HomeOn Radars'Technical Recession' สิ่งที่ต้องระวัง

‘Technical Recession’ สิ่งที่ต้องระวัง

วานนี้ (24 ก.พ. 2563) ครบ 1 เดือนที่จีนประกาศปิดเมืองอู่ฮั่นพอดี จากนั้นเหมือนสถานการณ์ที่เคยดูท่าว่าจะดีเมื่อตัวเลขของการระบาดของผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 (ไวรัสโคโรน่า) ที่เคยวางใจว่าชะลอลง กลับสร้างความตื่นตระหนกให้กับคนทั่วโลกได้ภายในเวลาไม่กี่วัน จนหุ้นทั่วโลกดิ่งรับการแพนิกครั้งนี้อย่างจริงจัง โดยหุ้นไทยเหมือนเป็นรองแค่ตลาดหุ้นอิตาลีที่ดิ่งไป 4 % ร่วงไปเกือบ 60 จุด ปิดที่ 1,435.56 จุด ลดลง 59.53 จุด หรือ -3.98 % ขณะที่ตลาดหุ้นสหรัฐทั้ง 3 แห่งก็ติดลบมากกว่า 3.5 % 

SET ดิ่ง 400 จุดจาก High Record 

เป็นเวลากว่า 2 ปี 1 เดือนที่ดัชนีหุ้นไทยเคยขึ้นไปปิดแตะสูงสุดที่ 1,838.96 จุด เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2561 เทียบกับ SET เมื่อวานหุ้นไทยร่วงมาแล้ว 403.4 จุด หรือ 21.94 % ในระยะเวลา 2 ปี 1 เดือน และเปิดตลาดภาคเช้ามาวันนี้ตลาดหุ้นไทยก็ยังเคลื่อนไหวในแดนลบต่อ และล่าสุดกระทรวงสาธารณสุขแจ้งว่ามีคนไทยที่ติดเชื้อไวรัสนี้เพิ่มอีก 2 คนเป็นทั้งหมด 37 ราย

WHOกังวลเข้าสู่การระบาดครั้งใหญ่

จากกรณีที่ไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดนอกประเทศจีน โดยเฉพาะ 3 ประเทศคือ เกาหลีใต้ อิตาลี และอิหร่าน ซึ่งทำให้ผู้อำนวยการ องค์การอนามัยโลก (World Health Organization หรือ WHO) และผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบาด เริ่มแสดงกังวลว่าการระบาดของไวรัสนี้โคโรนากำลังขยับเข้าใกล้สู่ระดับการระบาดใหญ่ (Pandemic) 

ไทยชี้ ‘โควิดคือโรคติดต่ออันตราย” ยังไม่เข้าระยะที่3

คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข มองว่า ไทยยังอยู่ในระยะที่ 2 ยังไม่พบการระบาดในประเทศ แต่มีการประกาศไวรัสนี้เป็นโรคติดต่ออันตราย ซึ่งทำให้มีอำนาจในการปิดสถานที่มองว่าจะเป็นที่แพร่กระจาย หรือมีอำนาจให้คนหยุดงานหากพบว่าผู้นั้นมีความเสี่ยงในการแพร่กระจายโรค และยังไม่ได้เข้าสู่ระยะที่ 3 ของโรค

หั่นเป้าจีดีพีกันสะบั้นหลังสภาพัฒน์ประเดิม

หลังจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปีนี้ลงเหลือ 1.5-2.5% ต่ำกว่าคาดการณ์เดิมที่ 2.7-3.7% จากปัจจัยหลักกดดัน คือ การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ปัญหาภัยแล้ง และความล่าช้าของงบประมาณรายจ่ายปี 2563 ก็กลายเป็นนำตลาดให้สำนักเศรษฐกิจวิจัยต่างๆ หั่นจีดีพีตาม ขณะที่หลายประเทศก็มีการปรับลดเป้าจีดีพีลงในทิศทางเดียวกันจากผลกระทบของไวรัสนี้ พร้อมกับจะมีการออกมาตรการมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจกัน

“โรคระบาด” จะกลายเป็นวิกฤตใหม่ของโลก?

เดิมที่เคยบอกว่าวิกฤตเศรษฐกิจจะครบรอบทุก 10 ปี ซึ่งเทียบกับปี 2008 หรือปี 2551 คือวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ที่เกิดจากฝั่งสหรัฐ ซึ่งปีที่ผ่านมาถือเป็นรอบ 12 ปีที่ผ่านมาแล้ว แต่ยังไม่ได้เกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจ เพราะเป็นเรื่องสงครามการค้าที่เกิดจากความพยายามปกป้องเศรษฐกิจของตัวเองระหว่างสหรัฐและจีน แต่ไปๆ มาๆ ดูเหมือนไวรัสโคโรน่ากลับเป็นประเด็นกดดันหลักตอนนี้ แต่นักวิเคราะห์หลายแห่งมองว่าไม่ได้ร้ายแรงถึงขนาดนั้น และเหตุการณ์น่าจะเริ่มฟื้นตัวไตรมาส 2 นี้ 

บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) และ บล.ไทยพาณิชย์ มองตรงกันว่า ภาวะไวรัสโควิด-19 น่าจะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นตั้งแต่กลางเดือน พ.ค. หรือไตรมาส 2 เพราะตอนนี้เริ่มเห็นการชะลอตัวของตัวเลขการแพร่กระจายและเสียชีวิตในประเทศจีนเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลง ขณะที่ บล.เอเซียพลัส มองว่า สัญญาณการฟื้นตัวของตลาดหุ้นจีนเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น ตามการแพร่ระบาดของโรคนี้เริ่มฟื้นตัว ซึ่งสอดคล้องเช่นเดียวดัชนีตลาดหุ้นจีนตอนนี้ก็ใช้ระยะเวาฟื้นตัวประมาณ 1 เดือน 

