HomeUncategorizedโควิด-19 ทำหั่นเป้าGDPและกำไรบจ. แนะกระจายความเสี่ยง

โควิด-19 ทำหั่นเป้าGDPและกำไรบจ. แนะกระจายความเสี่ยง

ปี 2562 ตลาดหุ้นทั้่วโลกและไทยต้องเผชิญกับความผันผวนจากประเด็นสงครามการค้าสหรัฐและจีนเป็นหลัก (Trade War) และดูสถานการณ์ทุกอย่างเหมือนจะดีขึ้นเพราะเริ่มมีการเจราจาข้อตกลงกาค้า แต่ปรากฎว่าดันมีปัจจัยลบที่เข้ามากระทบเศรษฐกิจโลกต่อเนื่อง คือ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 (โคโรน่า) จนทำให้นักวิเคราะห์และนักเศรษฐศาสตร์ต้องจำใจหั่นผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) และในอนาคตมีอยู่ระหว่างการรอลดเป้ากำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ปี 2563 ลง 

SCBชี้เศรษฐกิจไทยรอฟื้นตัวอีก 1-2 ไตรมาส

“สุกิจ อุดมศิริกุล” กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บล.ไทยพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ว่า ตอนนี้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนเริ่มไม่ปะติดปะต่อ เพราะก่อนที่จะเกิดไวรัสนี้ โมเมนตัมของตลาดหุ้นเริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว และ SCBS มองครึ่งแรกของปี 2563 จะเป็นรอบขาขึ้นของ SET จากเชิงปัจจัยพื้นฐานตัวเลขเศรษฐกิจกิจทั่วโลกเริ่มฟื้นตัวและเริ่มเห็นสัญญาณจุดต่ำสุดไปแล้ว แต่พอเจอการระบาดของโคโรน่าทำให้การมองของเศรษฐกิจครึ่งปีแรกนี้เปลี่ยนไป จากที่จะฟื้นตัวต่อเนื่อง กลายเป็นคาดว่าเศรษฐกิจไทยต้องใช้เวลาอีก 1-2 ไตรมาส ถึงจะเริ่มมีการฟื้นตัว 

“โมเมนตัมความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่เคยเชื่อว่าจะกลับมาดีได้ กลายเป็นตัวเลขเศรษฐกิจต้องรอการฟื้นตัวของปัจจัยพื้นฐานรอบใหม่ ทำให้ตอนนี้เริ่มเห็นการปรับลดการคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ มีการหั่นจีดีพี ปรับจำนวนนักท่องเที่ยวไทยปีนี้ลง โดยส่วนใหญ่มองจีดีพีไทยปีนี้ต่ำกว่า 2.5 % เฉลี่ยปานกลางมองที่ 2 % และต่ำสุด 1.5 % ซึ่ง SCBS ก็ปรับลดจีดีพีปีนี้ลงอยู่ที่ 2 % จากเดิมที่คาดการณ์ว่าจะโตประมาณ 2.4  % โดยยังเชื่อว่า ช่วงครึ่งปีหลังหรืออีก 2 ไตรมาส ยังมีเวลาแก้ไข แต่ต้องรอให้การระบาดของโรคจบก่อน”

การควบคุมโรคคือสิ่งที่กระทบกิจกรรมเศรษฐกิจ

สิ่งที่ทำให้ทั่วโลกได้รับผลกระทบจากการแพร่หลายของไวรัสนี้คือ เศรษฐกิจโลกจะมีการชะลอตัวเพราะกิจกรรมทุกอย่างต้องหยุดชะงักงันลง ซึ่งมาตรการการควบคุมคือสาเหตุที่ทำให้เกิดต้นทุนที่งอกเงยอย่างไม่ได้ตั้งใจของผู้ประกอบการต่างๆ เช่น การเดินทางที่ต้องถูกระงับ การกักกันตัว การที่มีสต็อกสินค้าที่รอการผลิตแล้ว แต่ขาดชิ้นส่วนที่ต้องมาประกอบต่อ เพราะมีการสั่งปิดโรงงาน หรือซัพลายเชนของการผลิตสินค้าต้องรอให้สถานการณ์ดีขึ้นก่อน โดยโรงงานที่อู่ฮั่นกระทบซัพพลาย 3 อุตสาหกรรมหลัก คือ ยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และเคมีภัณฑ์ แต่ทั้งหมดนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบกับภาวะตลาดหุ้นไทยโดยรวม เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่เล็กมากในตลาดหุ้นไทย 

ทั้งนี้ ตามสถิติในอดีตหากผ่านจุดพีคของโรคระบาดหรือมีการควบคุมสถานการณ์ของโรคได้ หลังจากนั้น 2-3 เดือน ทุกอย่างถึงจะเริ่มการฟื้นตัว ตอนนี้ตัวเลขของจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่เริ่มมีเป็นอัตราที่ลดลง เชื่อว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ น่าจะส่งผลถึงเดือน ก.พ. และคาดว่าตั้งแต่เดือน มี.ค. อาจจะเริ่มเข้าที่เข้าทางมากขึ้น เพราะเริ่มเห็นโรงงานนอกเมืองอู่ฮั่นบางแห่งก็เริ่มมาเปิดการผลิตอีกครั้ง

