HomeUncategorizedลองรวย | EP.3 เอาเงินไปฝากธนาคารดีไหมนะ?

ลองรวย | EP.3 เอาเงินไปฝากธนาคารดีไหมนะ?

นับตั้งแต่ Episode นี้เป็นต้นไป เราจะชวนคุณขยับเข้าใกล้โลกของการลงทุนมากขึ้น เจาะลึกเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์การออมและการลงทุนมากขึ้น เพราะเราต้องการข้อมูล เพื่อประกอบการตัดสินใจว่าจะฝากเงินเดือนเดือนแรกของตัวเองในผลิตภัณฑ์ทางการเงินแบบไหน เผื่อคุณผู้ฟังจะได้รับไอเดียไปพร้อมกันด้วย

ใน Episode นี้เราจะขอเริ่มจากผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เด็ก GEN Y แบบเราคุ้นเคยและผูกพันมาอย่างยาวนานเลย สิ่งนั้นคือ ‘สมุดบัญชีธนาคาร’ นั่นเอง เราเชื่อว่าหลายคนมีสมุดบัญชีธนาคารติดตัวอยู่แล้ว ซึ่งบางคนอาจจะไม่ได้มีติดตัวเล่มเดียว แต่มีมากกว่า 2 เล่มขึ้นไปด้วยซ้ำ แล้วแต่ความสะดวกในการตัดการเงินและการใช้งาน

รูปแบบสมุดบัญชีที่เด็กรุ่นใหม่แบบเราคุ้นเคยมากที่สุดน่าจะเป็นบัญชีออมทรัพย์ ที่เราใช้สำหรับกดบัตร ATM จ่าย QR code หรือช้อปปิ้งออนไลน์กันอยู่ แต่คุณเคยรู้หรือไม่ว่าบัญชีธนาคารมีหลายประเภท แต่ละบัญชีก็ให้ผลตอบแทนที่ต่างกัน 

‘ธนาคาร’ คืออะไร

ธนาคารที่เราคุ้นเคยกันก็คือสถานที่ที่เราเอาเงินไปฝากไว้ ถึงเวลาจะใช้เงินก็ถอนออกมา ธนาคารแบบนี้เราเรียกว่าธนาคารพาณิชย์ค่ะ ธนาคารพาณิชย์ หรือ Commercial Bank เป็นสถาบันทางการเงินหรือหน่วยงานที่เกี่ยวกับเงินของภาคเอกชนที่มีความสำคัญมาก ๆ เลย

ส่วนหน้าที่ของธนาคารพาณิชย์ที่เรารู้จักเป็นอย่างดีอยู่แล้วก็คือ

1.)รับฝากเงิน 

ธนาคารรับฝากเงินจากประชาชนทั่วไปแบบเรา หน่วยงาน บริษัทห้างร้าน ซึ่งเราสามารถฝากเงินได้หลายประเภท 

2.)จ่ายเงินเมื่อถูกทวงถาม 

ธนาคารต้องให้เราถอนเงินที่เอาไปฝากไว้ โดยปกติแล้วธนาคารต้องมีเงินสดติดธนาคารเอาไว้เผื่อเราไปถอนเงิน เงินตรงนั้นเรียกว่า ‘เงินสดสำรองตามกฎหมาย’ ตรงนี้ธนาคารที่เราไปถอนเงินก็ไม่ได้กำหนดเอง แต่มีหน่วยงานที่เรียกว่าธนาคารแห่งประเทศไทย ที่คนชอบเรียกติดปากว่า ‘แบงก์ชาติ’ เป็นคนกำหนด 

3.)การปล่อยสินเชื่อหรือการให้กู้ยืมเงิน 

ธนาคารจะเอาเงินที่เราไปฝากเอาไว้มาต่อยอดหากำไรด้วยการไปปล่อยให้คนอื่นกู้ค่ะเป็นหนึ่งในวิธีการหารายได้ของธนาคารนั่นเอง เมื่อธนาคารเอาเงินของเราไปหารายได้แล้ว เขาก็ต้องเอาค่าตอบแทนตรงนั้นมาแบ่งเราด้วยใช่ไหมคะ  ค่าตอบแทนตรงนั้นก็คือดอกเบี้ยนั่นเอง

จริง ๆ แล้วธนาคารยังทำอีกหลายอย่างเลย ตั้งแต่รับแลกเงินตราต่างประเทศ ให้บริการเช่าตู้เซฟ เป็นต้น แต่เราจะไม่ขอเจาะลึกในครั้งนี้

ประเภทการออมเงินในธนาคาร

1.) บัญชีออมทรัพย์

บัญชีออมทรัพย์ก็คือบัญชีที่เรามีสมุดเงินฝากให้เราไปฝาก-ถอนเงินได้ ข้อดีของออมทรัพย์ก็สภาพคล่องสูง สภาพคล่องก็คือความสามารถในการเปลี่ยนสิ่งของหรือสินทรัพย์ไปเป็นเงินสด และไม่กำหนดขั้นต่ำในการฝากเงิน

ส่วนข้อเสียก็คือดอกเบี้ยน้อย อยู่ที่ 0% – 2% ต่อปี (ขึ้นอยู่กับธนาคาร) หรือช่วงนี้จะมีบัญชีออมทรัพย์รูปแบบใหม่ที่ให้ดอกเบี้ยอยู่ที่ 1.6% หรือ 2% แต่ส่วนใหญ่บัญชีพวกนี้เค้าก็จะกำหนดขั้นต่ำว่าเราต้องฝากเงินเกิน 3 หมื่นบาทถึงจะได้ดอกเบี้ยเท่านี้ หรือถอนไม่เกินกี่ครั้งต่อเดือน 