ระวังเกิด Technical Recession

“วิจิตร อารยะพิศิษฐ” ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย)  เปิดเผยว่า ตอนนี้ต้องระวังการเกิดการถดถอยในเชิงเทคนิค หรือการที่จีดีพีมีการหดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน (Technical Recession) ซึ่งภาพรวมไตรมาส 4 ปีที่แล้ว จีดีพีอยู่ที่ 1.6 % ขณะที่ผ่านไตรมาส 1 ปีนี้ล้วนมีปัจจัยลบเกี่ยวข้อง 

“ทำให้มองว่าจีดีพีไตรมาส 1 /2563 มีโอกาสเติบโตน้อยกว่าหรือติดลบเมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2562 แต่ซึ่งสิ่งที่น่ากังวลกว่านั้นคือถ้าจีดีพีไตรมาส 2/2563 ออกมาเติบโตน้อยกว่าไตรมาส 1/2563 หรือไม่ เพราะถ้าติดลบ2ไตรมาสติดต่อกันจะทำให้เกิด Technical Recession ซึ่งมีผลต่อ SET โดยตรงที่ดัชนีหุ้นมีโอกาสปรับลดลงอีก”

อย่างไรก็ตาม บล.เมย์แบงก์ฯ มองว่า จีดีพีไตรมาส 2 น่าจะออกมาดีขึ้นด้วยแม้ปัจจัยขับเคลื่อนหลักหลายตัวทางเศรษฐกิจจะทรงตัว ทั้งการลงทุนภาครัฐ การบริโภค การท่องเที่ยว โดยคาดว่าสถานการณ์จะเริ่มดีขึ้นหลังจากไวรัสโควิด-19 น่าจะเริ่มเห็นการฟื้นตัวในช่วงไตรมาส 2ได้ ขณะที่ตอนนี้ราคาหุ้นได้กระแทกราคาของกำไรตลาดหุ้นลงหนัก จนทำให้กำไรตลาดหุ้นมีดาวน์ไซด์ และเชื่อว่าตลาดโดยรวมหรือนักวิเคราะห์จะต้องมีการปรับประมาณการณ์ลดลงอีก 1 ครั้ง เนื่องจากหลายฝ่ายมองเรื่องโควิดรุนแรงเกินกว่าคาด แต่สุดท้ายการดึงของกำไรจะมีโอกาสดีดกลับมาในอนาคต

ทั้งนี้ ตอนนี้ตลาดโดยรวมมองอัตรากำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS)โดยรวมลลดงมาที่ 96 บาท แต่เมย์แบงก์มองว่าระดับ EPS ที่ 90 บาทต่อหุ้น เป็นระดับที่รับมือและตอบรับกับความเสี่ยงของไวรัสนี้แล้ว โดยในเชิงปัจจัยพื้นฐานคิดจากค่าเฉลี่ย พี/อีย้อนหลัง 10 ปี ที่อยู่ที่ 14.4 เท่า จะทำให้ระดับดัชนีที่ 1,450 จุด ถึงกลางเดือน พ.ค. นี้ สามารถทยอยสะสมหุ้นได้โดยมีกรอบ 1,370-1,300 จุด ขณะที่หากมองในเชิงเทคนิคตอนนี้ถือว่านักลงทุนมีแรงขายหุ้นที่มากเกินไป ภาพรวมตลาดหุ้นตอนนี้ยังไม่ดี แต่ถ้าเลือกและเก็บจังวหะสะสมที่คนแพนิกได้ถูกตัวก็ถือเป็นโอกาสคนมีเงินในระยะยาว

“ช่วงที่เหลือของปีนี้มีโอกาสที่แบงก์ชาติจะลดดอกเบี้ยอีก 1 % เมื่อหักกับเงินเฟ้อ 0.7 % เรื่องดอกเบี้ยที่แท้จริงก็ถือว่ามีโอกาสติดลบได้ แต่ก็ยังเชื่อว่ารัฐบาลต้องทำทุกวิธีทางที่จะไม่ทำให้จีดีพีเกิด Technical Recession”

กลยุทธ์กระแสเงินสดมีดีกว่า พี/อี ถูก

บล.เอเซียพลัส แนะนำว่าต้องเลือกที่แบบรายตัวที่ต้องเน้นคนที่มีเงินเก้บระยะกลางและระยะยาวจริงๆ ซื้อหุ้นที่มีการข่ายปันผลมากกว่า 4 % ขึ้น หรือถ้าเป็นกลุ่ม REIT ก็เน้นเลือกแบบประเภทที่เป็นฟรีโฮล ขณะที่บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็งให้กลยุทธ์มา 5 ข้อในการเลือกหุ้น ดังนี้

  • ตอนนี้ไม่ควรเชื่อระดับ พี/อี แต่ให้เน้นกระแสเงินสดที่ไหลเข้ามากกว่าออก เช่น โรงไฟฟ้า 
  • ทนภาวะต่อเศรษฐกิจที่แย่ 
  • ฐานะทางการเงินแข็งแกร่ง
  • อัตรากำไรสุทธิไม่ทรุด 
  • โมเดลหรือแผนธุรกิจที่ดี เช่น ไม่มีการพึ่งพิงรายได้จากแหล่งเดียว