ราคาหุ้นยังมีสิ่งซ่อนอยู่

ตอนนี้เริ่มเห็นตลาดหุ้นจีนฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยตลอด 11 วันที่ตลาดหุ้นจีนเปิดทำการมากหุ้นจีนบวกถึง 10 วัน ขณะที่ดัชนีสหรัฐก็เริ่มมีการกลับมาทำนิวไฮ นั่นแสดงว่า หุ้นที่ได้รับผลกระทบน้อยก็เริ่มมีคนเข้าไปลงทุน ส่วนหุ้นที่ได้รับผลกระทบเยอะก็ยังไม่มีคนเข้าไป แต่สิ่งที่ต้องดูคือ การฟื้นตัวของหุ้นนั้นจะเป็นการฟื้นตัวที่ยั่งยืนได้หรือเปล่า 

อย่างไรก็ดี ส่วนตัวเชื่อว่ายังเป็นการฟื้นตัวที่ยังไม่ยั่งยืน เชื่อว่าหุ้นจะมีการปรับลงอีก เพราะยังต้องเจอผลกระทบจากการประกาศตัวเลขสำคัญต่างๆ ออกมาอีก เริ่มจากมีการหั้่นเป้าจีดีพีแล้ว ต่อไปคือการปรับลดการประมาณการตัวเลขกำไรของ บจ.ปีนี้ลง ซึ่งเดิม SCBS มองอัตราการเติบโตของกำไรสุทธิของหุ้น (EPS Growth) ปีนี้โต 8-10 % ตอนนี้ปรับลดลงมาและน่าจะเติบโตไม่ถึง 5 % 

“ยังมีความไม่แน่นอนที่ซ่อนอยู่ในราคาหุ้นที่ขึ้นไปแรงแล้ว เพราะหากผลประกอบการออกมาไม่ดี ก็จะมีการปรับฐานและราคาถอยหลังมาได้ ดังนั้น ต้องใช้เวลา 1-2 ไตรมาส ที่เศรษฐกิจหรือดัชนีหุ้นจะหาความสมดุลใหม่ จนกว่าเราจะเห็นผลกระทบที่ชัดเจนที่สุด แต่ขณะเดียวกัน ก็ถือเป็นโอกาสของคนที่สามารถรับความเสี่ยงได้

เน้นกระจายความเสี่ยง 3 กลุ่มหลัก

ปีนี้เรายังเจอความผันผวนของเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ปีก่อนมาจากประเด็น Trade War เป็นหลัก ที่ทำให้ตัวเลขการผลิตจากโรงงานอุตสาหกรรมแย่ลง แต่ภาคการบริการยังพอไปได้ แต่ปีนี้เรื่องไวรัสโควิด-19 ทำให้ได้รับผลกระทบทั้งภาคการผลิตและบริการ และทำให้มองว่า ครึ่งปีแรกนี้ตัวเลขของเศรษฐกิจน่าจะลงไปลึกระดับหนึ่ง โดยเชื่อว่าตั้งแต่ไตรมาส 2 น่าจะเริ่มดีขึ้น เพราะน่าจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือหลายๆ อย่างออกมา แต่อย่างไรก็ตาม มองว่าทั้งปี 2563 ถือว่าเศรษฐกิจจะไม่ได้เติบโตสูงมาก ซึ่งถือว่าไทยได้เสียจังหวะของช่วงไฮซีซั่นไปแล้ว โดยเฉพาะเรื่องการท่องเที่ยว 

“นักลงทุนควรมียึดหลักกระจายความเสี่ยงในการลงทุนเป็นหลักเพื่อต่อสู้กับความผันผวนและปัจจัยที่ไม่แน่นอนต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีก่อน ประกอบกับทั่วโลกยังต้องเจอกับภาวะที่ดอกเบี้ยยังต่ำต่อเนื่อง โดยต้องมีพอร์ตที่ถือตราสารหนี้หรือ Fixed Income ด้วย เพราะยังถือว่าเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัยกว่าหุ้น ขณะที่ก็ต้องเลือกหุ้นที่มีความปลอดภัย หรือ Defensive มากขึ้น โดยเฉพาะกอง REIT หรือกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานที่ให้ผลตอบแทนรวมประมาณ 5 % และหุ้นที่มีการจ่ายอัตราเงินปันผลที่สูง”

…ทุกๆ ในวิกฤตก็ยังมีโอกาสเสมอ แต่สิ่งนักลงทุนต้องให้ความสำคัญสุดนั้่นคือ การกระจายความเสี่ยง โดยไม่พึ่งพิงสินทรัพย์การลงทุนเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง…