HomeOn Radarsสธ.ยัน พบผู้ติดเชื้อไวรัสอู่ฮั่นรายแรกของไทย

สธ.ยัน พบผู้ติดเชื้อไวรัสอู่ฮั่นรายแรกของไทย

ปลัดสธ.ยืนยันพบไวรัสโคโรนา ติดต่อคนสู่คนรายแรกของไทย

ล่าสุด เวลา 16.00 น. นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าไทยพบผู้ติดเชื้อไวรัสอู่ฮั่นอีก 5 ราย โดยเป็นนักท่องเที่ยวจีน 4 ราย อีก 1 รายเป็นคนขับแท็กซี่ชาวไทย ซึ่งไม่เคยมีประวัติเดินทางไปประเทศจีนมาก่อน จึงสรุปว่าเป็นการพบผู้ติดเชื้อครั้งแรกของไทย ทำให้มีผู้ติดเชื้อรวมเป็น 19 ราย

ขณะที่ คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติของจีนแถลงว่ายอดผู้ติดเชื้อจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เพิ่มเป็น 9,692 ราย ผู้เสียชีวิต 213 ราย และเฝ้าระวังการติดเชื้ออีก 102,000 ราย

ส่วนนอกประเทศจีนมีผู้ติดเชื้อในญี่ปุ่น 14 ราย, สิงคโปร์ 13 ราย, ฮ่องกง 12 ราย, ไต้หวันและออสเตรเลีย 9 ราย, มาเก๊า มาเลเซีย และเกาหลีใต้ 7 ราย, สหรัฐและฝรั่งเศส 6 ราย, เวียดนาม 5 ราย, เยอรมนีและ UAE 4 ราย, แคนาดา 3 ราย อิตาลี 2 ราย รวมถึงศรีลังกา กัมพูชา เนปาล ฟินแลนด์ อินเดียและฟิลิปปินส์ประเทศละ 1 ราย รวมทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อแล้ว 9,825 ราย

ครม.เศรษฐกิจ ไฟเขียวมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว ลดผลกระทบไวรัสอู่ฮั่น

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เห็นชอบมาตรการพยุงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ทั้งมาตรการระยะเร่งด่วย เช่น การจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำและยืดระยะเวลาชำระหนี้เงินกู้หรือดอกเบี้ย 6 เดือนสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว, การปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเครื่องบิน, เป็นต้น

สำหรับมาตรการระยะยาวเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน เช่น การสนับสนุน Charter Flight สำหรับนักท่องเที่ยวคุณภาพที่มีการใช้จ่ายสูง และการขยายเวลาเศรษฐกิจภาคกลางคืน โดยนำร่องเฉพาะพื้นที่ท่องเที่ยว (Zoning) คาดว่าจะเริ่มตั้งแต่เดือน พ.ค.เป็นต้นไป

นอกจากนี้ ผู้ว่าททท.กล่าวอีกว่าดารแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ส่งผลให้นักท่องเที่ยวจีนลดลง 80% คิดเป็นมูลค่าความเสียหายราว 95,000 ล้านบาท ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งปี รัฐบาลจะพยายามทำให้ได้ตามเป้าหมายที่เคยตั้งไว้ 41.8 ล้านราย

ธปท.ชี้ไวรัสโคโรนา อาจฉุด GDP ปีนี้ต่ำกว่า 2.8%

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปี 2563 ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ซึ่งมีผลกระทบต่อการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายของประชาชน รวมถึงความล่าช้าของ พ.ร.บ.งบประมาณปี 63 ที่กระทบต่อการใช้จ่ายของภาครัฐและเอกชน ถือเป็นปัจจัยลบ ส่งผลให้ GDP ในไตรมาสแรกของปี 2563 ขยายตัวต่ำกว่า 2.5% และภาพรวมทั้งปีต่ำกว่า 2.8% แต่ธปท.เชื่อว่าเศรษฐกิจจะปรับตัวดีขึ้นเมื่อสถานการณ์คลี่คลายลง

WHO ยกระดับ ‘ไวรัสโคโรนา’ เป็นภาวะฉุกเฉินโลก

เมื่อวานนี้ (30 ม.ค.) องค์การอนามัยโลก (WHO) ลงมติให้ประกาศว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เป็น “ภาวะฉุกเฉินระดับโลก” โดย นพ.ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ WHO ระบุว่าการตัดสินใจครั้งนี้ไม่ได้เกิดจากการสูญเสียความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลจีน แต่มาจากความวิตกกังวลที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นทั่วโลก ซึ่ง WHO เกรงว่าประเทศที่ระบบสาธารณสุขไม่ดีพอจะมีความเสี่ยงมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม WHO ไม่สนับสนุนให้ทั่วโลกใช้มาตรการจำกัดการค้าและการท่องเที่ยวกับจีน เนื่องจากมาตรการดังกล่าวออกมา เพื่อเปิดทางให้นานาชาติหาทางควบคุมการระบาดของไวรัสร่วมกันมากขึ้น

ล่าสุด สายการบินนานาชาติเริ่มยุติหรือลดจำนวนเที่ยวบินไปจีนมากขึ้น รวมถึงรัฐบาลสหรัฐฯประกาศเตือนประชาชนไม่ให้เดินทางไปประเทศจีน และอิตาลีเตรียมยกเลิกเที่ยวบินไปจีนทั้งหมด หลังพบผู้ติดเชื้อชาวจีนในประเทศ 2 ราย

ฝ่ายค้านยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ 6 รัฐมนตรี

นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร พร้อมหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านอีก 6 พรรค ยื่นญัตติต่อนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ขอเปิดการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี รวม 6 ราย ดังนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ,พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ,นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ,พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ,นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ และ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯ

ทั้งนี้ นายชวนระบุว่าเมื่อมีการยื่นญัตติเข้ามาแล้ว เท่ากับว่าขณะนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่สามารถยุบสภาได้ตามรัฐธรรมนูญ