HomeUncategorizedลองรวย | EP.1 - กระดาษ 1 แผ่นจะเปลี่ยนชีวิตคุณไปตลอดกาล

ลองรวย | EP.1 – กระดาษ 1 แผ่นจะเปลี่ยนชีวิตคุณไปตลอดกาล

เย้! วันนี้เราก็ได้เริ่มต้น episode แรกของเราแล้วนะคะ 

สำหรับใน Episode แรกนี้ เราจะยังไม่เจาะลึกลงไปถึงเรื่องของการลงทุน แต่อยากจะชวนทุกคนมาตั้งคำถามกับตัวเองว่าเราลงทุนไปทำไม รวมไปถึงการทำความรู้จักตัวเองและสร้างเป้าหมายทางการเงินก่อน

เราเชื่อว่าสองเรื่องนี้คือรากฐานสำคัญของการจัดการเงินในกระเป๋าของเรามากที่สุด

การลงทุนเป็นเรื่องของทุกคน

หลายคนอาจจะเคยได้ยินมาว่าลงทุนแล้วรวยเป็นพันล้าน บางคนก็ขาดทุนจนหมดตัว สรุปการลงทุนเป็นเรื่องที่ดีหรือไม่?

ส่วนตัวเรามองว่าการออมและการลงทุนมีความคล้ายคลึงกันมาก แต่ก็มีบางจุดที่แตกต่างกันอยู่

การออม หมายถึง การรวบรวมเงินมาเก็บเอาไว้ตามกระปุกออมสิน บัญชีธนาคาร หรือบางคนก็เก็บเงินเอาไว้ในบ้าน เพื่อสร้างสภาพคล่องหรือทำให้เราสามารถใช้จ่ายเงินก้อนนั้นได้ตามที่เราต้องการ 

ส่วนการลงทุนคือการนำเงินของเราไปร่วมลงทุนในธุรกิจหรือเอาไปใช้ให้เกิดประโยชน์จนเกิดผลงอกเงยตามมา

ยกตัวอย่าง เช่น คุณเคยสงสัยหรือไม่ว่าทำไมเรานำเงินไปฝากธนาคารแล้วได้ดอกเบี้ยเงินฝาก?

เวลาที่นำเงินไปฝากธนาคาร ธนาคารจะนำเงินที่เราฝากไว้ไปปล่อยกู้ให้กับผู้ที่ต้องการกู้สินเชื่อต่าง ๆ เมื่อธนาคารปล่อยกู้แล้วได้กำไรมาก็นำกำไรนั้นมาแบ่งเรา ในรูปแบบของดอกเบี้ยเงินฝาก 

ส่วนการลงทุนในหุ้นคือการร่วมเป็นเจ้าของธุรกิจกับนักลงทุน โดยที่เราไม่ต้องเข้าไปนั่งบริหารเอง เขาจะนำเงินที่เราซื้อหุ้นไปต่อยอดทำธุรกิจ พอได้กำไรมา เราก็จะได้ผลตอบแทนเช่นกัน ถ้าเขาทำกำไรได้มาก ผลตอบแทนที่เราได้ก็จะมากตามไปด้วย

“หลายคนจึงบอกว่าลงทุนสิ เพราะผลตอบแทนดีกว่าฝากธนาคารอีก” 

การลงทุนมีหลายแบบ ตั้งแต่ฝากธนาคาร พันธบัตร กองทุนรวม หุ้น และอีกมากมาย แต่ก่อนที่เราจะลงทุนอะไรก็ตาม สิ่งแรกที่สำคัญมากที่สุดคือการรู้จักตัวเอง

ถ้าเรารู้จักตัวเอง เราก็จะสามารถกำหนดเป้าหมายที่เข้ากับตัวเอง เหมาะสมกับตัวเองได้ รู้ว่าศักยภาพตัวเองจะออมหรือลงทุนได้มากแค่ไหน แล้วเวลาที่เราลงทุน ก็จะได้รู้ตัวด้วยว่าเราลงทุนไปเพื่ออะไร

ชวนทำ workshop ทางการเงิน

ก่อนจะเริ่มทำ workshop กัน ขอให้ผู้ฟังทุกคนเตรียมอุปกรณ์สำหรับจดบันทึก ไม่ว่าจะเป็นปากกา กระดาษ สมุด หรืออุปกรณ์อะไรก็ได้ที่สามารถจดบันทึกได้มาให้พร้อม แล้วเริ่มต้นไปด้วยกันเลย

ขั้นตอนที่ 1 

ขั้นตอนแรกนี้ มาจากหนังสือ ‘Money 101’ ของคุณหนุ่ม Money Coach เขาบอกว่าก่อนที่เราจะสร้างเป้าหมายทางการเงิน เราควรตั้งเป้าหมายในชีวิตของเราก่อน จากนั้นค่อยมาสำรวจว่าเป้าหมายชีวิตของเราต้องการเงินสนับสนุนเป้าหมายนั้นมากแค่ไหน เพราะฉะนั้นเรามาเริ่มตั้งเป้าหมายในชีวิตไปพร้อมกัน

เมื่อเสร็จแล้ว ลองตั้งคำถามสั้นๆกับตัวเองดูว่าเป้าหมายของเราต้องใช้เงินไหม ใช้เงินเท่าไหร่​ ลองเขียนออกมา แล้วก็รวมเงินดูว่าต้องใช้เงินทั้งหมดเท่าไหร่

จากนั้นขีดเส้นใต้ปิดส่วนนี้เอาไว้

ขั้นตอนที่ 2

เรามาแบ่ง Section ใหม่ สำหรับการทำความรู้จักตัวเองด้วยการทำงบการเงินกันต่อ ด้วยการเขียนคำว่า ‘งบการเงินส่วนบุคคล’

