วันนี้ (20 ก.พ.) เป็นวันแรกที่ CRC หรือ บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งหมายความว่าประชาชนทั่วไปก็จะสามารถเข้าไปร่วมเป็นเจ้าของเซ็นทรัลได้ ด้วยราคา IPO ที่ 42 บาทต่อหุ้น
คำศัพท์ใหม่ที่น่าสนใจในวันนี้คือ ‘IPO’ มาจากคำว่า Initial Public Offering หรือการเสนอขายเสนอขายหุ้นใหม่ให้กับประชาชนเป็นครั้งแรกของบริษัทที่ต้องการระดมทุน ซึ่งเขาจะนำเงินที่ระดมทุนไปขยับขยายกิจการต่อไป
ทว่า ก่อนที่เราจะร่วมลงทุนกับธุรกิจไหนก็ตาม การทำความรู้จักกิจการเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก เราจะมาเล่าให้ฟังว่าหุ้น CRC มีธุรกิจอะไรอยู่ในมือและมีรายได้มาจากธุรกิจใดบ้าง
‘เซ็นทรัล’ ไม่ใช่แค่ชื่อห้าง แต่เป็นกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่
เมื่อกล่าวถึงเซ็นทรัลแล้ว หลายคนอาจจะคุ้นเคยกับชื่อของห้างสรรพสินค้าเพียงอย่างเดียว แต่แท้จริงแล้วเซ็นทรัลเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีธุรกิจหลากหลายอยู่ในมือ ซึ่งหลายธุรกิจก็เป็นธุรกิจที่เราคุ้นเคยในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว โดยมีการแบ่งกลุ่มธุรกิจดังนี้
- กลุ่มธุรกิจค้าปลีก ในนามบริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC
- กลุ่มธุรกิจศูนย์การค้าและอสังหาริมทรัพย์ ในนามบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN
- กลุ่มธุรกิจโรงแรม ในนามบริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) หรือ CENTEL
- กลุ่มธุรกิจร้านอาหาร ในนามบริษัท บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด หรือ CRG
- กลุ่มธุรกิจสายงานอุปกรณ์เครื่องเขียน หนังสือ และออนไลน์ บริษัท ซีโอเเอล จำกัด(มหาชน) หรือ COL
เจาะลึก CRC ให้มากขึ้น
ในส่วนของธุรกิจค้าปลีกหรือ CRC ก็มีการแบ่งกลุ่มธุรกิจออกเป็นสามกลุ่ม ดังนี้
1.) กลุ่มแฟชั่น เน้นการจำหน่ายเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ ในรูปแบบห้างสรรพสินค้าและร้านขายสินค้าเฉพาะทางเป็นหลัก ทั้งในประเทศไทยและประเทศอิตาลี
– ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล เป็นแบรนด์สินค้าหลักของบริษัทและมีส่วนแบ่งการตลาดในหมวดของห้างสรรพสินค้าเป็นอันดับที่ 1 ของไทย
– ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน มีส่วนแบ่งการตลาดในหมวดของห้างสรรพสินค้าเป็นอันดับที่ 2 ของไทย รองจากเซ็นทรัล
– โรบินสัน ไลฟ์สไตล์ เซ็นเตอร์ ห้างสรรพสินค้าที่เน้นเจาะกลุ่มตลาดลูกค้าในเมืองรอง
– ซูเปอร์สปอร์ต มีส่วนแบ่งการตลาดในหมวดของสินค้ากีฬาเป็นอันดับที่ 1 ของไทย
– Central Marketing Group (CMG) เป็นผู้แทนจำหน่ายสินค้าแฟชั่นและผลิตภัณฑ์เสริมความงามจากต่างประเทศ
– ห้างสรรพสินค้ารีนาเชนเต (Rinascente) ห้างสรรพสินค้าที่ขายสินค้าแฟชั่นและผลิตภัณฑ์เสริมความงามระดับไฮเอนด์ในประเทศอิตาลี ซึ่งเซ็นทรัลเข้าซื้อกิจการในปี 2554
2.) กลุ่มฮาร์ดไลน์ เน้นการจำหน่ายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ สินค้าตกแต่งบ้านและสินค้าปรับปรุงบ้าน ทั้งในประเทศไทยและประเทศเวียดนาม
– ไทวัสดุ เป็นธุรกิจที่เน้นจำหน่ายวัสดุก่อสร้างและมีส่วนแบ่งการตลาดในหมวดสินค้าเกี่ยวกับบ้านและสวนเป็นอันดับที่ 3
– บ้าน แอนด์ บียอนด์ (Baan and Beyond) มุ่งเน้นจำหน่ายสินค้าตกแต่งบ้าน