อีกกรณีหนึ่งก็คือธนาคารที่ทำธุรกรรมผ่านระบบออนไลน์ ส่งผลให้ธนาคารประหยัดต้นทุน จึงมีกำไรมาปันผลเป็นดอกเบี้ยให้เรามากขึ้น

2.) บัญชีฝากประจำ 

บัญชีฝากประจำก็คือบัญชีที่มีการกำหนดระยะเวลาฝากถอน และจำนวนเงินฝากขั้นต่ำแน่นอน เช่น ฝากเงินจำนวนเท่าเดิมทุกเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน 6 เดือน 12 เดือน บางที่อาจจะสูงถึง 60 เดือนหรือ 5 ปีเลยทีเดียว ดอกเบี้ยอยู่ที่ประมาณ 1% – ประมาณ 3% เลย ขึ้นอยู่กับประเภทสมุดบัญชีและเงื่อนไขด้วย แต่ข้อเสียคือถ้าเราถอนออกมาก่อนก็จะไม่ได้ดอกเบี้ยสูงเท่าที่เขาบอกเอาไว้ อาจจะลงลงมาเหลือเท่าออมทรัพย์

บัญชีประเภทนี้ อาจจะเหมาะกับคนที่วางงบออมเงินเอาไว้ในจำนวนเท่ากันทุกเดือน เราเริ่มเห็นเพื่อนวัยเดียวกันหลายคนฝากประจำกันแล้ว เมื่อได้เงินเดือนจากคุณพ่อคุณแม่มาก็หักเข้าบัญชีก่อนใช้ไปเลย ก็เป็นการออมเงินที่ดีทางหนึ่ง เสมือนบังคับให้เราฝากเงินทุกเดือนด้วย

3.) สลากออมทรัพย์

สลากออมทรัพย์เป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เหมาะกับคนชอบเสี่ยงดวง แต่อยากออมเงินไปพร้อมกัน ลักษณะคล้ายกับสลากกินแบ่งรัฐบาลหรือล็อตเตอรี่ตรงที่ เมื่อเราซื้อสลากแล้ว เราจะได้เลขเหมือนซื้อล็อตเตอรี่ให้รอลุ้นในทุกเดือน 

ส่วนข้อแตกต่างของทั้งสองประเภทอยู่ที่เมื่อซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลแล้ว เงินต้นของเราจะเข้าสู่สำนักงานกินแบ่งรัฐบาล แต่เมื่อเราซื้อสลากออมทรัพย์ เงินที่เราซื้อสลากจะกลายเป็นเงินออมไปด้วย

บัญชีเงินฝากแบบไหนดีที่สุด

วิธีการเลือกบัญชีเงินฝากให้เหมาะสมกับเรามากที่สุดนั้น มี 3 ปัจจัยที่เราต้องพิจารณา เพื่อให้เราได้ประโยชน์จากการออมเงินมากที่สุด

1.) อัตราดอกเบี้ย

หลายธนาคารให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่แตกต่างกัน บางธนาคารก็มีบัญชีออมทรัพย์หลายแบบที่ให้ดอกเบี้ยไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่ธนาคารกำหนด

2.) ค่าธรรมเนียม

ธนาคารไม่ได้บริการทุกอย่างให้เราฟรี เพราะฉะนั้น คุณจึงต้องศึกษาเงื่อนไขก่อนการเปิดบัญชีด้วย เช่น ถ้ายอดเงินเหลือในบัญชีน้อยกว่า 2 พันบาท คุณต้องจ่ายค่ารักษาบัญชี หรือการจ่ายเงินเพื่อให้บัญชีคงอยู่ ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 50 บาท, ค่าบัตรเดบิต บัตรเอทีเอ็มก็ต้องเสียค่าธรรมเนียมรายปี, ถอนข้ามจังหวัดและประเทศ บางที่ไม่เสียค่าธรรมเนียม แถมยังถอนข้ามประเทศฟรีอีกด้วย 

3.) ความสะดวก

ความสะดวกในที่นี้หมายถึงสะดวกกายและสบายใจ ลองพิจารณาเรื่องจำนวนสาขา จำนวนตู้บริการอัตโนมัติ รวมไปถึงการเดินทางเพื่อไปทำธุรกรรมก่อนก็ดีเหมือกัน

หลังจากฟัง Episode นี้จบแล้ว ลองกลับไปหยิบสมุดบัญชีของเราออกมาดูว่าบัญชีของเราเป็นอย่างไร ให้ผลตอบแทนเท่าไหร่ มีเงื่อนไขยังไงบ้างดีไหมคะ เพื่อจะได้ทบทวนว่าเรายังอยากจะใช้สมุดบัญชีเล่มเดิมของเราอยู่หรือเปล่า ลองทบทวนดูนะคะ

ติดตามฟังรายการ ‘ลองรวย’ ได้ทาง

Spotify https://spoti.fi/2RMW6x7
Youtube https://youtu.be/lKyMcJIYzJM
Apple Podcast https://apple.co/35lSO7N
Google Podcast http://bit.ly/2RTgBrX
Castbox http://bit.ly/34jLg4b
Podbean http://bit.ly/2Ek4MTu
Pocketcast http://bit.ly/2YQpunw
Overcast http://bit.ly/2MhSBLw
Castro http://bit.ly/36ZgQWu