุณปู่คุณย่าและมีอาการ จนนำไปสู่การติดเชื้อให้กับหลานอายุ 8 ขวบ ทำให้ปัจจุบันในไทยมียอดผู้ป่วยสะสม 40 รายติดมาจากต่างประเทศ 26 ราย ติดจากการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย 14 ราย รักษาตัวอยู่ 16 ราย และรักษาหายแล้วกลับบ้านได้ 24 ราย

ผลที่เกิดขึ้น

สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนี้คือ เมื่อไม่รู้ว่าสถานที่ที่ผู้ติดเชื้อเดินทางระหว่างกลับ หรือการพบปะกับสมาชิกครอบครัวจะมีการขยายผลไปถึงไหน เพราะกว่าที่เรื่องทุกอย่างจะมีการขยายผลและประกาศออกมาอย่างเป็นทางการ จากโรงพยาบาล บี.แคร์ เมดิคอลเซ็นเตอร์ คือเช้าวันที่ 26 ก.พ. แต่ความจริงผู้ป่วยเดินทางมารักษา ตั้งแต่วันที่ 23 ก.พ. และปฏิเสธให้ประวัติว่าเดินทางไปประเทศสุ่มเสี่ยงมา สุดท้ายมีการส่งต่อผู้ป่วยไปโรงพยาบาลของรัฐ แต่บุคลากรโรงพยาบาลที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยต้องมีการกักตัวไว้ 14 วัน และตามมาด้วยสถานที่อื่นๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับผู้ติดเชื้อได้เดินทางไป โดยสายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ออกประกาศแนะให้ผู้ที่เดินทางด้วยเที่ยวบิน XJ 621 จากซับโปโร-ดอนเมือง ในวันที่ 20 ก.พ.2563 ควรพบแพทย์โดยด่วนหลังจากมีผู้เดินทาง 2 คนติดเชื้อไวรัส และให้ลูกเรือในเที่ยวบินดังกล่าวหยุดงาน 14 วันเพื่อสังเกตอาการ เฝ้าระวัง 

รับผิดชอบตัวเองและสังคมสำคัญที่สุด

เมื่อตอนนี้ยังไม่รู้ผลของการแพร่เชื้อไวรัสนี้ไปขนาดไหน เนื่องจากไม่สามารถจำกัดผู้ที่เกี่ยวข้องได้แน่นอน อีกทั้งเป็นระยะเวลาผ่านมาแล้วระยะหนึ่ง กว่าจะพบว่ามีอาการป่วยและยังอยู่ในช่วงที่ฟักตัวเพื่อรอดูอาการ 14 วัน ดังนั้น เราต้องเริ่มจากสังเกตตัวเองด้วยว่า มีอาการป่วยไข้ตามอาการของไวรัสนี้หรือไม่ พร้อมกับควรดูแลการใช้ชีวิตประจำวันของตัวเองให้ดี 

ไม่ใช่เรื่องผิดหากจำเป็นต้องเดินทางไปประเทศสุ่มเสี่ยงนั้นๆ ถ้าเรารักตัวเองแล้วก็ควรต้องรักคนอื่นด้วย ซึ่งขอเรียกร้องว่า หากต้องเดินทางไปยังประเทศสุ่มเสี่ยงก็ควรรับผิดชอบตัวเอง ที่สำคัญควรตระหนักในการรับผิดชอบชีวิตผู้อื่นด้วยเช่นกัน เริ่มจากที่แยกตัวเองออกจากผู้อื่นทันที 14 วัน หากไม่แน่ใจในอาการ ก็ควรรีบไปรักษา โดยอย่าปิดบังข้อมูลประวัติการเดินทางและการใช้ชีวิต เพราะจะมีผลต่อสังคมโดยรวมในภาวะเช่นนี้ 

อย่าไปที่มีโอกาสเสี่ยง

เพราะยังไม่รู้ขอบเขตของการแพร่เชื้อ สิ่งที่ดีที่สุดคืออยู่ในภาวะเซฟโซน และสร้างระยะปลอดภัยของตัวเองดีกว่า โดยพยายามหลีกเลี่ยงที่จะต้องเดินทางไปในสถานที่มีผู้คนจำนวนมาก หรือมีความแออัด ควรดูจังหวะ โอกาส และเหตุที่จะต้องเดินทางไปร่วมว่า มีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน หากไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน หรือสามารถหลีกเลี่ยงไปร่วมในเวลาเช่นนี้ เพราะบางครั้งแม้เราจะมีการป้องกันดูแลตัวเองด้วยการปิดปาก ล้างมือบ่อยๆ โปะเจลฆ่าเชื้อตลอดเวลา แต่บางครั้งอาจจะเกิดอุบัติเหตุที่ไปสัมผัสผู้อื่น หรือเผชิญกับผู้ที่ไม่รู้ว่ามีเชื้อโดยบังเอิญ ดังนั้น การป้องกันตัวเองไม่เข้าไปที่พบปะผู้คนจำนวนมาก น่าจะเป็นการป้องกันตัวเองได้ดีที่สุดตอนนี้ในระดับหนึ่ง ทุกอย่างสามารถทำได้บนช่องทางออนไลน์ได้มากขึ้น เช่น การสั่งซื้อของหรือสินค้าทางออนไลน์ หรือการแสดงออกในเรื่องต่างๆ ต่อสังคม