เราจะเริ่มต้นเขียนรายได้ในแต่ละเดือนเลยว่าเรามีรายได้จากไหนบ้าง ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน เงินจาก freelance เงินจากพ่อแม่ ได้มาเท่าไหร่ เขียนลงข้าง ๆ เลยค่ะ เสร็จแล้วรวมรายได้ทั้งหมดไว้ข้าง ๆ รายการรายได้ 

จากนั้นตามด้วยรายจ่ายว่าเรามีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นค่าผ่อนรถค่า ผ่อนบ้าน ค่ากิน ค่าเช่าที่อยู่ ค่าซ่อมรถ อย่าลืมเขียนว่าเราจ่ายเงินแต่กับละรายการไปเท่าไหร่บ้าง เสร็จแล้วรวมรายการรายจ่ายทั้งหมด

นำ “รายได้รวม – รายจ่ายรวม = เงินคงเหลือ” ถ้าใครมีเงินเหลือก็ขอแสดงความยินดีด้วยนะคะ

ขั้นตอนที่ 3

หลังจากนั้น ลองมองไปตรงรายจ่ายรวม ตอนนี้คุณรู้แล้วว่าคุณมีค่าใช้จ่ายต่อเดือนประมาณเท่าไหร่ เราจะใช้ตรงนี้คำนวณสิ่งที่เรียกว่า ‘กองทุนเงินออมสำรองฉุกเฉิน’ ค่ะ

กองทุนเงินออมสำรองฉุกเฉินคืออะไร? กองทุนเงินสำรองฉุกเฉินก็คือเงินที่เราจะแยกออกมาออมเอาไว้ก่อนจะไปลงทุนค่ะ เพราะเวลาที่เราเอาเงินไปลงทุน แล้วอยู่ดี ๆ มีวันหนึ่งที่เราต้องใช้เงินฉุกเฉินขึ้นมาแบบที่เราไม่คาดคิด เช่น เกิดอุบัติเหตุ ตกงาน รถเสีย แล้วต้องใช้เงินก้อนใหญ่ เราจะได้มีเงินที่สามารถควักออกมาใช้ได้ทันท่วงที ส่วนใหญ่ก็จะคำนวนจากค่าใช้จ่ายทั้งหมดในแต่ละเดือนของเราคูณ 6 เดือน หรือ 12 เดือน

พอเราได้เงินก้อนนี้ครบแล้ว เราจึงจะนำเงินที่ได้หรือเก็บออมหลังจากนี้ไปลงทุนกัน

ขั้นตอนที่ 4 

ตรวจสอบความพร้อมในการลงทุนของตัวเองด้วยชุดคำถามต่อไปนี้

  • เราอายุเท่าไหร่
  • เรามีประสบการณ์ในการลงทุนมาก่อนหรือไม่
  • เรามีเงินทุนมากหรือไม่
  • เราต้องการผลตอบแทนจากการลงทุนเท่าไหร่
  • เรามีเวลาติดตามข่าวสารหรือไม่
  • เราสามารถรับปริมาณการขาดทุนได้มากแค่ไหน
  • เรารับความเสี่ยงได้มากขนาดไหน

ขั้นตอนที่ 5

เราควรรู้ว่าตัวเราเองสามารถรับความเสี่ยงต่อการขาดทุนได้มากขนาดไหน โดยส่วนใหญ่จะแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ความเสี่ยงต่ำ-ปานกลาง-สูง

ระดับแรกคือรับความเสี่ยงได้ต่ำ หมายถึงคนที่รับความเสี่ยงต่อการผันผวนหรือความไม่แน่นอนได้ต่ำ ไม่กล้าขาดทุนเยอะ หรืออยากให้เงินต้นอยู่ครบให้มากที่สุด

ระดับที่สองคือความเสี่ยงปานกลาง คือ ถ้าขาดทุนก็จะรับได้มากขึ้น เพราะอยากให้เงินส่วนหนึ่งที่ลงทุนไปได้ผลตอบแทนมากขึ้น แต่ก็ยังรับความผันผวนหรือการขาดทุนไม่ได้มาก

ระดับสุดท้ายคือรับความเสี่ยงได้สูง กลุ่มนี้จะไม่กังวลเรื่องความผันผวนหรือความไม่แน่นอนเลย  เพราะอยากได้ผลกำไรมาก เขาก็จะยอมรับกับการขาดทุนได้มากด้วย

Investment Canvas

เราลองออกแบบ ‘Investment Canvas’ เอาไว้สำหรับวางแผนการเงินส่วนตัวของเราเอง ถ้าใครขี้เกียจจดบนกระดาษเองหรือต้องการตัวช่วยก็สามารถนำไปใช้งานได้ตามสะดวกเลยนะคะ

ลองมองกระดาษตัวเองดูนะคะ ตอนนี้ทุกคนมีลายแทงสมบัติเป็นของตัวเองแล้ว หวังว่ากระดาษแผ่นนี้จะช่วยให้คุณรู้จักตัวเองและรู้ว่าตัวเองอยากลงทุนแบบไหนมากขึ้นนะคะ 

ติดตามฟังรายการ ‘ลองรวย’ ได้ทาง

Spotify https://spoti.fi/2RMW6x7
Youtube https://youtu.be/W8q_6K-nLQ8
Apple Podcast https://apple.co/35lSO7N
Google Podcast http://bit.ly/2RTgBrX
Castbox http://bit.ly/34jLg4b
Podbean http://bit.ly/2Ek4MTu
Pocketcast http://bit.ly/2YQpunw
Overcast http://bit.ly/2MhSBLw
Castro http://bit.ly/36ZgQWu