หนทางที่จะให้ปี 2563เป็นปีหนูทอง ไม่ใช่เรื่องง่ายอีกต่อไป ดูจากสภาพแวดล้อมที่ผ่านมาเพียงแค่เดือนเดียว ดูเหมือนมีแต่ปัจจัยลบเข้ามาบั่นทอนจิตใจนักลงทุนอย่างต่อเนื่อง ทั้งปัจจัยต่างประเทศและในประเทศเอง ไม่ว่าจะเป็น ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างสหรัฐ-อิหร่าน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2563 ที่ว่าช้าแล้วก็ยิ่งช้าไปใหญ่ และล่าสุดกับการแพร่ระบาดไวรัสโคโรน่า
แบงก์ใหญ่อย่าง KBANK จะไม่ทนเห็นหุ้นร่วง
ต้องถือว่าสร้างเซอร์ไพร์สให้กับตลาดไม่น้อยเมื่อธนาคารกสิกรไทย (KBANK) แจ้งตลาดหลักทรัพย์ว่าจาก นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการ KBANK ว่า คณะกรรมการธนาคารมีมติอนุมัติให้ธนาคารดำเนินโครงการซื้อหุ้นคืน เพื่อบริหารสภาพคล่องทางการเงินของธนาคารให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับธนาคารและผู้ถือหุ้น โดยจะซื้อหุ้นของธนาคารคืนในกระดานหลักของตลาดหลักทรัพย์ฯ สูงสุดไม่เกิน 23.93 ล้านหุ้น หรือไม่เกิน 1% ของหุ้นที่จำหน่ายแล้วทั้งหมด ในวงเงินไม่เกิน 4,600 ล้านบาท
ที่สำคัญเมื่อวานที่ผ่านมา KBANK เพิ่งประกาศแผนงานการขยายงานและการลงทุนปี 2563 ออกมา ซึ่งชู 8 กลยุทธ์หลัก และพร้อมลุยการปักธงสู่ดินแดนมังกรในการรวมพลผนึกกำลังสร้างทีมฟินเทคกว่า 300 คน ด้วยงบลงทุนกว่า 17,000 ล้านบาท
หลังประกาศหุ้นพุ่งทันทีปิดบวก 5.99 %
ถือว่าได้ผลทันเพราะ KBANK แจ้งตลท. ก่อนทีตลาดหุ้นภาคบ่ายจะเริ่มซื้อขาย และปรากฎว่านักลงทุนตอบรับการนโยบายการซื้อหุ้นคืนของ KBANK ไม่น้อย โดยจะเห็นได้ว่าราคาถั่วเฉลี่ยผู้ลงทุนส่วนใหญ่อยู่ที่ 140 บาท และราคาหุ้นวันนี้ปิดที่ 141.50 บาท เพิ่มขึ้น 8 บาท หรือ 5.99 % โดยราคาหุ้นจุดต่ำสุดวันนี้อยู่ที่ 131 บาท
เหตุผลที่ซื้อคืน
ปัจจุบันราคาหุ้นส่วนใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมถึงหุ้นของกลุ่มธนาคารพาณิชย์อ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ KBANK มีเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์เสี่ยง (CAR) สูงถึง 19.62% ซึ่งมีความแข็งแกร่งเพียงพอที่จะสามารถรองรับการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์และธุรกิจของธนาคาร มาตรฐาน BASEL 4 และปัจจัยที่อาจจะเป็นผลกระทบในอนาคต รวมทั้งธนาคารยังคงมีสภาพคล่องทางการเงินอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะมีกำไรสะสมที่ยังไม่ได้จัดสรรของธนาคารสูงถึง 299,217 ล้านบาท
นอกจากนั้น โครงการซื้อหุ้นคืนจะส่งผลให้ธนาคารมีสินทรัพย์สภาพคล่อง และมูลค่าทางบัญชีของส่วนของผู้ถือหุ้นลดลง และสามารถบริหารสภาพคล่องส่วนเกินและเงินกองทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากธนาคารสามารถซื้อหุ้นคืนได้ครบตามวงเงินที่ตั้งไว้ จะทำให้ธนาคารมีสินทรัพย์สภาพคล่องและมูลค่าทางบัญชีของส่วนของผู้ถือหุ้นลดลงเป็นจำนวนเท่ากับวงเงินซื้อหุ้นคืนดังกล่าว ซึ่งจะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้น (ROE) และอัตรากำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) สูงขึ้น
ระยะหลัง KBANK เป็นแกนนำหุ้นแบงก์ร่วง
- 28 ส.ค. 2562 ถือเป็นช่วงแรกที่ราคาหุ้น KBANK นำหุ้นแบงก์อื่นร่วงหลังจากจากผลประกอบการแบงก์งวดไตรมาส 2 หรือครึ่งปีแรก 2562 ออกมา เพราะกังวลว่าสินเชื่อของแบงก์ทั้งระบบจะไม่ดี และราคาหุ้น KBANK ต่ำสุดในรอบ 1 ปี
- 24 ต.ค. 2562 นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการ ส่งสัญญาณเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ยังต้องเผชิญความท้าทายจากปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ยังมีอยู่มาก และเป้าสินเชื่อโตและ NIM ที่เติบโตไม่มาก ซึ่งกดดันทำให้ราคาหุ้น KBANK ต่ำสุดในรอบ 7 ปีเลย วันเดียวราคาหุ้นดิ่งลงไปกว่า 7 %
- 6 ม.ค. 2563 หุ้น KBANK ดิ่งลงเกือบ 6 % หลังจากมีความกังวลที่แบงก์ชาติกำหนดให้ NVDR ถือครองหุ้น KBANK ได้ไม่เกินเป็น 25 % จากเดิมไม่เกิน 35 % ซึ่งเพิ่งมีผลเมื่อ 24 ม.ค ที่ผ่านมา แต่ปัจจุบันมี NVDR ถือหุ้น KBANK เพียง 21.36 %
ปีใหม่มาเดือนเดียว บจ.จ่อซื้อหุ้นคืน 6,600 ล้านบาท
- บริษัท ศุภาลัย (SPALI) เมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2563 ประกาศซื้อหุ้นคืน 120 ล้านหุ้น จำนวนเงินซื้อคืน 2,000 ล้านบาท ช่วงเวลา ช่วงเวลาซื้อหุ้นคืน 12 ก.พ.-11 ส.ค. 2563
- KBANK ประกาศซื้อหุ้นคึน 23.93 ล้านหุ้น จำนวน 4,600 ล้านบาท การซื้อหุ้นคืน 10 วันทำการ ระหว่างวันที่ 14-27 ก.พ. 2563 ราคาเสนอซื้อจะไม่เกินราคาปิดของหุ้นเฉลี่ย 5 วันทำการซื้อขายก่อนวันซื้อหุ้นคืน บวกด้วยจำนวน 15% ของราคาปิดเฉลี่ย โดยเงินที่ใช้ซื้อหุ้นคืนจะเป็นเงินสดจากสภาพคล่องภายในของธนาคาร
You must be logged in to post a comment.