นอกจากนั้น อย่าเพิ่งเห็นแก่มูลค่าของเงินที่เสียไปหากมีการจองตั๋วสายการบินหรือที่พักในประเทศที่สุ่มเสี่ยงแล้ว แม้จะมีประกันการเดินทางหรือประกันชีวิต ณ นาทีนี้ถือว่าไม่คุ้มของผลที่จะได้รับกลับมา เพราะเชื่อว่าอรรถรสในการเที่ยวครั้งนี้จะไม่ได้เต็มที่ การตรวจเข้มของแต่ละประเทศมีความเข้มงวด รวมทั้งการต้องมากักตัวเองอีก 14 วันหลังเที่ยว ที่สำคัญ อะไรจะเป็นตัวการันตีว่า กลับมาจากเที่ยวแล้วจะไม่ได้รับเชื้อนี้กลับมาด้วย หรือกลับมาแล้วจะการันตีกับคนในสังคมได้อย่างไรว่าเราจะไม่ได้เป็นผู้แพร่เชื้อให้กับคนอื่น 

ความเสียหายโดยรวมเยอะแล้ว

แน่นอนภาวะเศรษฐกิจไทยมีการชะลอตัวในปีนี้ ส่วนความหวังที่คิดว่าเรื่องท่องเที่ยวจะเข้ามาช่วยค้ำชูเศรษฐกิจไทยจากช่วงไฮซีซั่นตั้งแต่ปลายปีก่อนถึงต้นปีนี้ กลายเป็นดับฝันกันทันที เพราะโรคระบาดคือการทำให้รายได้การท่องเที่ยวมลายหายไปในเวลารวดเร็ว ขณะที่การบริโภคก็น่าจะอ่อนตัวตามเหตุการณ์นี้ เพราะคนจะมีการจับจ่ายใช้สอยน้อยลง

สิ่งสำคัญคือ ถ้าเราไม่เอาตัวเองไปเป็นผู้เชื่อมโยงเหตุการณ์ด้านหนึ่งแล้ว ก็น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ไม่ทำให้เศรษฐกิจไทยต้องสะดุดไปมากกว่านี้ ทุกอย่างสามารถเริ่มที่ตัวเราเองได้

รีบ-เร็ว-รุก

เมื่อมีการแพร่เชื้อมากขึ้นสิ่งที่ทุกหน่วยงานต้องควรทำ 3 คือ 

“รีบ” สำรวจพนักงานในองค์กรหรือคนใกล้ชิดว่าได้เดินทางไปประเทศสุ่มเสี่ยงมาหรือเปล่า ถ้ามีควรมีนโยบายชัดเจนและบังคับเลยว่า ต้องให้หยุดทำงานอยู่ที่บ้าน ไม่ต้องมาที่ทำงาน เพราะถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะสกัดกั้นการแพร่เชื้อได้ 

“เร็ว” ในการออกมาตรการรองรับอื่นต่อมา เช่น ถ้าพบว่ามีพนักงานไปประเทศสุ่มเสี่ยง และสถานที่ทำงานควรทำอย่างไร มีการเฝ้าระมัดระวังและติดตามสถานการณ์อย่างไร อุปกรณ์การป้องกัน หรือในการฆ่าเชื้อโรคมีเพียงพอหรือไม่ ออกนโยบายที่ชัดเจนว่าไม่ให้พนักงานเดินทางไปประเทศที่สุ่มเสี่ยง ถ้ามีการเดินทางไปบริษัทจะมีนโยบายการจัดการอย่างไรต่อ

“รุก” ข้อนี้เป็นสิ่งที่ผู้บริหารหน่วยงานหรือองค์กร ควรลุกขึ้นมาให้ความสำคัญเรื่องนี้จริงจัง โดยนำมาเป็นแผนปฏิบัติการเชิงรุก หรือแผนการบริหารความเสี่ยงขององค์กรหากมีกรณีฉุกเฉิน (BCP) ทั้งในเชิงการดูแลพนักงานและมีส่วนร่วมรับผิดชอบกับสังคมด้วย สมมุติว่าหากเกิดกรณีมีพนักงานติดเชื้อไวรัสนี้จริงก็ควรรีบปฏิบัติให้หยุดการแพร่ระบาดของโรค และต้องไม่มีการปกปิดข้อมูลแก่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือสาธารณชน เพียงเพื่อป้องกันชื่อเสียงแต่หน่วยงานของตัวเอง

…เชื่อเถอะว่าการหยุดแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 นี้ เริ่มได้จากที่ตัวเราเอง…