– เพาเวอร์บาย (Power Buy) ที่ครองส่วนแบ่งการตลาดในหมวดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าเฉพาะทางเป็นอันดับ 1
– เหงียนคิม (Nguyen Kim) ร้านขายสินค้าอิเล็คทรอนิกส์เฉพาะทางในเวียดนาม มุ่งเน้นการจำหน่วยเครื่องใช้ไฟฟ้าคุณภาพ โดยมีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 3 ของเวียดนาม ในหมวดผู้ค้าปลีกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าเฉพาะทาง
3.) กลุ่มฟู้ดหรืออาหาร จำหน่ายอาหารสินค้าอุปโภคบริโภคในรูปแบบไฮเปอร์มาร์เก็ต ซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อ ทั้งในประเทศไทยและประเทศเวียดนาม
– ท็อปส์ (Tops) เป็นผู้จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค มีส่วนแบ่งการตลาดในหมวดซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นอันดับที่ 1 ของไทย
– เซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์ (Central Food Hall) เป็นซูเปอร์มาร์เก็ตที่พื้นที่ให้รับประทานอาหารได้ พร้อมทั้งมีการจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคด้วย
– แฟมิลี่มาร์ท (FamilyMart) ร้านสะดวกซื้อที่จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค มีส่วนแบ่งการตลาดในหมวดของสินค้ากีฬาเป็นอันดับที่ 3 ของไทย
– โก! บิ๊กซี (Go! Big C) ไฮเปอร์มาร์เก็ตและพลาซาในประเทศเวียดนาม และได้รับการจัดอันดับให้เป็นอันดับ 2 เมื่อพิจารณาจากส่วนแบ่งทางการตลาดและพื้นที่ขายในหมวดผู้ค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคในประเทศเวียดนาม นอกจากนี้กลุ่มบริษัทกำลังปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้เป็นแบรนด์ “Go!”
– ลานชี มาร์ท (Lanchi Mart) เป็นไฮเปอร์มาร์เก็ตขนาดเล็กถึงกลางในพื้นที่ชานเมืองและชนบทของประเทศเวียดนามตอนเหนือ
สัดส่วนรายได้
สำหรับสัดส่วนรายได้ของ CRC สามารถเรียงลำดับได้ดังนี้ กลุ่มฟู้ดหรืออาหาร 43%, กลุ่มแฟชั่น 32% และฮาร์ดไลน์อยู่ที่ 25%
ส่วนรายได้แบ่งตามประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย 75%, ประเทศเวียดนาม 18%, ประเทศอิตาลี 7.2% และอื่นๆอีก 0.1% เพราะฉะนั้นแหล่งรายได้หลักของ CRC ยังคงอยู่ในประเทศไทย
จุดประสงค์ในการระดมทุน
การระดมทุนครั้งนี้ทำให้เราสามารถเข้าถึงธุรกิจของเซ็นทรัลง่ายมากขึ้น จากเดิมที่เป็นธุรกิจในครอบครัว ซึ่งจุดประสงค์ในการระดมทุนโดยสรุปคือขยายสาขาธุรกิจเดิมที่มีอยู่ ปรับปรุงสาขาของธุรกิจเดิม และชำระคืนหนี้เงินกู้ยืมสถาบันการเงิน
การระดมทุนกว่า 7.99 หมื่นล้านบาทคือมูลค่าการระดมทุนที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ครั้งนี้จึงนับเป็นการระดมทุนครั้งประวัติศาสตร์ของตลาดหุ้นไทยอีกครั้งหนึ่ง
เพราะฉะนั้น ก่อนจะซื้อหุ้นสักตัวหนึ่ง ลองหมั่นศึกษาหาความรู้ จนกว่าเราจะรู้จักหุ้นตัวนั้นเหมือนเพื่อนสนิทของเรา เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจก่อนการลงทุนด้วยนะคะ
ติดตามฟังรายการ ‘ลองรวย’ ได้ทาง
Spotify https://spoti.fi/2RMW6x7
Youtube https://youtu.be/qPvLNO2MK6E
Apple Podcast https://apple.co/35lSO7N
Google Podcast http://bit.ly/2RTgBrX
Castbox http://bit.ly/34jLg4b
Podbean http://bit.ly/2Ek4MTu
Pocketcast http://bit.ly/2YQpunw
Overcast http://bit.ly/2MhSBLw
Castro http://bit.ly/36ZgQWu
You must be logged in to post a comment.