HomeOn RadarsBAM ร่วง 11.90% เพราะราคาเกินพื้นฐาน

BAM ร่วง 11.90% เพราะราคาเกินพื้นฐาน

ลำดับเหตุการณ์ BAM ช่วง 2 เดือนใน SET

ผ่านมา 2 เดือนพอดีกับ  บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ (BAM) ที่เปลี่ยนจากสถานะกึ่งรัฐวิสาหกิจมาเป็นบริษัทที่จดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) นับจากวันเข้าซื้อขายใน SET วันแรก 16 ธ.ค. 2562 ที่ราคาปิดเท่ากับราคาไอพีโอ 17.50 บาท โดยวันต่อมาราคาหุ้นก็หลุดแตะต่ำสุดที่ 17.20 บาท และปิดหลุดราคาจองที่ 17.30 บาท 

แต่พอเปิดศักราชปีหนูมาใหม่ ราคาหุ้น BAM กลับค่อยๆ ทะยานขึ้นและเป็นที่ได้รับความสนใจจากผู้ลงทุนต่อเนื่อง ซึ่งแม้กระทั่งวันที่ SET ร่วงแรง 45 จุด BAM ก็เรียกเป็นเป็นหุ้นขนาดใหญ่ตัวเดียวที่ราคาปิดบวกสวนตลาด จนราคาเมื่อวันศุกร์ที่ 14 ก.พ. ราคาหุ้นกลับไปแตะระดับสูงสุดถึง 36.25 บาท และโดนแรงขายทำกำไรออกมาจนปิดที่ 31.50 บาท ซึ่งถ้าใครมีหุ้นไอพีโอและขายทำกำไรออกไปที่ราคาสถิติจุดสูงสุด จะได้กำไรถึง 107 % เลยทีเดียว 

จนกระทั่งตั้งแต่เปิดตลาดภาคเช้าวันนี้  BAM ถูกเทกระจาดจากนักลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยวันนี้ราคาหุ้นปิดที่ระดับจุดต่ำสุดของวัน 27.25 บาท ลดลง 3.75 บาท หรือ (-11.90 %) 

NVDR แห่เข้ามาซื้อขายมากสูงสุดเมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2563

ขายทำกำไรเพราะราคาเริ่มเกินมูลค่า

“ณัฐชาต เมฆมาสิน” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ ให้สัมภาษณ์ว่า สาเหตุที่วันนี้ราคาหุ้น BAM ลงแรง เพราะราคาหุ้นเริ่มเกินมูลค่าพื้นฐาน (Valuation) สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้มาก ซึ่งทรีนิตี้ได้แนะนำ BAM มาตั้งแต่ปลายเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา โดยให้ราคามูลค่าที่เหมาะสม 28.50 บาท แต่เมื่อวันศุกร์ราคาหุ้นวิ่งไปถึง 36 บาท 

2 เหตุผลที่ราคา BAM ถูกไล่ซื้อและเทขาย

  • เป็นธีมหุ้นที่ได้รับความสนใจและนิยมในช่วงที่เศรษฐกิจมีการชะลอตัวชัดเจน ในกลุ่มหุ้นที่มีการบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและและทรัพย์สินที่รอการขาย อีกทั้งไม่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนนอก เช่น การระบาดของไวรัสโควิด-19 (โคโรน่า) เสมือนเป็นหุ้นหลุมหลบภัยของนักลงทุน ที่สำคัญเขาจะได้ต้นทุนในการเข้าซื้อสินทรัพย์ที่รอการขายได้ในราคาที่ถูก หากเศรษฐกิจกลับมาดีก็จะได้ผลที่ดีหลังจากนี้
  • Valuation ที่ผ่านมาถูก โดยราคาหุ้นตั้งแต่เข้าไอพีโอถือว่า อัตราส่วนราคาตลาดต่อมูลค่าตามบัญชี (P/BV) ถูกมากที่ 1 เท่า และมีอัตราส่วนกำไรสุทธิต่อส่วนผู้ถือหุ้น (ROE) อยู่ที่ 10-12 % ซึ่งตอนแรกยังไม่ค่อยได้รับความสนใจจากผู้ลงทุน จนเริ่มเห็นนักลงทุนสถาบันเริ่มเก็บเข้าพอร์ต และนักวิเคราะห์หลายค่ายเริ่มให้คำแนะนำให้เข้าสะสมลงทุน ก็ทำให้รายย่อยเริ่มทยอยเข้ามาเก็บของมากขึ้น

“การปรับลดอันดับเรตติ้งของฟิทซ์เรตติ้ง ถือเป็นเรื่องที่รับทราบอยู่แล้วเนื่องจากเป็นการเปลี่ยนสถานะจากรัฐวิสาหกิจ ที่หุ้น BAM ได้รับความสนใจมากเพราะนักลงทุนคิดว่าเป็นหุ้นหลุมหลบภัยที่ดีเมื่อเศรษฐกิจชะลอตัวอย่างนี้ พอคนแห่ซื้อมาก็เป็นการขายทำกำไรออกมาเป็นธรรมดาจากราคาหุ้นที่วิ่งแซงมูลค่าพื้นฐานไปมาก”

BigLot เข้ามาตั้งแต่ช่วงเดือน ม.ค. 2563

ปรับลดอันดับเครดิตไม่กระทบกำไรน้อย

เช่นเดียวกับที่ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) มองน้ำหนักเรื่องการจัดอันดันเรตติ้งมีผลต่อการที่หุ้นดิ่งแรงส่งผลกระทบอย่างมีข้อจำกัด ที่อาจทำให้ต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้น 0.25-0.50% อีกทั้งมีผลกระทบบกับกำไรไม่มีนัยสำคัญ หรือกระทบเพียงต่ำกว่า 5 % 

“ราคาที่ปรับลงมาเพราะราคาที่เพิ่มขึ้้นมาสูงกว่ามูลค่าพื้นฐานที่อยู่ประมาณ 28-30 บาท/หุ้น แต่หากมองในเชิงกลยุทธ์กรอบราคาอยู่ที่ 25-30 บาท/หุ้น และให้ผลตอบแทนจากเงินปันผลที่ 3-4 % ที่คาดการณ์จ่ายปันผลที่ 1 บาท”

เอาอย่างไรดีต่อจากนี้


บล.ทรีนิตี้ ให้กลยุทธ์การลงทุนว่า เชิงกลยุทธ์ระยะสั้นควรรอทยอยสะสมรอบใหม่เมื่อราคาหุ้นต่ำกว่าราคาพื้นฐานที่ 28.50 บาท ประมาณ 5-10 % ส่วนระยะยาวหากเริ่มเห็นราคาต้นทุนที่เข้าซื้อใกล้ราคาพื้นฐานก็ควรถือไปก่อน แล้วค่อยทยอยเก็บสะสมเพิ่มหากเริ่มเห็นราคาหุ้นยังต่ำกว่าพื้นฐานเพื่อรอขายทำกำไรในอนาคต เนื่องจากหุ้นกลุ่มบริหารสินทรัพย์ยังเป็นหุ้นกระแสหลักและน่าสนใจตลอดปีนี้ที่นักลงทุนยังไม่มั่นใจในเศรษฐกิจ

มาร์เก็ตแคปหายไปวันเดียว 12,000 ล้านบาท